CELP Summit สู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
เปิดเวที CELP Summit 2021 ฟังความเห็นจากผู้นำในอุตสาหกรรมกับประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน และสร้างความตระหนักให้พลเมืองของโลก เพื่อปรับพฤติกรรมการบริโภคสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
ในการประชุม The Circular Economy Leadership & Partnership Summit หรือ CELP Summit 2021 เมื่อวันที่ 17-18 มี.ค.2564 โดย สอวช.ร่วมกับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำในอุตสาหกรรมที่จะมาแบ่งปันแลกเปลี่ยนแนวทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตลอดจนเพื่อเป็นเวทีที่จะพูดคุยเพื่อสร้างความตระหนักให้พลเมืองของโลก ในการปรับพฤติกรรมการบริโภคไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
เวทีประชุมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก Mr.Mushtaq Memon ผู้ประสานงานระดับภูมิภาคเพื่อการใช้งานทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในเอเชียและแปซิฟิก ที่ให้ข้อมูลว่า ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มการเติบโตของจำนวนประชากร โดยภายในปี 2573 สัดส่วน 2 ใน 3 ของประชากรชนชั้นกลางของโลกจะอาศัยอยู่ในเอเชียแปซิฟิก และจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจาก 7 พันล้านคนในปัจจุบัน เป็น 9 พันล้านคนภายในปี 2593
ส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาของเศรษฐกิจและการค้าระดับโลก การเพิ่มขึ้นของคนชนชั้นกลางยังส่งผลต่อรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป และการเพิ่มขึ้นของการอุปโภคบริโภคสินค้า เมื่อปริมาณการบริโภคสูงขึ้น จะทำให้เกิดการขาดแคลนทรัพยากร เกิดความผันผวนของราคาสินค้า การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงสร้างมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ทั้งมลภาวะทางน้ำ ทางอากาศ
เราจึงควรหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเริ่มจากการเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรงสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดการใช้และการบริโภคทรัพยากรทางธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินการต้องมีการร่วมมือกันระหว่างรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ มีกรอบการกำกับดูแล การออกแบบทางภาษีที่เกี่ยวข้อง ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ในการสนับสนุนด้านการลงทุน เทคโนโลยี นวัตกรรม องค์ความรู้
ประชาชนในสังคมที่ต้องตระหนักในการร่วมกันขับเคลื่อน ร่วมปฏิบัติ สร้างวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา UNEP ได้จัดกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อผลักดันในด้านนี้ เช่น การจัดคอร์สสอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน การจัดเวิร์คชอปการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะอย่างยั่งยืน การจัดระบบสัมมนาออนไลน์ด้านนวัตกรรม และสตาร์ทอัพสำหรับเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
ขณะที่บทบาทของ สอวช.ในปีที่แล้วได้ทำสมุดปกขาวด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปฏิบัติ ส่วนหนึ่งคือการร่วมกันแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่ในเรื่องการจัดการปัญหาขยะ ของเสีย และอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างโอกาสในธุรกิจใหม่ สร้างกิจกรรมทางธุรกิจที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งยังได้ออกแบบโปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมและเทคโนโลยี (CE Anchor Programs) ประกอบด้วย CE Champions สนับสนุนข้อริเริ่มที่มีผลกระทบสูงด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคเอกชน, CE Platforms พัฒนาช่องทางในการแก้ปัญหา เพื่อรองรับกลุ่มผู้เล่นต่างๆ ที่หลากหลาย, CE R&D ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และ CE Citizen สร้างคนและตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ส่วนในปีนี้จะดำเนินการต่อเนื่องตามโมเดลการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการแลกเปลี่ยนของเสีย/วัสดุเหลือใช้ซึ่งกันและกัน การขนส่งสินค้าคืนสู่ผู้ผลิตและรีไซเคิล การหมุนเวียนอาหารเหลือทิ้ง แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสมาร์ทซิตี้ เป็นต้น
การประชุมครั้งนี้ยังพูดคุยประเด็นครอบคลุมในหลายหัวข้อ ร่วมกับตัวแทนผู้นำจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ แพลตฟอร์มระบบนิเวศเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทยและในต่างประเทศ, บทบาทของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ พร้อมกรณีศึกษาในต่างประเทศ ทั้งจากออสเตรเลีย จีน เกาหลี อินเดีย และเนเธอร์แลนด์ ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรและพัฒนาความร่วมมือระดับโลกในบทบาทของรัฐบาล