ไทยตั้งเป้าขึ้น 'ท็อปเท็น' อันดับประเทศทำธุรกิจง่ายใน 2 ปี
ในแต่ละปีธนาคารโลก(World Bank) ได้มีการเก็บข้อมูลด้านต่างๆเพื่อการประเมินคะแนนความยากง่ายการทำธุรกิจ หรือ Ease of doing Business ของไทยในปีที่ผ่านมาเพื่อนำไปประเมินและให้คะแนนสำหรับการจัดอันดับในกลุ่มสมาชิก 190 ประเทศ ซึ่งปัจจุบันไทยอยู่ลำดับ 21
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมรายงานผลการดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมสำหรับการประกอบธุรกิจในประเทศไทยของธนาคารโลก (Doing Business) ว่าได้ตั้งเป้าหมายการทำงานในเรื่องนี้ว่าภายในปี 2565 หรืออีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องได้รับการจัดอันดับเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่ได้รับการจัดอันดับความยากง่ายในการจัดตั้งธุรกิจ
ทั้งนี้ได้สั่งการในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบการบริการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ในส่วนที่เป็น National Single Window(NSW) ที่ได้วางระบบไว้แล้วของทุกส่วนให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกันได้จริงภายในเดือน ก.ย.นี้เพื่อให้ขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง NSW มีความรวดเร็วมากขึ้น
“ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงเรื่องต่างๆให้มีความคล่องตัวซึ่งได้มีการเร่งรัดในทุกด้านซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆด้วย ซึ่งการที่จะขึ้นไปถึงอันดับท็อปเท็นของโลกก็ต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่งมาเลเซีย และอินโดนิเซียที่มีอันดับใกล้เคียงกับประเทศไทยด้วย”
อารีพันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่าโดยข้อมูลที่มีการเก็บเพิ่มเติมคือคำถามที่ว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19 ขึ้นได้มีการให้บริการประชาชนและธุรกิจในรูปแบบใด ซึ่งในเรื่องนี้ประเทศไทยก็มีข้อได้เปรียบเพราะได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาให้บริการประชาชนให้มีความต่อเนื่อง รวมทั้งในปีที่ผ่านมา ก.พ.ร.สนับสนุนให้หน่วยงานราชการมีการทำแผนบริหารความต่อเนื่อง Business Continuity Plan(BCP) ในการปฏิบัติงานและให้บริการซึ่งในเรื่องนี้จะทำให้ธนาคารเห็นความพร้อมของระบบราชการไทยในการให้บริการในภาวะที่มีวิกฤติ
สำหรับการดำเนินการในด้านต่างๆที่เป็นการปฏิรูปการทำงานในเรื่องของการทำธุรกิจในประเทศไทย แบ่งเป็น 11 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ โดยลดระยะเวลาการจองชื่อเหลือ 0.5 วันด้วยเทคโนโลยี AI 2.ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง สามารถยื่นขอแบบออนไลน์ 3. การขอใช้ไฟฟ้ายกเลิกการเรียกเก็บหลักประกัน ให้บริการการขอใช้ไฟฟ้าใหม่ได้ภายใน 14 วันปฏิทิน
4.ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน ติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture : EDC QR Code) 5.การได้รับสินเชื่อ เชื่อมโยง“ระบบค้นหาข้อมูลหลักประกัน” ของ Bizportal เข้า กับระบบ “ตรวจค้นข้อมูลสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 6.ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียง ข้างน้อยยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนให้มี ความสะดวกในการจัดประชุมและส่งเอกสารของบริษัทผ่าน ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-meeting, e-delivery และ e-proxy)
7.ด้านการชำระภาษี พัฒนาระบบ e-Withholding Tax (ระบบภาษีหัก ณ ที่จ่าย อิเล็กทรอนิกส์) 8.ด้านการค้าระหว่างประเทศ ระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทยให้ เป็นปัจจุบัน 9.ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยเพิ่มช่องทางการเข้าซื้อทรัพย์ของกรมบังคับคดี
10.ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย เช่น สร้างระบบงานสำนวนคดีล้มละลายอิเล็กทรอนิกส์ เต็มรูปแบบ (e-Insolvency Case Management System) และด้านที่ 11.การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพิ่มจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรวบรวมข้อจำกัดในการจัดซื้อจัด จ้างภาครัฐ และขยายผลการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ เกิดขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น