'สมาคมประมงฯ' แนะรัฐ ทุ่ม 7 พันล้าน คุมกำเนิด 'เรือประมง'
สมาคมประมงสมาคมประมงสมุทรสงคราม เสนอรัฐตั้งงบ7 พันล้านซื้อเรือประมงออกจากระบบ 2,500 ลำ พร้อมค้านยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าปลาป่น พร้อมค้านยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าปลาป่น หวั่นกระทบอาหารทะเล
นายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม และนายกสมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม เปิดเผยว่าจากการประชุมสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เมื่อเร็วๆนี้ได้เสนอให้รัฐบาลจัดงบประมาณ ปี 2565 อย่างน้อย 7,000 ล้านบาท เพื่อซื้อเรือประมงเพื่อคัดออกจากระบบจำนวน 2,500 ลำ จากจำนวนทั้งสิ้น 10,200 ลำ ซึ่งสืบเนื่องมาจากการบังคับใช้ พ.ร.ก. ประมง ปี 2558 ที่เข้มงวดการทำประมงมากขึ้น
โดยกรมประมงได้ใช้วิธีการกำหนดวันเพื่อออกเรือประมงเช่น สลับวันเว้นวัน ทำให้เรือประมงแต่ละลำมีเวลาออกเรือเฉลี่ยประมาณ 7 เดือนต่อลำต่อปี ซึ่งเป้าหมายเพื่อควบคุมปริมาณสัตว์น้ำในทะเล หรือ Over fishing อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวส่งผลให้ชาวประมงมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องจ้างแรงงานตลอดทั้งปี แต่ออกเรือได้จำกัด
“ที่ผ่านมา แก้ไขโดยวิธีการรวบรวมเรือและใบอนุญาต แต่ ชาวประมงที่เงินทุนน้อยไม่สามารถดำเนินการได้ ส่งผลให้ยังมีเรือค้างอยู่ หากรัฐบาลต้องการให้ปัญหาจบลงเร็วก่อนที่จะต่อใบอนุญาตการทำประมงในปี 2565 อีกครั้ง ควรจัดงบประมาณซื้อเรือส่วนเกินนี้ก่อน โดยสามารถนำไปจมทำปะการัง หรือ พิพิธภัณฑ์เรือได้ “
นายมงคล กล่าวอีกว่า สมาคมฯยังเสนอให้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อคัดค้านต่อการพิจารณาทบทวนประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 72) พ.ศ. 2533 ตามที่ กรมการค้าต่างประเทศ ได้หารือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2564 เพื่อพิจารณายกเลิกประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 72) พ.ศ. 2533 กำหนดให้ปลาป่นชนิดโปรตีนต่ำกว่า 60% เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนาเข้า เพื่อลดความซ้ำช้อนของการใช้บังคับกฎหมาย
เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะแล้ว โดยมติที่ประชุมในวันดังกล่าว ให้กรมฯ สอบถามความเห็นภาคเอกชน โดยเฉพาะสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารสัตว์ ก่อนดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ องค์กรภาคประมงในจังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วยสมาคมประมงสมุทรสงคราม สมาคมประมงเรือลากคู่สมุทรสงคราม และสหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด มีความเห็นว่า การยกเลิกประกาศ ดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาปลาเป็ดที่เป็นวัตถุดิบสำหรับทำปลาป่นลดลง และจะฉุดให้ราคาปลาชนิดอื่นร่วงลงตาม เนื่องจากราคาปลาเป็ดเป็นฐานราคาของสินค้าสัตว์น้ำทั้งหมด และจะส่งผลกระทบต่ออาหารทะเลของไทย