หมดยุค 'ซูเปอร์แมน'
ปัจจุบันหมดยุคของการเป็น "ซูเปอร์แมน" ที่เก่งกาจเพียงผู้เดียวในองค์กร แต่เป็นการเปิดโอกาสให้คนเก่งได้มีเวทีได้โชว์ความสามารถ และสร้างความสำเร็จให้ตัวเขาเอง ซึ่งจะส่งผลสำเร็จให้องค์กรได้ต่อไปในอนาคต
ความใส่ใจและรับผิดชอบต่องานที่ทำถือเป็นสิ่งดี ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงานในที่ทำงานหรืองานบ้านที่ต้องรับผิดชอบครอบครัวก็ตาม แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนพื้นฐานของ "ความพอดี” ที่ไม่ตึงเกินไปจนดึงงานทั้งหมดมาไว้กับตัวเองจนไม่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม
หลายครั้งเราจึงได้ยินคนรอบข้างพูดถึงภาระรับผิดชอบของตัวเองว่า บริษัทคงอยู่ไม่ได้หากขาดตัวเขาไป รวมไปถึงระดับแผนกหรือฝ่ายต่างๆ ก็มักจะได้ยินว่าแผนกนี้จะไม่มีวันสำเร็จเลยถ้าไม่มีเขาทำงานอยู่ เพราะเป็นตัวหลักที่ทำงานสำคัญๆ ให้มาโดยตลอด เช่นเดียวกับการดูแลครอบครัวที่จะพบเสมอว่ามีเสาหลักคนหนึ่งที่แบกรับภาระแทนคนทั้งบ้าน
ฟังดูเป็นคนสำคัญที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับบริษัทหรือครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง เปรียบเสมือนซูเปอร์แมนที่เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ทุกอย่าง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นการกล่าวอ้างเกินจริงหรือไม่แต่หากเป็นเรื่องจริงก็ถือเป็นเรื่องน่ากังวลไม่แพ้กันที่ต้องฝากอนาคตไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่งเพียงลำพัง
เพราะความสำเร็จขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอสเอ็มอี องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มูลนิธิต่างๆ ไปจนถึงการบริหารประเทศล้วนต้องอาศัยความแข็งแกร่งของทีมงานที่ร่วมกันผลักดันให้งานของตัวเองสำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำเพียงคนเดียวโดดๆ
หากถามผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ใช่ผลงานของเขาเพียงคนเดียว แต่เขาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทีมงานทั้งหมด หรือเขาอาจตอบว่าทำหน้าที่เพียงแค่ชี้แนะทิศทางที่ถูกต้องให้เท่านั้นผลงานจึงเป็นของทีมงานทั้งหมด
การผูกขาดความเป็นซูเปอร์แมนในองค์กรนั้นมักจะทำให้ทีมงานอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนรอบข้างมักจะไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง ไม่พัฒนาตัวเอง รวมถึงไม่แก้ปัญหาใดๆ ด้วยตัวเองเพราะเชื่อมั่นว่าเดี๋ยวก็จะมีคนมาจัดการปัญหาต่างๆ ให้เอง
สำหรับองค์กรขนาดเล็กที่เพิ่งเริ่มต้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะพึ่งพาซูเปอร์แมนในการจัดการปัญหาต่างๆ เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกำลังคนและงบประมาณ และในช่วงก่อตั้งบริษัทเราก็จำเป็นต้องอาศัยความทุ่มเทเกินร้อยของผู้นำ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งที่องค์กรกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดเราจะใช้รูปแบบการบริหารแบบเดิมต่อไปไม่ได้อีกแล้ว
ผู้นำจะลงมาเล่นทุกบทบาทด้วยตนเอง เฉกเช่นเดียวกับทีมฟุตบอลที่มีนักเตะมากความสามารถเล่นได้ทุกตำแหน่ง ทั้งกองหน้า กองกลาง กองหลัง ซึ่งอาจคว้าแชมป์ในระดับหมู่บ้านได้ แต่อาจจะไม่สามารถก้าวสู่ความเป็นแชมป์ในระดับประเทศได้ เพราะการแข่งขันในระดับนั้นจำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทั้งทีม
นักเตะเก่งๆ จึงอาจต้องผันตัวมาเป็นโค้ชเพื่อมองภาพรวมของทั้งทีมและเลือกใช้คนที่เหมาะกับการแข่งขันในแต่ละนัด รวมทั้งสร้างความพร้อมให้คนทั้งทีม ซึ่งหมายความว่าเราใช้กำลังของทั้ง 11 คนเพื่อชัยชนะร่วมกันไม่ใช่เพียงผลงานของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เปิดโอกาสให้ลูกทีมทุกคนเป็นคนทำประตูได้เท่าๆ กัน
แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องพร้อมรับความผิดพลาดเมื่อสถานการณ์ไม่เป็นใจ เพราะเมื่อมีโอกาสสำเร็จ ก็มีโอกาสล้มเหลวได้เช่นเดียวกัน การเปิดรับความล้มเหลวถือเป็นการให้กำลังใจเพื่อนร่วมทีม และทำให้เขากล้าทำสิ่งใหม่แม้จะรู้ว่ามีความเสี่ยง
แม้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นก็มั่นใจว่า เขาจะไม่ทำผิดซ้ำสอง เพราะได้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดลออ และความผิดพลาดนั้นจะเป็นต้นทุนสำคัญให้เขาประสบความสำเร็จได้ในอนาคต ตรงกันข้ามกับองค์กรที่เข้มงวดและไม่ยอมรับความผิดพลาดใดๆ ซึ่งจะไม่มีใครกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ เพราะกลัวผิดและไม่ยอมรับความล้มเหลวของตัวเอง
หมดยุคของการเป็นซูเปอร์แมนที่เก่งกาจเพียงผู้เดียว ซึ่งประวัติศาสตร์จีนยุคโบราณก็ได้ทำให้เราเห็นแล้วว่า แม้แต่จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เช่น จิ๋นซีฮ่องเต้ที่รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆ แล้วผนวกดินแดนจีนให้เป็นหนึ่งเดียวได้สำเร็จ ก็ไม่อาจครองอำนาจได้ค้ำฟ้า เพราะหวาดระแวงขุนนางที่อาจเก่งกล้าขึ้นมาในอนาคตจนถึงขั้นเผาตำราบัณฑิตทั้งหมดทิ้ง
การเปิดโอกาสให้คนเก่งๆ ได้มีเวทีได้โชว์ความสามารถและสร้างความสำเร็จให้ตัวเขาเอง ก็ย่อมเป็นผลสำเร็จแก่องค์กรได้ต่อไปในอนาคต ความสำเร็จของธุรกิจในบ้านเราจึงขึ้นอยู่กับบรรดาเหล่าซูเปอร์แมนในวันนี้ ที่อาจต้องลดบทบาทและถ่ายโอนความเก่งของตัวเองให้กับคนรุ่นใหม่ให้ได้มากที่สุด