มารู้จัก !! 10 อันดับ 'กองทุน ESG' ผลตอบแทนสูงสุด

มารู้จัก !! 10 อันดับ 'กองทุน ESG' ผลตอบแทนสูงสุด

10 อันดับ 'กองทุนรวมที่มีการลงทุนอย่างยั่งยืน(ESG)' ผลตอบแทนสูงสุด นำโดย K-CHANGE-A(A) ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีสูงถึง  91.4 % รองมา T-GlobalEnergy ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปี 86.2% 

“มอร์นิ่งสตาร์” ชี้ในช่วงที่ผ่านมานี้เทรนด์การลงทุนอย่างยั่งยืน หรือ “Sustainability Investment”เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจจากหลาย บลจ. ในต่างประเทศและในไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่นักลงทุนเองก็ให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างชัดเจนเช่นกัน จนกลายเป็นอีกเทรนด์การลงทุนที่มาแรงในปี2564

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลรายงานของ “บริษัท มอนิ่งสตาร์ รีเสิร์ซ (ประเทศไทย)” โดยใช้เครื่องมือ “Morningstar Sustainability Rating“ ระดับสูงสุด (ดีที่สุด) คือ 5-globe  พบว่า  กองทุน ESG ที่ทำผลตอบแทนสูงสุด10อันดับแรกในตลาดกองทุนรวม ( ณ 19 มี.ค.2564) ดังนี้

1 . กองทุนเปิดเค พอสซิทีฟ เชนจ์ หุ้นทุน-A ชนิดสะสมมูลค่า หรือ K-CHANGE-A(A) ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 91.4 %  และ ผลตอบแทนYTDที่ -1.4%

2. กองทุนเปิดธนชาต โกลบอล เอ็นเนอร์จี ฟันด์ หรือ T-GlobalEnergy ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 86.2%  และ ผลตอบแทนYTDที่ -6.4%

3.กองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม  หรือ TISESG-A ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 76.5%  และ ผลตอบแทนYTDที่ 15.3%

4. กองทุนเปิด ทิสโก้ ESG เพื่อสังคม ชนิดจ่ายเงินปันผล หรือ  TISESG-D  ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 76.5%  และ ผลตอบแทนYTDที่ 15.2%

5. กองทุนเปิดกรุงศรีเอเชียนอิควิตี้เฮดจ์เอฟ เอ็กซ์ – สะสมมูลค่า หรือ KFHASIA-A ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 66.1 %  และ ผลตอบแทนYTDที่ 4.7%

6. กองทุนเปิดเคแทม อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ตส์ อิควิตี้ ฟันด์ ชนิดสะสมมูลค่า หรือ KT-EMEQ-A ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 63.1 %  และ ผลตอบแทนYTDที่ 4.4%

7. กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี ชนิดสะสมมูลค่า หรือ KT-ESG-A ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 61.7%  และ ผลตอบแทนYTDที่ 10.3 %

8. กองทุนเปิดกรุงไทย ก่อการดี เพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ KT-ESG RMF ผลตอบแทนย้อนหลัง1ปีที่ 59.5%  และ ผลตอบแทนYTDที่ 9.9%

9. กองทุนเปิด ทิสโก้ หุ้นโลกยั่งยืน หรือ TGESG ผลตอบแทนย้อนหลัง1 ปีที่ 58.5%และผลตอบแทนYTD ที่ 2.6%

10. กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล โกลบอล ซิลเวอร์ เอจ หรือ PRINCIPAL GSA ผลตอบแทนย้อนหลัง1 ปีที่ 57.2%และผลตอบแทนYTD ที่ 6.1%


สำหรับ “Morningstar Sustainability Rating” เป็นการวัดความเสี่ยงด้าน ESG ที่มีนัยสำคัญทางการเงินของแต่ละกองทุน ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับคือ 1 ถึง 5 globe  โดยระดับสูงสุด (ดีที่สุด) คือ 5-globe หมายความว่ากองทุนมีความเสี่ยง ESG ที่มีนัยสำคัญทางการเงินต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับการลงทุนลักษณะเดียวกัน

ปัจจุบันมีกองทุนยั่งยืน หรือ Sustainable fund ในประเทศไทยจำนวน 43 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินรวมราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนต่างประเทศ เนื่องจากตลาดการลงทุนอย่างยั่งยืนมีการเติบโตและตื่นตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างมากจึงมีตัวเลือกให้ลงทุนหลากหลาย

“ชญานี จึงมานนท์” นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด   กล่าวว่า ในภาพของผลตอบแทนกองทุนยั่งยืน นั้นพบว่าขณะนี้เป็นช่วงครบรอบ 1 ปีของการระบาดโควิด-19 ซึ่งช่วงนี้ในปีที่แล้วเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำของปี ทำให้ผลตอบแทนรอบ 1 ปีจะค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตามรอบ 3 เดือนที่ผ่านมากองทุนต่างประเทศมีผลตอบแทนที่ชะลอลงไปบ้าง ในขณะที่กองทุนที่ลงทุนหุ้นไทยยังมีผลตอบแทนที่สูงซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้น
 
การลงทุนอย่างยั่งยืน ถือว่ามีการเติบโตอย่างมากในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยความสนใจการลงทุนนี้เกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ หรือค่านิยมทางสังคม ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ การลงทุนอย่างยั่งยืนจึงเป็นการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวของแต่ละอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวไปตามสภาพแวดล้อม

 ESG จะช่วยให้ผลตอบแทนดีขึ้นหรือไม่

“ชญานี จึงมานนท์”  บอกว่า คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ยังต้องหาคำตอบกันต่อไป หากดูที่ผลตอบแทนกองทุน ESG โดยรวมแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ระดับค่าเฉลี่ย หรือแปลว่าอาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่หลายคนคาดหวังไว้ว่า ESG จะทำให้ผลตอบแทนดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ไม่ได้เสียหายอะไรหากจะมีการลงทุนอย่างยั่งยืน

อีกทั้ง การให้ความสนใจการลงทุนด้านนี้โดยบลจ.รายใหญ่ ส่งผลบวกที่สำคัญคือการลงทุนยั่งยืนจะมีแนวโน้มของค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง หรืออาจทำให้กองทุนมีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าดัชนีชี้วัดได้มากขึ้น

นอกจากนี้ การลงทุนอย่างยั่งยืนนี้ อาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงพอร์ตการลงทุนได้ อีกทั้งการลงทุน ESG นั้นเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นจังหวะที่ดีที่นักลงทุนไทยควรเริ่มหันมาศึกษาการลงทุนอย่างยั่งยืน

โดยลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลกองทุนไทยในด้านการลงทุน ESG  ที่ได้รับการจัดเรตติ้ง Morningstar Sustainability Rating ในหลายมิติเช่น ผลตอบแทน ค่าธรรมเนียม ความเสี่ยง หรือดูควบคู่ไปกับ Morningstar Rating ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสามารถค้นหากองทุนยั่งยืนได้ง่ายขึ้น

10ไฮไลท์ ESG ในอุตสาหกรรมอาหารของโลก

นอกจากนี้  “มอร์นิ่งสตาร์” ฝากไว้สำหรับผู้ที่สนใจ โอกาสและความเสี่ยงเกี่ยวกับ ESG  ของ value chain ในอุตสาหกรรมอาหารของโลก โดย “Sustainalytics” รายงานไฮไลท์ที่น่าสนใจ 10 ด้าน 

โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำหรือเกษตรกรรมไปจนถึงกระบวนการจัดการของเสีย ว่ามีประเด็นเกี่ยวกับ ESG อย่างไร รวมทั้งการแก้ไขอย่างยั่งยืนนั้นจะเป็นอย่างไร

1 Biological pesticides

บริษัทเคมีภัณฑ์เพื่อการเกษตรอาจทำให้ผู้ลงทุนต้องมีความเสี่ยงด้าน ESG จากการผลิตและการใช้ยากำจัดแมลงและปุ๋ย ที่จะส่งผลต่อเนื่องไปที่การปล่อยสารพิษและของเสีย ซึ่งยากำจัดแมลงบางชนิดมีผลเชื่อมโยงกับสุขภาพของมนุษย์จากคุณสมบัติบางอย่างหรือการใช้งานที่ไม่เหมาะสม ทำให้ biological pesticide (การนำจุลินทรีย์ หรือสารสกัดจากธรรมชาติมาผลิตสารกำจัดแมลง) จะเป็นทางออกของสารพิษเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน ตลาดของ biological pesticides อาจเติบโตได้ถึง 7 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2568 จากราว 2.8 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561

2 Precision farming
การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตรจะช่วยให้การใช้สารเคมีในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการการผลิตเป็นไปในปริมาณที่เหมาะสม และจะช่วยป้องกันการใช้สารกำจัดแมลง ปุ๋ย หรือทรัพยากรธรรมชาติเช่น น้ำ ในปริมาณที่มากเกินไป
การทำ precision agriculture เป็นการจัดการการเพาะปลูกที่ใช้ประโยชน์ของ digital ในการควบคุมดูแล และวิเคราะห์ความต้องการของพืชแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่เพาะปลูก วิธีการนี้จะช่วยให้เกษตรกรจัดการกับความเปลี่ยนแปลงของดินเพื่อปรับการใช้ปุ๋ยและสารกำจัดแมลง ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุนและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างบริษัทที่โดดเด่นในเรื่องนี้ได้แก่ Yara และ Nutrien โดยทั้ง 2 บริษัทมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางเลือกจากชีวภาพและการทำ precision farming

3 Natural food preservatives
เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรนั้นมีอย่างจำกัด ยากำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยจึงมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความสามารถในการผลิตของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยให้มีปริมาณอาหารเพียงพอกับความต้องการ แต่อย่างไรก็ตามการจำกัดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ยังเป็นประเด็นสำคัญ การถนอมอาหารด้วยวิธีธรรมชาติหรือจุลินทรีย์จะมีบทบาทมากขึ้น โดยมีการคาดว่าตลาดจะเติบโตจาก 796 ล้านดอลลาร์ ในปี 2561ไปที่ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2571

4 Organic feed
ความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารยังมีอัตราการเติบโตที่สูง การทำการเกษตรอย่างยั่งยืนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำ Organic farm จะช่วยรักษาคุณภาพของดิน ลดผลกระทบจากความหลากหลายทางชีวภาพ และช่วยสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งอาจช่วยสร้างผลกำไรได้มากกว่าเกษตรกรรมแบบเดิม ปัจจุบันบางบริษัทผู้ผลิตอาหารเริ่มมีการสนับสนุนการเกษตรลักษณะนี้ เช่นการ พัฒนาคุณภาพดินผ่านการลดการใช้สารเคมี ปลูกพืชหมุนเวียน หรือนำส่วนที่เหลือจากการเพาะปลุกมาเป็นปุ๋ย ขณะเดียวกันบริษัทด้านเการเกษตรกรรมบางแห่งเริ่มนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองการเป็นเกษตรอินทรีย์

5 Certified sustainable products
1 ใน 3 ของพื้นที่กว่า 16 ล้านตารางกิโลเมตร ที่ใช้ในการเพาะปลูกนั้นกำลังเสื่อมคุณภาพลงจากการกร่อน สูญเสียแร่ธาตุในดิน มลพิษ และจากการขาดวิธีจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน  ทำให้พื้นที่เหล่านั้นจะสร้างผลผลิตได้น้อยลง ปลูกพืชบางชนิดไม่ได้ ไปจนถึงดูดซับความชื่นได้น้อยลง การเสื่อมคุณภาพลักษณะนี้จะยิ่งทำให้ปัญหา climate change ยิ่งแย่ลง และเป็นตัวเร่งให้คุณภาพดินเสื่อมเร็วขึ้น ส่งผลโดยตรงกับความสามารถการผลิตอาหารของโลก การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืนจึงเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น และช่วยส่งเสริมให้เกิดการตระหนักถึงการเกษตร การผลิตอาหารที่อย่างยั่งยืน

6 Using fish waste
การเติบโตของอุตสาหกรรมประมงทั่วโลกส่งผลเสียกับสัตว์ทะเลอย่างมีนัยสำคัญจากอัตราการบริโภคที่สูงกว่าอัตราการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ ข้อมูลจาก Planet Tracker รายงานว่าประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการทำประมงมากที่สุดในโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการผลิตอาหารทะเลที่ลดลงถึง 66% ในช่วงปี 2528-2560 ทำให้บริษัทธุรกิจประมงเลี้ยงกำลังหาทางออกเพื่อลดการพึ่งพาปริมาณสัตว์น้ำในธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตอาหาร หันไปใช้ผลพลอยได้จากสัตว์น้ำแทนการใช้สัตว์น้ำในธรรมชาติเพื่อการผลิตอาหารสัตว์

7 Integrated multi-trophic aquaculture
Aquaculture เป็นการเพาะเลี้ยงพืชและสัตวน้ำชนิดต่าง ๆ ภายในสภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุมและช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพแวดล้อม บางบริษัทเริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบ aquaculture ที่มีการหมุนเวียนซึ่งช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของสาหร่ายทะเลที่อาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล ไปจนถึงโรคต่างๆ อุตสาหกรรม aquaculture มีมูลค่าราว 2.3 แสนล้านบาทและมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึง 6% ต่อปีมาตั้งแต่ปี 2543

8 Using recycled plastic
กฎหมายในหลายประเทศกำลังให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โดยเน้นการใช้วัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลมากขึ้น และลดการใช้พลาสติกแบบ single-use เช่นในปี 2564 นี้ที่ทางสหภาพยุโรปได้มีการห้ามใช้ single-use plastic อย่างเป็นทางการ ขณะที่สหราชอาณาจักรจะมีการจัดเก็บภาษีหากบรรจุภัณฑ์มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลน้อยกว่า 30% โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า

9 Reducing food waste
การจัดการห่วงโซ่คุณค่าทางอาหารที่ไม่มีประสิทธิภาพจะสามารถส่งผลต่อโครงสร้างต้นทุนขององค์กรได้ ซึ่งอาจนำไปสู่รายได้ที่ลดลง อัตรากำไรที่ลดลง และผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นที่ลดลง ขยะจากเศษอาหารและบรรจุภัณฑ์กำลังส่งผลเสียต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้ยังมีประชากรโลกอีกจำนวนมากยังต้องเผชิญความอดอยาก ในขณะที่ยังมีประชากรอีกจำนวนหนึ่งสามารถใช้ทรัพยากรได้มากเกินความจำเป็นที่มีผลกับ climate change ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของนักลงทุนที่จะส่งผลไปถึงต้นทุน รายได้ ไปจนถึงชื่อเสียงขององค์กร

10 Recovering waste
มีการคาดการณ์ว่า หากไม่มีการร่วมมือแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณขยะจากเศษอาหารมากถึง 2.1 พันตันในปี 2573  หรือมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยการแก้ปัญหานี้ทำได้โดยการนำขยะหรือของเหลือมาแปรรูปเพื่อให้เกิดประโยชน์และเพิ่มมูลค่าได้ เช่นการนำน้ำมันจากการทำอาหารมาเข้าสู่กระบวนการเป็น biodiesel