ทร. โชว์แสนยานุภาพ 'ปืนใหญ่' ยิงสนั่นหาดซ้อมรบ ชมอนุภาพ 'จรวดฮาร์พูน''
'ผบ.ทหารสูงสุด' ยกนิ้วพอใจ ผลการฝึกร่วม ทร.-ทอ. ตามแผน 'ศรีวิชัย2-เฉลิมอากาศ' ยิงจรวดฮาร์พูน กลางทะเลเข้าเป้าแม่นยำ พร้อมยิงกระสุนจริงต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่ง ย้ำต้องฝึกต่อเนื่องสร้างความมั่นใจให้กำลังพล
25 มี.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร. )พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ. )พล.ต.อ สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร. )พล.อ.ชูชาติ บัวขาว รองปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ. ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) เดินทางมาตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งจอดลอยลำอยู่ในพื้นที่ทะเลอันดามัน บริเวณจังหวัดภูเก็ต เพื่อชมการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ HARPOON BLOCK 1C โดยเรือหลวงตากสิน และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างกองทัพเรือกับกองทัพอากาศ (LINK – E)
จากนั้นคณะได้ออกเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ไปยังบริเวณยังเขาลำปี ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อชมการยิงอาวุธทางยุทธวิธี และยิงเป้าอากาศยาน ของ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.)และ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.)นอกจากนั้น ยังมีการปฏิบัติร่วมกับเครื่องบินขับไล่แบบกริพเพ้นของกองทัพอากาศ โดยการฝึกสถานการณ์สมมุติภายใต้แผน”ศรีวิชัย2 “ของกองทัพเรือ กับแผน”เฉลิมอากาศ”ของกองทัพอากาศ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมระดับเหล่าทัพสนับสนุนแผนป้องกันประเทศของกองบัญชาการกองทัพไทย เป็นไปตามยุทธศาสตร์ในการดูแลรักษาประโยชน์ของชาติทางทะเล และทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันและอ่าวไทย โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งทางด้านยุทธศาสตร์รวมถึงท่าเรือน้ำลึกต่างๆที่ตั้งอยู่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศบริเวณหาดท้ายเหมือง พื้นที่ทำการยิงปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน(ปตอ.)37 มม. และปืนรักษาฝั่ง ของ กองพันต่อสู้อากาศยานที่ 22(พัน.สอ.22 ) ได้ทำการยิงหลายร้อยนัดต่อเป้าหมายซึ่งเป็นเรือเป้านิ่งกลางทะเล และอากาศยานขนาดเล็กซึ่งเป็นเป้าเคลื่อนไหว รวมถึงการยิงปืนใหญ่ขนาด 155 มม.ATMG ที่ ศูนย์อำนวยสร้างอาวุธกระทรวงกลาโหม รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี Elbit ประเทศอิสราเอล โดยอานุภาพความรุนแรงจากการยิงของปากกระบอกปืนใหญ่ขนาด 155 มม.มีเสียงดังสนั่น และได้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั้งหาด
ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการฝึก พล.อ.เฉลิมพล ยกนิ้วโป้งให้กำลังพล พร้อมระบุว่า พอใจการฝึกในครั้งนี้ เพราะเป็นการฝึกประจำปีในหลายรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติการป้องกันอธิปไตยบนฝั่งในกรณีมีภัยคุกคามทางทะเลเข้ามา ซึ่งเป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างกองทัพเรือ กับ กองทัพอากาศ ที่รับผิดชอบอธิปไตยในน่านฟ้า ในการปฏิบัติภารกิจตามขีดความสามารถของตัวเอง จะทำหน้าที่แจ้งเตือนหากไม่สามารถต้านทานอากาศยานได้บางส่วน ก็จะส่งต่อเป้าหมายมายังกองทัพเรือภาค3 ที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว
พล.อ.เฉลิมพล กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญในการฝึกครั้งนี้คือการปฏิบัติร่วมกันในการส่งต่อข้อมูล ระหว่างกองทัพอากาศกับกองทัพเรือ ที่สามารถพบพิกัดและคุณลักษณะเป้าหมาย และสามารถให้หน่วยเข้าดำเนินการได้ สะท้อนให้เห็นถึงการผสานงานร่วมกันระหว่าง 2 กองทัพ และการปฏิบัติของหน่วย รวมถึงความพร้อมของกำลังพล ตลอดจนขีดความสามารถยุทโธปกรณ์ ทำให้เกิดความมั่นใจ สร้างความเข้าใจ ความชำนาญปฏิบัติภารกิจรักษาอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติ จึงถือว่า การฝึกครั้งนี้ครบถ้วน
สำหรับการยิงจรวดฮาร์พูนถือว่ามีความแม่นยำในระยะ 55 ไมล์ทะเล หรือ 110 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการยิงครั้งแรกของกองทัพเรือ หลังได้รับเรือหลวงตากสินติดอาวุธนำวิถีปล่อย อายุ 35 ปี ซึ่งปีนี้ได้ทดสอบใช้กระสุนจริง สร้างความมั่นใจกับหน่วยในการปฏิบัติภารกิจได้อย่างดี
สำหรับ คุณลักษณะของจรวดฮาร์พูน (Harpoon Block 1C) อาวุธปล่อยนำวิถี พื้น - สู่ - พื้น เป็นอาวุธต่อต้านเรือผิวน้ำ ที่มีระยะยิงไกลสุดถึง 75 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 135 กิโลเมตร มีการนำวิถีแบบอัตโนมัติ Fire and Forget ค้นหาเป้าหมายด้วยเรดาร์ ซึ่งสามารถตั้งค่าให้อาวุธปล่อยนำวิถีฯ วิ่งเข้าหาเป้าหมายโดยอัตโนมัติ โดยกำหนดจุดเลี้ยวหรือ Way Point ในการวิ่งเข้าหาเป้าได้มากที่สุดถึง 3 Way Point มีน้ำหนักหัวรบประมาณ 227 กิโลกรัม ที่สามารถทำลายเรือขนาดเรือฟริเกตลงมาให้จมลงได้ด้วยลูกอาวุธปล่อยฯ เพียง 1 ลูก ปัจจุบันอาวุธปล่อยฯ ดังกล่าวได้รับการติดตั้งบนเรือผิวน้ำที่มีสมรรถนะสูงของกองทัพเรือ ถึง 6 ลำ รวมทั้งบนเครื่องบินลาดตระเวน แบบที่ 1 หรือ บ.ตผ.1 (F-27 Mk200)
แบบการยิงในการฝึกยิงฯ ครั้งนี้ ทำการยิง อวป.Harpoon Block1Cแบบ RBL(Range And Bearing Launch) ด้วยหัวรบ (Tactical Missile Warhead) ไม่ลดน้ำมัน (Fully Fueled) ระยะยิงจากเรือยิงถึงเป้าประมาณ 55 ไมล์ โดยการตั้งค่า 1 Waypoint เป็นมุม 30° ตั้งค่าการชนแบบ Skim Attack Mode
โดยที่ผ่านมากองทัพเรือมีการยิง จรวดฮาร์พูน - ครั้งแรก ทำการฝึกยิงโดย ร.ล.สุโขทัย ภายใต้รหัสการฝึก SINGSIAM 12/2002 เมื่อ 22 พ.ค.45 อาวุธปล่อยฯ แบบ พื้น - สู่ - พื้น ระยะยิง 40 กม. ผลการยิง ชนเป้า - ครั้งที่ 2 ทำการฝึกยิงโดย บ.ตผ.๑ (F-27 Mk200) ภายใต้รหัสการฝึก RIMPAC WEST 2004 เมื่อ 2 ก.ย.47 อาวุธปล่อยฯ แบบ อากาศ - สู่ - พื้น ระยะยิง 20 - 30 กม. ผลการยิง ชนเป้า - ครั้งที่ 3 ทำการฝึกยิงโดย ร.ล.นเรศวร ภายใต้รหัสการฝึก MISSILE COMBIND FIRING 2009 เมื่อ 12 ม.ค.52 อาวุธปล่อยฯ แบบ พื้น - สู่ - พื้น ระยะยิง 36.9 กม. ผลการยิง ชนเป้า