'ชูศักดิ์' ยันเนื้อหามาตรา9 ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไม่เกินหลักการ-ขัดรัฐธรรมนูญ
กมธ.ประชามติ แจงร่างมาตรา9 ไม่เกินหลักการ มาตรา166 เหตุเพิ่มสิทธิรัฐสภา-ประชาชน ปลายทางต้องให้ ครม.พิจารณา ยันไม่มีเป้าหมายให้เนื้อหาถูกคว่ำ-รัฐบาลยุบสภา
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฐานะกรรมาธิการที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วการออกเสียงประชามติ พ.ศ... รัฐสภา กล่าวต่อประเด็นที่เสนอเนื้อหาให้แก้ไขมาตรา9 ของร่างพ.ร.บ.ประชามติ เพิ่มสิทธิ์ของรัฐสภาและประชาชน เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทำประชามติ ซึ่งถูกส.ว.มองว่าเกินกรอบของรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ว่า ตนมั่นใจว่าสิ่งที่ตนเสนอนั้นไม่เกินกรอบหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมาตรา 166 นั้นมีความท้ายระบุว่าทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้นการเขียนเนื้อหาไว้ในร่างพ.ร.บ.ประชามติ จึงไม่เกินกรอบรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ดีตามเนื้อหาที่ตนเสนอนั้นน สุดท้ายต้องเป็นไปตามมติครม. ไม่ใช่การให้อำนาจบุคคล หรือคณะบุคคลไปดำเนินการโดยสิทธิเด็ดขาด
“เมื่อรัฐสภามีมติหรือประชาชนเสนอ ต้องไปสู่ครม. เมื่อไปถึงครม. เป็นสิทธิของครม.จะพิจารณา ซึ่งผมไม่เห็นว่าจะขัดแย้งกันยังไง ทั้งนี้เนื้อหาที่ผมเสนอนั้นเพื่อแก้ปัญหา ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายให้ใช้ อย่าง กฎหมายประชามติ ปี52 ใช้ไม่ได้” นายชูศักดิ์ กล่าว
นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำด้วยว่าสำหรับตนได้ศึกษาและทำการบ้านไว้เช่นเดียวกัน เพราะเนื้อหาร่างมาตรา9 อยู่ในกรอบ ทั้ง 1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และ 2.มติคณะรัฐมนตรี กรณีที่เสนอให้รัฐสภา และประชาชนเสนอได้นั้นเพื่อแก้ปัญหา เดดล็อคทางกฎหมาย ส่วนตัวไม่กังวลอะไรต่อกรณีที่มีข่าวว่ากฤษฎีกาจะเสนอเงื่อนไขการบังคับใช้ ส่วนกรณีที่กรรมาธิการฯ ขอเวลาพิจารณาเนื้อหา และปรับแก้ไขนั้น ตนไม่ติดใจและเห็นว่ามีเหตุมีผล
เมื่อถามถึงกรณีที่มีการระบุว่าหากร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไม่ผ่านวาระสาม รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภาหรือลาออก นายชูศักดิ์ กล่าวว่าร่างพ.ร.บ.ประชามติเป็นร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ที่ผ่านมาหากกฎหมายของรัฐบาลไม่ผ่านสภาฯ ต้องพิจารณา แต่กรณีนี้รัฐสภาเป็นผู้พิจารณา ต้องคิดเอาเอง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ตนเสนอไม่ได้มีเป้าหมายให้เป็นเช่นนั้น เพราะตนคิดถึงการแก้ปัญหาของประเทศ รัฐสภา และ รัฐธรรมนูญ ไม่คิดว่าให้ยุบสภา หรือรัฐบาลลาออก.