5 ตัวเสริม "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ของไทยสู่ฮับอาเซียน
"สมาคมพรีม่า"เปิด5 ปัจจัยหนุนประเทศไทยก้าวสู่ "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" พร้อมย้ำภาครัฐ -เอกชน -ประชาชน ต้องร่วมมือกัน ระบุระบบสุขภาพ บ่งบอกระบบสังคม ความมั่นคง เศรษฐกิจของประเทศ
มหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปกินส์ เสนอผลวิจัยระดับความเข้มแข็งด้านความมั่นคงด้านสุขภาพ (Health Security) ของทุกประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งด้าน "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" (Health security) เป็นอันดับที่ 6 จากทั้งหมด 195 ประเทศ และเป็นประเทศเดียวในประเทศกำลังพัฒนาที่ถูกจัดให้อยู่ ในอันดับ 10 ของโลก เป็นอันดับ 1 ในเอเชีย
- "สมาคมพรีม่า" เชื่อ "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" สู่ความเข้มแข็งเศรษฐกิจ
“ระบบสุขภาพ” เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมและระบบความมั่นคงของประเทศ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากประเทศมี"ความมั่นคงด้านสุขภาพ" มีระบบการบริการสาธารณสุขที่ดี นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงสุขภาพของคนไทยให้สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพแล้ว ยังสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ชาวต่างชาติ อันนำมาสู่การลงทุนทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศ
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก "เครื่องมือแพทย์"ที่สำคัญในกลุ่มอาเซียน สัดส่วน 27:73 มีนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่ต้องถูกผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) และเทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) ในการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้อุตสาหกรรม "เครื่องมือแพทย์" ของไทย ถูกคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีประมาณร้อยละ 6.5 ในช่วงปี 2564–2565 สูงกว่าการเติบโตของตลาด "เครื่องมือแพทย์" โลกที่คาดว่ามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ ร้อยละ 4.1–5.1 ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน
ดร.นรา เดชะรินทร์ นายกสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ"พรีม่า" กล่าวในวาระครบรอบ 50 ปีการดำเนินงานในประเทศไทย กับการผลักดันความก้าวหน้าทางนวัตกรรม สู่ความสามารถในการจัดการวิกฤตและเสริมความเข้มแข็งด้านสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไทยว่า
การมี "สุขภาพ" ที่ดี ทำให้สมาชิกในสังคมมีศักยภาพเต็มที่ในการทำงาน และสร้างผลประโยชน์ ประกอบที่ดีให้แก่ตัวเองและประเทศชาติ เพราะเมื่อผู้คนล้มป่วย หรือเกิดโรคระบาด มีปัญหา "สุขภาพ" จะไม่สามารถทำงานได้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งเมื่อเกิดโควิด-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "สุขภาพ" เป็นเรื่องใกล้ตัวและสร้างผลกระทบในทุกเรื่อง
- 5 ปัจจัยหนุน "ความมั่นคงด้านสุขภาพ"ของไทย
ดังนั้น การสร้าง "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" มีความสำคัญอย่างมาก ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา "สมาคมพรีม่า" ซึ่งมีสมาชิก 30 กว่าบริษัท ทุกบริษัทได้มีการพัฒนางานวิจัยสู่ผลิตภัณฑ์ "นวัตกรรมทางการแพทย์" เพื่อคนไทยทุกคนมี "สุขภาพ" ที่ดี และช่วยสร้าง "ความมั่นคงด้านสุขภาพ"ของประเทศไทย
“ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประเทศไทยเกิดจากการมีระบบประกันสุขภาพที่ดี ประกอบด้วย ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรรมด้านสุขภาพ ได้แก่ การพัฒนายาและวัคซีนนวัตกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ และกระบวนการรักษาที่ทันสมัย และเรายังมีระบบการติดตามและควบคุมโรคที่ทันสมัย ซึ่งทำให้อัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโรคต่าง ๆ ลดลง อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น ผู้ป่วยมีอายุที่ยืนยาวขึ้น”ดร.นรา กล่าว
สำหรับปัจจัยที่หนุนให้ประเทศไทยมี "ความมั่นคงทางสุขภาพ"นั้น ต้องอาศัย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.พัฒนาความคิด ระบบ สนับสนุนงานวิจัยสู่นวัตกรรม ซึ่งประเทศไทยมีงานวิจัยด้านการแพทย์จำนวนมาก แต่ยังขาดการพัฒนาต่อยอดสู่นวัตกรรม ใน "สมาชิกพรีม่า" ได้มีการสนับสนุน "งานวิจัยด้านคลินิก" มูลค่า 11,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดเป็น "นวัตกรรมทางการแพทย์" 2. การบริหารการเงินการคลังด้าน "สุขภาพ" โดยเฉพาะภาครัฐที่ต้องลงทุนด้านนี้อย่างจริงจัง
3.ลงทุนพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่ 4.ปลดล็อกข้อจำกัด กฎระเบียบ เอื้อเอกชนลงทุนด้าน "นวัตกรรมทางการแพทย์" 5.ส่งเสริมองค์ความรู้ด้าน "สุขภาพ" ให้แก่คนไทย เพราะการดูแล "สุขภาพ" ที่ดีที่สุด ผู้คนต้องรู้ว่า "สุขภาพ"ร่างกายของตัวเองเป็นเช่นใด และถ้าเป็นโรคควรจะดูแลรักษาอย่างไร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : แนะไทยปรับนโยบายเอื้อHealthcare
เมื่อโควิดมา! ‘พรีมาฯ’ เร่งเดินแผนนวัตกรรม จากเลเซอร์สู่หน้ากากนาโน
- ไทย พร้อมสู่ฮับ"ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ในอาเซียน
ดร.นรา กล่าวต่อว่า สิ่งที่ "สมาคมพรีม่า"ได้ทำ พวกเราใช้วิทยาสาสตร์ วิทยาการเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ช่วยป้องกัน ดูแล รักษาสุขภาพของคนไทย ก่อนป่วย หรือป่วย "สมาคมพรีม่า"จะมองหาช่องทางในการเข้าไปช่วยป้องกัน รักษาดูแล รวมถึงมองแนวทางของ "สุขภาพ" ในอนาคตอีก 50 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมพร้อม ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมทำให้คนไทยเข้าถึงยา การบริการต่างๆ เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ทันเวลา เพราะหากมองช่องทางอุตสาหกรรมทางการแพทย์ต้องมองทั้งอดีต ปัจจุบัน และคาดการณ์ในอนาคตด้วย
การสร้าง "ความมั่นคงด้านสุขภาพ"ต้องทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการให้บริการ "สุขภาพ" ได้อย่างทันท่วงที และสามารถเข้าถึงกระบวนการรักษา ยา และเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องอาศัยนวัตกรรมด้านสุขภาพในการสร้างสรรค์และพัฒนา การจะทำให้ ไทยมีความมั่งคงด้านสุขภาพ และเป็นฮับในภูมิภาคอาเซียน ได้นั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพราะ “สุขภาพ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทุกคน
นพ.ทวิราป ตันติวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์พรีม่า กล่าวว่าในช่วงโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพด้านการแพทย์ของไทยในหลายๆ ด้าน จนทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่า "ระบบสาธารณสุข" ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย มีความเข้มแข็งและมั่นคง
แต่ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไทยจะหยุดนิ่งไม่ได้ ต้องมีวิวัฒนาการ "นวัตกรรมทางการแพทย์"อย่างต่อเนื่อง และต้องเป็นวงจรนวัตกรรมที่ไม่ใช่เพื่อคนไทยเท่านั้น
“ไทยมีความพร้อมเป็นศูนย์กลางหรือฮับความมั่นคงด้านสุขภาพ เพราะเรามีทั้งงานวิจัย มีเทคโนโลยี มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีความพร้อมในการลงทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี เรามีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สามารถส่งออกไปยังประเทศในอาเซียนได้ แต่ทั้งนี้ เราต้องร่วมทำเทคโนโลยีกับเพื่อน นักธุรกิจระหว่างประเทศ และระดับโลกได้ ประเทศไทยต้องคิดระดับโลก และปฎิบัติท้องถิ่น ต้องสร้างพาสเนอร์ร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ เพราะการทำงานในศตวรรษที่ 21 ต้องเชื่อมโยงทำให้เกิดห่วงโซ่อุปทานมูลค่าระดับโลกให้ได้”นพ.ทวิราป กล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะกลายเป็นต้นแบบให้กับนานาประเทศ และเป็น ศูนย์กลางด้านความมั่นคงของภูมิภาค "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" คือตัวชี้วัดสำคัญที่จะสะท้อนคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย และยังเป็นผลต่อเนื่องที่จะทำให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศ