สร้างขุมทรัพย์ 'ลงทุน' ในยุคดอกเบี้ยขาขึ้น
เปิดวิธีสร้างขุมทรัพย์ลงทุน จะลงทุนอย่างไรในยุคที่ผลตอบแทนตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผานมา โดยเฉพาะการเกิดหุ้นวัฏจักร หุ้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนเกิน 100% อย่างกลุ่ม New Economy หมุนมาสู่ Old Economy ที่ราคามักขึ้นๆ ลงๆ ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ
ภาพผลตอบแทนตลาดหุ้นโลกปีนี้ดูเหมือนจะกลับข้างกับปีที่แล้ว ในปี 2020 หุ้นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนเกิน 100% ล้วนเป็นหุ้นกลุ่ม New Economy เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีนี้ หุ้นที่โดดเด่นหมุนมาเป็นกลุ่ม Old Economy ที่ราคามักขึ้นๆ ลงๆ ตามวัฏจักรเศรษฐกิจ นักลงทุนจึงมักเรียกว่า หุ้นวัฏจักร (Cyclical Stocks) เช่น พลังงาน +19% (MSCI World Energy Index) และการเงิน +12% (MSCI World Financials Index) แต่ราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีนั้นแทบไม่ปรับขึ้นเลย (ข้อมูล ณ 23 มีนาคม) ทำให้ตลาดหุ้นที่มีกลุ่มพลังงานและการเงินมากอย่างไทยปรับเพิ่มถึง +9% (SET Index) กลายเป็นหนึ่งในตลาดหุ้นที่ดีดตัวขึ้นมากที่สุดในโลก
สาเหตุแรกที่ทำให้ราคา Cyclical Stocks ขึ้นได้ดี เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งกว่าที่ตลาดเคยคาดการณ์ จากทั้งความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน ที่คาดว่าสหรัฐจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ในอีกไม่เกิน 6 เดือน รวมกับแรงกระตุ้นจากมาตรการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของรัฐบาลนายโจ ไบเดน ที่อนุมัติงบเพิ่มอีก 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ Fed ปรับคาดการณ์ GDP ปี 2021 โตจาก +4.2% เป็น +6.5% และการเติบโตนี้เองที่ส่งผลบวกโดยตรงต่อ Cyclical Stocks
สาเหตุถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ นักลงทุนได้กำไรจากหุ้นเทคฯ มาค่อนข้างเยอะในช่วงที่ผ่านมา และเกิดข้อสงสัยว่าราคาสูงเกินไปไหม ทำให้มีแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ประกอบกับหุ้นเทคฯ เป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักจะไม่จ่ายเงินปันผลระหว่างทาง แต่นำเงินไปลงทุนต่อเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต
ขณะที่หุ้น Old economy อย่างการเงินและพลังงาน เป็นตัวเลือกที่ดีในการหมุนกลุ่มการลงทุน เพราะก่อนหน้านี้ไม่ได้รับความนิยมจากนักลงทุน โดยกลุ่มการเงินนั้นถูกกดดันจากเศรษฐกิจชะลอตัว ที่กระทบต่อการปล่อยสินเชื่อและเพิ่มอัตราหนี้เสีย ทั้งยังถูกดิสรัปจากธุรกิจ Fin Tech รวมถึงข้อบังคับที่เข้มงวดทำให้การทำธุรกิจไม่ราบรื่น ส่วนกลุ่มพลังงานนั้นก็ถูกกดดันจากราคาน้ำมันที่ผันผวน และกระแสการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น
ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้คือกระจายเงินบางส่วนไปยัง Cyclical Stocks เช่น กลุ่มการเงิน (Financials) ที่มีแนวโน้มได้ประโยชน์มาก จาก (1) บอนด์ยิลด์ทั่วโลกอยู่ในขาขึ้น คาดว่าบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปี มีโอกาสเพิ่มสู่ระดับราว 2% ในปีนี้ ซึ่งบอนด์ยิลด์นั้นมักถูกใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงดอกเบี้ยเงินกู้ นั่นหมายถึงรายได้ของสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้น (2) เศรษฐกิจที่ดีจะกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมไปใช้จ่ายหรือลงทุน ส่งผลดีต่อการขยายตัวของสินเชื่อ
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจจะเอื้อต่อกลุ่มการเงิน แต่หุ้นกลุ่มนี้มักเผชิญความเสี่ยงด้านกฎหมายและข้อบังคับ ล่าสุด Fed ประกาศไม่ต่ออายุโครงการที่ได้ผ่อนผันไปในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 ทำให้ธนาคารต้องนำพันธบัตรรัฐบาลมารวมคำนวณ Supplementary Leverage Ratio (SLR) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ธนาคารต้องดำรงสัดส่วนเงินกองทุน (Tier-1 capital) ต่อสินทรัพย์รวม ไม่ต่ำกว่า 5% ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไร และการจ่ายปันผล รวมทั้งเป็นความเสี่ยงต่อตลาดพันธบัตร เพราะลดแรงจูงใจในการถือพันธบัตร อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวยังมีจำกัด โดยงบการเงินไตรมาส 4/2020 ชี้ว่าธนาคารส่วนใหญ่มีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง แม้จะรวมการถือครองพันธบัตรเข้าไปตามเกณฑ์ปกติ
นอกจากนี้ กลุ่มการเงินยังมีความเสี่ยงเฉพาะบริษัทที่จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน จึงแนะนำลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยเลือกสรรธุรกิจที่มีศักยภาพสร้างรายได้เติบโตสม่ำเสมอ มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายจำกัด นอกจากนี้ การกระจายลงทุนก็สำคัญ ไม่ควรเจาะจงลงทุนเฉพาะธนาคารเท่านั้น แต่ควรกระจายลงทุนในธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค (Consumer Finance) ธุรกิจประกัน ตลอดจนธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ที่กำลังเติบโตอย่างมากและมีโอกาสดิสรัปธุรกิจธนาคารได้ในอนาคต
เราแนะนำลงทุนในกองทุนรวมกลุ่มการเงินในกรอบระยะเวลา 9-12 เดือน เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้แก่พอร์ต โดยยังมีมุมมองบวกต่อหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี นวัตกรรม และ Healthcare ถึงแม้ว่าในระยะสั้นจะเผชิญแรงเทขายบ้าง แต่ในระยะยาวกระแสหลักของโลกทั้งความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความต้องการดูแลรักษาสุขภาพ จะผลักดันให้หุ้นกลุ่มเหล่านี้สามารถสร้างกำไรและรายได้ที่เติบโตอย่างสม่ำเสมอ