เยียวยาตลอด ประเทศไม่รอด
มาตรการเยียวยานับเป็นสิ่งที่จำเป็นยามเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ประเทศไม่สามารถเดินทางนี้ได้ตลอดไป เนื่องจากฐานะการคลังที่มีอยู่อย่างจำกัด สิ่งคัญคือรัฐต้องเข้าใจก่อนว่าปัญหาเชิงโครงสร้างมีอะไร ทุ่มงบและกำลัง ขณะที่เอกชนขับเคลื่อนตาม ถึงจะทำให้รอดวิกฤติโควิด
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 มี.ค.2564 รัฐบาลได้เดินหน้าออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจ และช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและเล็ก ต่อไป ผ่านโครงการขยายสิทธิเที่ยวด้วยกัน และปรับหลักเกณฑ์เงินกู้ซอฟท์โลนและโกดังพักหนี้ ขณะเดียวกันคาดว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไปจะพิจารณาเรื่องเยียวยาเพิ่ม ในส่วนโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 3 และโครงการ “เราผูกพัน” เพื่อช่วยข้าราชการ-ลูกจ้างรายได้น้อย 1 ล้านราย คาดจ่าย 4,000 บาทต่อราย ใช้เงิน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามหลังประเทศต้องเผชิญพิษโควิดนั้น ประเทศไทยได้ใช้เงินเยียวยาผ่านโครงการต่างๆ แล้ว 8.61 แสนล้านบาท
ทั้งนี้มาตรการเยียวยาโควิด ปี 2563 ถึง 2564 ประกอบด้วย โครงการเราไม่ทิ้งกัน (เม.ย.-มิ.ย.2563 ) แจกเงินกลุ่มแรงงาน อาชีพอิสระ ผู้ได้รับสิทธิ 16 ล้านราย รายละ 15,000 บาท ในช่วง 3 เดือน รวมเป็นเงิน 240,000 ล้านบาท เงินมาจากงบประมาณ 70,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน จำนวน 1 ล้านล้านบาท อีก 170,000 ล้านบาท เงินช่วยเกษตรกร (พ.ค.-ก.ค.2563) แจกเงินเกษตรกร 3 เดือนๆ ละ 5,000 บาท จำนวน 10 ล้านราย วงเงิน 150,000 ล้านบาท โครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 1-2 รัฐช่วยจ่าย 50% ผ่านแอพ “เป๋าตัง” รวม 15 ล้านราย ใช้เงินทั้งสองเฟส 5.2 หมื่นล้านบาท
โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ก็เป็นอีกมาตรการเยียวยาที่เดินทางมาสู่เฟส 3 แล้ว โดยรัฐช่วยจ่ายค่าห้อง 40% ค่าตั๋วเครื่องบิน 1,000 บาทต่อที่นั่ง และ คูปองอาหารวันละ 600 บาท คาดใช้เงิน 18,000 ล้านบาท มีผู้ลงทะเบียน 4.51 ล้านราย นอกจากนั้นยังเยียวยา โดยการเพิ่มวงเงินใช้จ่ายผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ 14 ล้านคน 500 บาทต่อเดือนต่อราย เป็นเวลา 3 เดือน (ต.ค.-ธ.ค.63) รวม 21,000 หมื่นล้านบาท ส่วนโครงการสินเชื่อซอฟท์โลนแบงก์ชาติ วงเงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อเอสเอ็มอี ณ 15 มี.ค.2564 ใช้แล้ว 132,835 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีโครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน ซึ่งถือเป็นโครงการเยียวยา ที่มีการพูดถึงและตอบโจทย์ความเดือนร้อนยุคโควิด
อย่างไรก็ตาม แม้มาตรการจะเยียวยา เป็นเรื่องจำเป็นและถูกต้องในยามเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ประเทศไม่สามารถเดินแถวทางนี้ได้ตลอดไป หากต้องการเห็นประเทศโตอย่างมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันฐานะการคลังมีจำกัด ซึ่งหากหันไปดูวงเงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้น่าจะเหลือให้ใช้ได้อีกประมาณ 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่ภาคเอกชนออกมาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากแนวนโยบายรัฐบาลกำลังเดินมาถูกทางหรือไม่ และสามารถสร้างความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน แนวนโยบายที่เดินถูกทางในการแก้ปัญหา ต้องเริ่มจากเข้าใจว่าปัญหาเชิงโครงสร้างมีอะไรบ้าง และทุ่มงบประมาณ กำลังลงไป เอกชนขับเคลื่อนตาม หากค้นหาจุดนี้ไม่ได้ ก็เป็นเรื่องยากที่ประเทศจะรอดจากวิกฤติโควิด