ก.ล.ต. พร้อมหนุนเอสเอ็มอี ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้ง-PP SME

ก.ล.ต. พร้อมหนุนเอสเอ็มอี ระดมทุนผ่านคราวด์ฟันดิ้ง-PP SME

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์เรื่อง “SEC SME/Startup Forum : เริ่มต้นอย่างไรในตลาดทุน” เจาะลึกความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางการระดมทุนผ่านตลาดทุน เพื่อสร้างโอกาสสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน

ด้วยมิติใหม่ 2 รูปแบบ คือ คราวด์ฟันดิ้ง หรือ Crowdfunding ที่เป็นการระดมทุนจากคนหมู่มาก และ Privat Placement SME หรือ PP -SME ที่เป็นการระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัด

" รื่นวดี สุวรรณมงคล" เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า เกณฑ์ที่เราออกมานี้ ไม่ยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากเปรียบเทียบการระดมทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ ในส่วนนี้เราได้ลดตัดทอนเกณฑ์หลายส่วนที่ไม่จำเป็นสำหรับเอสเอ็มอีออกไป

เราพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการและนักลงทุน หากมีส่วนใดที่เราสามารถทำได้ขอให้แจ้งเพิ่มเติมเข้ามาได้เพื่อช่วยขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพที่เป็นหัวขบวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สามารถเข้าสู่ตลาดทุนได้มากขึ้นในอนาคต

ตลอดเวลา 1 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีเอสเอ็มอีที่ระดมทุนรูปแบบคราวด์ฟันดิ้งสำเร็จแล้วจำนวน 22 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 128 ล้านบาท มีระดับเงินทุน 5 แสนหรือ 1-2 ล้านบาทต่อราย และระดมทุนรูปแบบ PP-SME สำเร็จจำนวน 9 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 194 ล้านบาท

นับว่ามีจำนวนที่มากพอสมควรและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ก.ล.ต.จะกระตุ้นการรับรู้หลักเกณฑ์มากขึ้น รวมถึงยังคงส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการระดมทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดทุนเป็นทางเลือกในการระดมทุนสำหรับกิจการทุกประเภทอย่างแท้จริง

161642536134

“ไพบูลย์ ดำรงวารี” ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียน 2 สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวในหัวข้อ PP-SME ฉบับเจาะลึก การเสนอขายหุ้นกู้ หุ้นกู้แปลงสภาพ และ EPOS ด้วยหลักเกณฑ์ PP -SME ว่า กระบวนการขั้นตอนต่างๆ ไม่ได้ยาก หากเป็นเอสเอ็มอีที่มีผู้สนใจร่วมลงทุนอยู่แล้ว PP -SME จะตอบโจทย์ แต่สิ่งที่เอสเอ็มต้องให้ความสำคัญ คือ ต้องเปิดเผยข้อมูลครบถ้วน มีระบบบัญชีและระบบควบคุมภายในที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ และอย่าโฆษณาเป็นวงกว้างเพราะจะผิดหลักเกณฑ์

แนะนำเอสเอ็มอีผู้ที่สนใจระดมทุนแบบ PP-SME ว่า เอสเอ็มอีต้องทำ 3 ขั้นตอนดังนี้ 1. เสนอขายหลักทรัพย์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากก.ล.ต. 2. ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนที่เว็บไซต์ของ สสว. และ 3. จัดทำเอกสารประกอบการเสนอขายหรือที่เรียกว่า Fact sheet มีการอธิบายข้อมูลที่สำคัญให้ผู้ลงทุนทราบ เกี่ยวกับความเสี่ยง ผลประกอบการ และฐานะการเงิน

พร้อมกันนี้ หากเอสเอ็มอี มีข้อติดขัด ข้อจำกัดหรืออุปสรรค ทั้งการระดมทุนในรูปแบบ คราวด์ฟันดิ้ง และ PP -SME สามารถแจ้งเพิ่มเติมเข้าได้ เพราะหลังออกหลักเกณฑ์มาแล้วนั้นยังมีปัญหาในส่วนไหน เราต้องการดูแลและผลักดันให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สำเร็จ

“โสมิกา ภคภาสน์วิวัฒน์”ที่ปรึกษากฎหมาย ทนายความหุ้นส่วน บริษัทเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด กล่าวว่า รูปแบบ PP-SME จะเหมาะสมกับสตาร์ทอัพ ที่เริ่มต้นใช้เงินลงทุนค่อนข้างมากในการพัฒนา เทคโนโลยี เพื่อมาสนับสนุนการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคตไปสู่การเป็นยูนิคอร์น มองว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวถือว่าเป็นช่องทางที่ช่วยให้เอสเอ็มอีมีโอกาสเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามในแง่ของหลักเกณฑ์ต่างๆ สำหรับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเกณฑ์เกี่ยวกับ ESOP อาจจะต้องพิจารณาดูว่าในปัจจุบันสามารถตอบโจทย์เอสเอ็มอีในเชิงปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือยังติดขัดเรื่องไหนบ้าง เพราะรูปแบบนี้สตาร์ทอัพในต่างประเทศที่เติบโตเร็วและสำเร็จ นอกจากมีช่องทางการลงทุนแล้วยังมีเรื่อง ESOP ที่สามารถดึงคนที่มีความเชี่ยวชาญ ให้ทำงานเต็มที่เหมือนเจ้าของกิจการได้