'ซีอาร์จี' กางแผนขยายสาขา ลุยเมนูกัญชง-กัญชา
"ซีอาร์จี" กางแผนธุรกิจชุดใหญ่ลุย 5 กลยุทธ์ พลิกรายได้ทะลุ 1.2 หมื่นล้านปีนี้ ดัน 16 แบรนด์ สยายปีกจุดขาย-โมเดลใหม่ รุก "ดีลิเวอรี่" บูมเมนูกัญชากัญชง
นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี (CRG) เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมรุกธุรกิจพลิกฟื้นการเติบโตในปี 2564 หลังจากรัฐบาลเดินหน้าแผนกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึงและประเทศไทยมีสัญญาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจชัดเจนมากขึ้น ทั้งในแง่กำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการจับจ่ายของผู้คน โดยซีอาร์จีกำหนดยุทธศาสตร์เดินหน้าชุดใหญ่ภายใต้แผน CRG 2021 : TRANSFORM FOR THE FUTURE สู่เป้าหมายการเป็นเครือข่ายร้านอาหารที่ก้าวข้ามทุกข้อจำกัด
โดยมี 5 กลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย
กลยุทธ์การขยายช่องทางการตอบโจทย์ลูกค้าอย่างหลากหลายและครบถ้วนใน 1 มื้อ (New Way to Serve the Customers) อาศัยจุดแข็งด้านเครือข่ายร้านอาหารทั้ง 16 แบรนด์ จำนวนสาขามากกว่า 1,100 สาขา พนักงานมากกว่า 10,000 คน และเมนูที่มีมากกว่า 800 เมนู รองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์ โดยเฉพาะรูปแบบร้านแนวใหม่ Shop in Shop ซึ่งนำร่องเปิดเคาน์เตอร์อาริกาโตะร่วมกับร้านมิสเตอร์ โดนัท และกลยุทธ์ Cross Sale ของทุกแบรนด์ในเครือ เช่น นำเมนูจาก บราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) ขายในร้านคัตสึยะเพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ และตอบโจทย์ลูกค้าได้ครบถ้วนมากขึ้น คาดว่าจะขยายสาขาที่มีบริการ Cross Sale ได้มากกว่า 400 สาขา
พร้อมกันนี้ มีการผนึกกำลังกันของแบรนด์ในเครือเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการ อาทิ ล่าสุดแบรนด์ไทยเทอเรส และ อร่อยดี นำร่องขานรับนโยบาย "ปลดล็อกกัญชา" ร่วมกันพัฒนาเมนูอาหารมากกว่า 10 เมนู ที่ปรุงจากใบกัญชาออร์แกนิกที่สั่งซื้อจาก วิสาหกิจชุมชนผัก พืชสมุนไพรและพืชพลังงาน ตำบลพนมรอก จ.นครสวรรค์ ที่ได้รับมาตรฐาน ควบคุมคุณภาพการปลูกทุกขั้นตอน จึงมั่นใจได้ในคุณภาพใบกัญชาที่สดใหม่ ปลอดภัย และมีคุณภาพดี รวมทั้งมีแผนขยายไปยังแบรนด์อื่นๆ ในเครือซีอาร์จีต่อไป
กลยุทธ์การขยายสาขาโมเดลใหม่ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ลูกค้า (New Way to Expand) และเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะปีนี้เตรียมเปิดตัว Mobile Box Model ในสถานีบริการน้ำมันและมินิคีย์ออส (Mini Kiosk) ต่อจากโมเดลร้านเดลโก้ (Delco) ที่เปิดตัวก่อนหน้านี้และขยายสาขาได้คล่องตัว เข้าถึงกลุ่มลูกค้าในสถานที่และแหล่งชุมชนต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์เดินหน้าบริการดีลิเวอรี่และคลาวด์คิทเช่น (Delivery & Cloud Kitchen) โดยวางเป้าหมายจะขยายจุดบริการดีลิเวอรี่ครอบคลุมมากที่สุด ส่วนคลาวด์คิทเช่นจะขยายครบ 15 แห่งภายในปีนี้ และปูพรมทั่วประเทศอย่างน้อย 50 แห่ง ภายในปี 2566 มีการจับมือกับพาร์ตเนอร์รายใหม่ ๆ เข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในทุกด้าน
กลยุทธ์การรุกช่องทางออนไลน์และเจาะกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้น (Go Digital & Omnichannel) มุ่งโฟกัส O2O หรือ Online to Offline (ออนไลน์ทูออฟไลน์) เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผ่านอีคอมเมิร์ซและระบบแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำต่าง ๆ เช่น JD Central, Shopee และ LAZADA
กลยุทธ์รุกขยายแบรนด์ใหม่ ร้านอาหารแนวใหม่และธุรกิจใหม่ (New Brand & Business) โดยปีนี้ ซีอาร์จีจะมีแบรนด์ร้านอาหารใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2-3 แบรนด์ และยังเปิดกว้างความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายใหม่ เพราะถือเป็นยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจที่สามารถฝ่าวิกฤตโควิดและประสบความสำเร็จ ทั้งการผลักดันยอดขายปีที่ผ่านมาเติบโตมากกว่า 2 เท่า แบบ win-win ทั้งสองฝ่าย
“ปีที่ผ่านมา ซีอาร์จี มีพาร์ทเนอร์รายใหม่และประสบความสำเร็จมาก อย่างสลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) สามารถผลักดันยอดขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่เติบโตสูงถึง 400% และในปีนี้ตั้งเป้าผลักดันยอดขายรวมเติบโต 2 เท่า รวมทั้งจับมือกับ โออาร์ (OR) ขยายเครือข่ายร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอนในประเทศเวียดนาม ล่าสุดเปิดสาขาแล้ว 5 แห่ง ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือนนับจากสาขาแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2020 และได้รับการตอบรับจากชาวเวียดนามอย่างดีเยี่ยม”
นายณัฐ ย้ำว่า ช่วงวิกฤติโควิดตลอดปี 2563 ซีอาร์จีมีการปรับแผนงานต่อเนื่องให้ทันกับทุกสถานการณ์และอาศัยความแข็งแกร่งผ่านพ้นปัจจัยลบต่าง ๆ แม้ภาพรวมรายได้ปีที่ผ่านมาไม่เติบโต แต่สามารถดับเบิลเซลผ่านช่องทางใหม่ ๆ และธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะดีลิเวอรี่และออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง อัตราเติบโตสูงมากสำหรับปี 2564 บริษัทมั่นใจเศรษฐกิจไทยเริ่มพลิกฟื้นจากการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่ดีเยี่ยมของทางการ แม้เกิดเหตุแพร่ระลอกใหม่หรือเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า เริ่มมีการจ้างงานและการท่องเที่ยวน่าจะกลับมาเติบโตได้ในเร็ว ๆ นี้ โดยซีอาร์จีเตรียมพร้อมทุกด้านและตั้งเป้าหมายรายได้ปีนี้จะเติบโตจากปีก่อนเกือบ 18-20% หรือมากกว่า 12,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทิศทางการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารจะรุนแรงมากขึ้นและเน้นสมรภูมิดีลิเวอรีกับดิจิตอลออนไลน์ เนื่องจากการแข่งขันไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มเชนธุรกิจอาหารรายใหญ่อีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่นอกธุรกิจอาหารที่กระโดดเข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ กลุ่มเอสเอ็มอี และกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่สนใจทำธุรกิจอาหาร ซึ่งทำให้ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารน่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตได้
ซีอาร์จี หนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ปัจจุบัน ซีอาร์จี ในฐานะผู้รับสิทธิ (Franchisee) ที่มีความชำนาญ ประสบการณ์อันยาวนานมากกว่า 40 ปี ในการบริหาร และจัดการธุรกิจร้านอาหารที่ได้รับการยอมรับจากเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) มีแบรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่หลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทอาหาร มีจำนวนสาขารวม 1,175 สาขาทั่วประเทศ (ณ วันที่ 26 ม.ค. 2564)
แบรนด์ในกลุ่มซีอาร์จี 16 แบรนด์ ประกอบด้วย มิสเตอร์ โดนัท (Mister Donut) เคเอฟซี(KFC) อานตี้ แอนส์ (Auntie Anne’s) เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) ชาบูตง ราเมน (Chabuton) โคล สโตน ครีมเมอรี่ (Cold Stone Creamery) ไทยเทอเรส (Thai Terrace) โยชิโนยะ (Yoshinoya) โอโตยะ(Ootoya) เทนยะ (Tenya) คัตสึยะ (Katsuya) อร่อยดี (Aroi Dee) อาหารจีนเกาลูน (Kowlune) สลัดแฟคทอรี่ (Salad Factory) บราวน์ คาเฟ่ (Brown Café) และ อาริกาโตะ (Arigato)
พร้อมบริการเดลิเวอรี่อร่อยได้ทุกร้านผ่านโมบายล์แอพพลิเคชั่น “FOODHUNT” และโทร 1312