เลอบัว ชูจุดแข็งเสิร์ฟประสบการณ์หรู 17 ปี ต่อลมหายใจธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร เครื่องดื่ม
ภารกิจต่อลมหายใจให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารของ "เลอบัว" ให้ก้าวข้ามวิกฤติโรคระบาด ต้องงัดจุดแข็งสั่งสมประสบการณ์ด้านบริการระดับ "เวิลด์คลาส" เสิร์ฟความหรูหราพร้อมวิว "หลักล้าน" เอาใจสาวก "เก็บดาว" ในต่างแดนหันมาอิ่มเอมร้านมิชลินสตาร์ในไทยแทน
บนสมรภูมิธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม “เลอบัว” วางตำแหน่งทางการตลาดสุดหรู บริหารห้องพัก เสิร์ฟอาหารที่มาจากฝีมือเชฟติดดาวหรือได้มิชลินสตาร์แทบทั้งสิ้น ยิ่งกว่านั้นภาพการรับรู้อันโดดเด่นคือการเป็นต้นตำรับร้านอาหาร ภัตตาคาร บาร์บนชั้นฟ้าหรือรูฟท็อป ใช้พื้นที่หลายชั้นของอาคารสเตท ทาวเวอร์ เปิดร้านแบรนด์ต่างๆให้เห็นในแนวตั้ง(Vertical)
สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่ไปใช้บริการจะได้อิ่มอร่อยอาหารและเครื่องดื่มพร้อมวิว “หลักล้าน” ของกรุงเทพมหานคร ทำให้ตลอดระยะเวลาที่เปิดให้บริการ 17 ปี มีลูกค้าสะสมมากถึง 7 ล้านคน สร้างรายได้หลักพันล้านบาท ทว่า โควิดกระทบธุรกิจหนัก
นราวดี บัวเลิศ ประธาน บริษัท เลอบัว โฮเท็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด เล่าว่า ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาดระลอกแรก ธุรกิจโรงแรมต้องปิดให้บริการนานถึง “ร้อยวัน” รายได้หดหาย แต่การปรับตัวต้องเกิดขึ้น โดยพนักงานของบริษัท แม้กระทั่งเชฟขนมหวานชาวฝรั่งเศส ชวนลุยเสิร์ฟเมนูครัวซองต์รูปแบบเดลิเวอรี่ มีการปั้นแบรนด์ “ลูซิเทีย บาย เลอบัว” รองรับการทำตลาดดังกล่าว
ปกติเชฟของบริษัทจะทำเบเกอรี่เพื่อป้อนให้ร้านอาหารติดดาว(มิชลิน สตาร์) เพื่อทานคู่กับมื้ออาหารต่างๆ จนลูกค้าประทับใจต้องการซื้อกลับบ้าน แต่ไม่มีขาย เมื่อวิกฤติจึงคิดใหม่ ส่งเมนูเด่นไปถึงบ้านกลุ่มเป้าหมายในราคาจับต้องได้ตั้งแต่ชิ้นละ 32 บาทจนแตะ 99 บาท นอกจากนี้ ยังจับมืออินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ทำร้าน “ลูทิเซีย บาย เลอบัว : เดอะ เวอทิคอล ป็อป อัพ” เป็นการชั่วคราวมีงานศิลปะมาเอาใจลูกค้า ชนิดที่กำเงินหลัก “ร้อยบาท” สามารถอิ่มอร่อยอาหารจากเชฟติดดาวและอิ่มเอมงานศิลป์ ให้บริการถึงสิ้นเดือนเม.ย.นี้
เลอบัว มีร้านอาหารราว 10 แบรนด์ให้บริการ เช่น Chef’s table ร้านอาหารฝรั่งเศสขนานแท้, Breez อาหารเอเชีย, Mezzaluna ร้านมิชลินสตาร์ 2 ดาว และ Sirocco รูปท็อปบาร์อันโด่งดังระดับโลก ฯ ทั้งหมดทำเงินให้บริษัทราว 55% ต่างจากธุรกิจโรงแรมทั่วไปที่ร้านอาหารและเครื่องดื่มทำเงิน 25-30% เท่านั้น
หากไม่มีโรคระบาดบริษัทมีแผนจะขยายร้านอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มอีก 6 ร้าน แต่นาทีนี้ต้องชะลอไว้ และรักษากระแสเงินสดที่มีหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอด
ขณะที่สถานการณ์โรคระบาดยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ การเปิดให้บริการห้องพักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยเดือนก.พ.ที่ผ่านมา เปิดให้บริการ 50 ห้อง จากห้องพักทั้งหมด 358 ห้อง ก่อนโควิดอัตราการเข้าพักสูงถึง 80-82% ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวสหรัฐ เยอรมัน ยุโรปฯ ปัจจุบันหลายประเทศรวมทั้งไทยมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชน บริษัทหวังให้การฟื้นตัวกลับมา 50% ถือว่าน่าพอใจ เพราะหากรายได้จะกลับสู่ตัวเลขเดิมคาดว่าต้องใช้เวลาราว 2 ปี
ก่อนเจอวิกฤติโรคระบาด เลอบัว เคยทำรายได้ 1,400-1,500 ล้านบาทต่อปี เคยเติบโตเฉลี่ย 25% ช่วงออกตัว ก่อนจะเข้าสู่จุดคงที่โตเฉลี่ย 10% ต่อปี
“ความสำเร็จ 17 ปี ของเลอบัว เราสามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า ไม่ใช่เป็นแค่ร้านอาหารและเครื่องดื่ม แต่มอบบริการให้เป็น Luxury Experience ทุกอย่างถูกคิดมาหมดแล้ว”
สำหรับการปรับตัวให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด บริษัทต้องการให้คนไทยมาใช้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่ม พักโรงแรมเพิ่มเป็น 60% โดยเฉพาะกลุ่มนักเดินทางที่ชอบไปเก็บดาวหรือตระเวนชิมร้านอาหารมิชลินสตาร์ในต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนมาก เดิมคนไทยมีสัดส่วนเพียง 40-50% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเลอบัว เคยระดมเชฟมิลชินสตาร์ 3 ดาว 6 คน รวม 18 ดาว มารังสรรค์เมนูอาหารชั้นเลิศเพื่อเสิร์ฟลูกค้ามื้อละ 1 ล้านบาท และปลายปี 2564 บริษัทมีแผนจะทำการตลาดที่อลังการณ์และสร้างความว้าว! ให้กลับกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง เป็นโปรเจคที่จะผนึกกับอินเด็กซ์ ครีเอทีฟฯอีกครั้งด้วย เป้าหมายสำคัญคือต้องการสร้างบรรยากาศท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคัก เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการหาทางสร้างการอยู่รอดไปทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย