บทเรียนราคาแพง 'H&M' ปมแบนใช้ฝ้ายซินเจียง
บทเรียนราคาแพง "H&M" ปมแบนใช้ฝ้ายซินเจียง ขณะ H&M ยืนยันพันธะสัญญาและความร่วมมือระหว่างบริษัทกับจีนยังคงเหนียวแน่น บริษัทยังคงมุ่งมั่นฟื้นความเชื่อใจและความมั่นใจของผู้บริโภค ผู้ร่วมงาน และหุ้นส่วนในจีน
H&M ผู้ผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสัญชาติสวีเดน และยักษ์ใหญ่ค้าปลีกสินค้าแฟชั่นอันดับสองของโลก ผู้จุดชนวนการแบนฝ้ายซินเจียงจนนำไปสู่การแก้แค้นของลูกค้าชาวจีน และเรื่องนี้ลามไปเป็นประเด็นระหว่างประเทศ เป็นความขัดแย้งของชาติตะวันตกและจีน จากปมการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ที่มีอยู่นานแล้ว แต่ถูกขุดคุ้ยขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
ผลพวงที่H&M ได้รับคือการขาดทุนย่อยยับในไตรมาสแรก โดย H&Mรายงานผลประกอบการช่วงเดือนธ.ค.-ก.พ. ซึ่งเป็นไตรมาสแรกของปีการเงินบริษัทว่าขาดทุน 1,390 ล้านโครนา ( 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)เทียบกับปีก่อนหน้านี้ที่มีกำไรอยู่ที่ 2,500 ล้านโครนา หลังจากถูกลูกค้าชาวจีนเปิดศึกโต้กลับกรณีที่บริษัทประกาศไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียงที่ใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์
นอกจากขาดทุนแล้ว H&Mยังปิดสาขาจำนวนมากในหลายประเทศก่อนหน้านี้ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้มูลค่าหุ้นของบริษัทลดลง 2% ในการซื้อขายวันพฤหัสบดี(1เม.ย.)
ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น)ยืนยันว่ามีชาวอุยกูร์อย่างน้อย 1 ล้านคนถูกกักตัวไว้ในค่ายเพื่อปรับทัศนคติและมีการบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในโรงงานสิ่งทอ ทั้งยังมีการละเมิดความเป็นส่วนตัวในหลายรูปแบบตั้งแต่ติดตั้งแอพพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสทางโทรศัพท์ เพื่อดูเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา การล่วงละเมิดทางเพศ และการสังหารหมู่
ในส่วนของรัฐบาลจีน ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่าง ๆ พร้อมยืนยันว่าค่ายดังกล่าวเป็นโรงเรียนฝึกหัดอาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการบรรเทาความยากจนของประเทศเท่านั้น
การกระทำของ H&M ปลุกกระแสรักชาติในหมู่ชาวจีน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบาล บุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆทั้งบันเทิง และธุรกิจ พากันแบนสินค้าที่กล่าวหาจีนว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งสินค้าที่ถูกชาวจีนบอยคอตมีแบรนด์ดังอย่างไนกี้ อะดิดาส เบอร์เบอร์รี ฮิวโก บอสส์ และซารา รวมอยู่ด้วยในฐานะที่บริษัทแบรนด์ดังเหล่านี้ประกาศจุดยืนไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง
แต่H&M แถลงในเว็บไซต์ของบริษัทว่า พันธะสัญญาและความร่วมมือระหว่าง H&M กับจีนยังคงเหนียวแน่น บริษัทยังคงมุ่งมั่นเพื่อฟื้นความเชื่อใจและมั่นใจกับผู้บริโภค ผู้ร่วมงาน และหุ้นส่วนในจีนให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค และเคารพซึ่งกันและกัน
ในแถลงการณ์ล่าสุดของ H&M ไม่ได้ระบุถึงประเด็นซินเจียงอุยกูร์แต่อย่างใด แต่จีนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของ H&M และเป็นแหล่งวัตถุดิบอันดับหนึ่งของบริษัท
บรรดานักวิเคราะห์ มีความเห็นว่า การที่สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ และสหภาพยุโรป(อียู)คว่ำบาตรจีนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ เป็นแค่การแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เป็นส่วนใหญ่ และคาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและพฤติกรรมของจีนมากนัก เพราะจีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก และที่สำคัญชาวจีนมีกำลังซื้อมหาศาล และเป็นตลาดใหญ่ การทิ้งตลาดนี้ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้
จุดจบของเรื่องนี้ น่าจะเป็นไปในทำนองเดียวกับที่นักวิเคราะห์มอง อำนาจเงินตราน่าจะมีชัยเหนือจุดยืนในการดำเนินธุรกิจ เพราะหลังจากเจอกระแสต้านจากลูกค้าชาวจีนอย่างต่อเนื่อง H&M และอีกหลายแบรนด์ก็พยายามพลิกสถานการณ์โดยเร็ว ทำให้ไม่พบข้อความในเว็บไซต์ของแบรนด์เกี่ยวกับการต่อต้านฝ้ายซินเจียงอีกเลย อย่างกรณีแบรนด์แฟชั่นอย่างซาราของสเปน ที่ตอนแรกมีแถลงการณ์ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการใช้แรงงานทาสในซินเจียง หรือกรณีฮิวโก บอสส์จากเยอรมนี ที่ไม่ได้เลิกใช้ฝ้ายผลิตสินค้า และยังคงสนับสนุนฝ้ายจากซินเจียงต่อ
นี่คือทางเลือกในการกอบกู้วิกฤติของแบรนด์ดัง เนื่องจากเดิมพันคือรายได้จากตลาดจีน ที่ถือเป็นตลาดใหญ่หล่อเลี้ยงธุรกิจ โดย H&M มีรายได้จากตลาดจีนในปี 2562 มูลค่า 1,400 ล้านดอลลาร์ มากเป็นอันดับ 3 รองจากเยอรมนี และสหรัฐ