เริ่มแล้ว! เกณฑ์คิด 'ดอกเบี้ย' ผิดนัดชำระ แบบใหม่จาก 'ธปท.' ที่คนมี 'หนี้' ต้องรู้
ลูกหนี้ต้องรู้! เกณฑ์คิด "ดอกเบี้ย" ผิดนัดชำระ แบบใหม่ 1 เม.ย. 64 จาก "ธนาคารแห่งประเทศไทย" (ธปท.)
อัพเดท! สำหรับคนมีหนี้ "ธนาคารแห่งประเทศไทย" เริ่มใช้เกณฑ์ "การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้" และ "อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้" แบบใหม่จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อช่วยลดหนี้เสีย และลดภาระหนี้ของประชาชน เริ่มใช้เกณฑ์ 1 เม.ย. 64
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 3 เรื่องที่คนมีหนี้ต้องรู้ และทำความเข้าใจในการวางแผนชำระหนี้ในช่วงวิกฤติแบบนี้ และไม่โดนเอาเปรียบตาม 3 เกณฑ์ใหม่ ดังนี้
1. คิด "ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้" ตาม "เงินต้นที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น
การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่ จะไม่ให้รวมส่วนของ "เงินต้นของค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ" ซึ่งต่างจากแบบเดิมที่หากผิดนัดชำระหนี้เพียงงวดเดียว ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากฐานเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าดอกเบี้ยผิดนัดสูงมาก ซึ่งเกณฑ์ใหม่นี้จะทำให้การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และเกิดความเป็นธรรมกับประชาชนมากขึ้น
2. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ "อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%"
เช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาคือ 8% ผู้ให้บริการทางการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 11% โดยต้องคำนึงถึงประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาด้วย ซึ่งต่างจากเดิมที่ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เอง
เช่น กำหนดตามอัตราดอกเบี้ยสูดสุดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ 15% หรือบางกรณีสูงถึง 18% หรือ 22% ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ (affordability risk) ได้ ดังนั้น การปรับเกณฑ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้ลูกหนี้พยายามจ่ายชำระหนี้ ลดโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ และยังช่วยให้ระบบการเงินมีความสมดุลมากขึ้น การฟ้องร้องดำเนินคดีจะลดลง
3. การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยให้ "ตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก"
เพื่อให้ลูกหนี้ทราบลำดับการตัดชำระหนี้ที่ชัดเจน โดยเมื่อลูกหนี้ชำระหนี้ เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปจ่ายค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของงวดหนี้ที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน
ต่างจากแนวทางเดิมที่เงินที่จ่ายเข้ามาจะถูกนำไปตัดค่าธรรมเนียมทั้งหมด ตามด้วยดอกเบี้ยทั้งหมด ก่อนนำเงินส่วนที่เหลือมาตัดเงินต้น ซึ่งการปรับเกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้เงินงวดที่ลูกหนี้ผ่อนในแต่ละเดือนสามารถตัดถึงเงินต้นได้มากขึ้น
เกณฑ์นี้ช่วยลดการเกิด "หนี้ด้อยคุณภาพ" หรือ "NPL" รวมทั้งช่วยให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการจ่ายชำระหนี้ต่อเนื่อง และยังช่วยให้ประวัติการผ่อนชำระหนี้ของลูกหนี้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงมากขึ้นด้วย