ก.ล.ต.ตั้งเป้าเปลี่นตลาดทุนเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ประเดิมจ่อขายหุ้นกู้หมื่นล.

ก.ล.ต.ตั้งเป้าเปลี่นตลาดทุนเป็นดิจิทัลเต็มรูปแบบ ประเดิมจ่อขายหุ้นกู้หมื่นล.

ก.ล.ต. เปิดตัว โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล ประเดิมตราสารหนี้ เผย บริษัท19 แห่ง นำโดย “กลุ่มปตท.” จ่อออกหุ้นกู้ บนแฟลตฟอร์มดิจิทัลในปีนี้ รวมมูลค่าไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน “รื่นวดี” แจง ผลเฮียริ่งกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโตฯเบื้องต้น พบส่วนใหญ่ไม่เห็นกำหนดฐานะผู้ลงทุน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จัดงาน พลิกโฉมตลาดทุนไทย ไปสู่ตลาดทุนดิจิทัล เปิดตัว Digital infrastructure ภายใต้ SANDBOX ก.ล.ต.

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์พัฒนาตลาดทุนดิจิทัล สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล ระยะเวลา3ปี (ปี2563-2565) โดยเริ่มแรกจะเริ่มจากออกตราสารหนี้ภาคเอกชน บนแฟลตฟอร์มดิจิทัลก่อน ล่าสุด ก.ล.ต. เปิดตัวระบบ โครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล ภายใต้แซนด์บ็อกซ์ของก.ล.ต. มีผู้เข้าร่วมทดสอบทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งสิ้น 36 ราย

สำหรับในเฟสแรกมี 19 ราย โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าร่วม อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ,บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)หรือ PTTGC ,บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเข้ามาร่วมพัฒนาระบบและวางระบบเชื่อมโยงการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนในวงจำกัด คาดว่า ระบบจะพร้อมสำหรับการออกและเสนอตราสารหนี้ภาคเอกชนรุ่นแรกได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2564 มูลค่าไม่น้อยกว่า10% ของมูลค่าออกหุ้นกู้ใหม่เฉลี่ยแต่ละปีอยู่ระดับ100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นกับความต้องการของผู้ออกหลักทรัพย์

หลังจากนั้นจะเชื่อมต่อระบบดังกล่าว กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รองรับการออกพันธบัตรรัฐบาลต่อไป เพื่อเชื่อมโยงตลาดตราสารหนี้ทั้งระบบภายในแฟลตฟอร์มเดียวกันในปี2565 นอกจากนี้ ในเฟสต่อไปจะนำผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อในระบบ เช่น กองทุนรวม ตราสารทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เป็นต้น เพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนในตลาดทุนส่วนเข้าด้วยกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ สร้างความสะดวก เพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน และสร้างความยั่งยืน

มั่นใจว่า การพัฒนาดังกล่าวจะเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (AFMM) ในเดือนเมษายน 2564 และการประชุมเอเปค (APEC) ปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และ หากทำสำเร็จตามแผนงานที่วางไว้ จะทำตลาดทุนไทยเป็นตลาดทุนดิจิทัลแห่งที่3ของโลกรองจากสิงค์โปรและสวิตเซอร์แลนด์ และช่วยยังผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

161659411627


ทางด้านเงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุนดิจิทัล จะมาจากบริษัท ซีเอ็มดีเอฟโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล จำกัด (CMDF Digital Infrastructure Co. Ltd.) ที่จัดตั้งขึ้นโดย กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (Capital Market Development Fund: CMDF) ร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย สมาคมธนาคารไทย และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการโครงการระบบโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัลของตลาดทุนไทย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขับเคลื่อนตลาดทุนไทยในยุคดิจิทัล

สำหรับ บริษัท ซีเอ็มดีเอฟ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล มี CMDF ถือหุ้น 100% และมีทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาทเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว

ส่วนความคืบหน้าการเปิดรับฟังความคิดเห็น การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนคริปโตเคอเรนซี นางสาวรื่นวดี กล่าวว่า หลังจาก ก.ล.ต. เปิดรับฟังความเห็นดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้ว พบว่า มีความเห็นเข้ามา ณ 22 มี.ค.มีทั้งสิ้น 6,819 ราย ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นทางด้านการกำหนดฐานะของผู้ลงทุน ส่วนประเด็นกำหนดเกณฑ์ความรู้ มีบางส่วนยังเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ขณะที่ความเห็นด้านฐานะของผู้ลงทุนส่วนใหญ่ บอกว่า ทำให้เกิดวามเหลื่อมล้ำ ปิดกั้น และกีดกัน ผลักดันการซื้อขายไปสู่ช่องทางใต้ดินหรือต่างประเทศ ยิ่งทำให้ผู้ลงทุนมีความเสี่ยงมากขึ้น และการกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท ไม่ควรเกิดขึ้น หรือกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 150,000-200,000 บาท น่าจะเพียง ด้านความเห็นด้านความรู้ การวัดความรู้ด้วยหลักสูตรที่มีอยู่ตอนนี้อาจไม่ตอบโจทย์ คงต้องมีเกณฑ์วัดผลเฉพาะหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก.ต.ล. จะปิดรับฟังความเห็นดังกล่าวในวันสุดท้าย 27 มี.ค.นี้ เวลา 24.00 น. และจากนั้น ก.ล.ต. จะสรุปและรวบรวมทุกความเห็น ประมวลผล เพื่อนำเสนอในการประชุมคณะกรรมการ ก.ล.ต. ครั้งหน้า ว่า คณะกรรมการก.ล.ต. จะกำหนดออกมาเป็นนโยบายอย่างไร ภายใต้ พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ปี 2561 และจะมีการเปิดเผยผลการรับฟังความเห็นครั้งนี้ต่อสาธารณะต่อไป