'ไทยออยล์' เร่งแผน 'ซีเอฟพี' ต่อยอดลงทุนโอเลฟินส์อาเซียน
“ไทยออยล์” ที่มาฐานการผลิตหลักอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เตรียมเดินหน้าโครงการใหม่เพื่อต่อยอดโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่จะนำไปต่อยอดไปในตลาดอาเซียน
วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะเดินหน้าโครงการ Beyond CFP เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ต่อยอดจากโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันจากเดิม 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเสร็จปี 2566 มีความคืบหน้า 60-70% ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
รวมทั้งจะมีผลพลอยได้เป็นวัตถุดิบ (feedstock) เพิ่มขึ้น 2.2 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว 6 แสนตัน มี Light naphtha 7 แสนตันต่อปี ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมี Heavy naphtha 8 แสนตันต่อปี ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์
และปัจจุบันไทยออยล์ มีบริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) อยู่แล้วและมีขนาดกำลังการผลิตค่อนข้างใหญ่ ฉะนั้น หลังโครงการ CFP ก็จะทำให้มี Heavy naphtha กำลังการผลิตเพิ่ม สามารถไปขยายกำลังผลิตอะโรเมติกส์ของบริษัทได้ แต่โอเลฟินส์ ไทยออยล์ยังไม่มี ซึ่งหลังโครงการ CFP จะทำให้มี feedstock เพียงพอที่จะต่อยอดโอเลฟินส์ได้
ดังนั้น บริษัท มีแผนจะไปร่วมทุนกับพันธมิตรในโครงการต่างๆ เพื่อเข้าไปสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ขั้นต้น(upstream) ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทที่ลงทุนในโรงโอเลฟินส์อยู่แล้ว ฉะนั้น นโยบายของบริษัทอยากเข้าไปร่วมลงทุนมากกว่าการก่อสร้างใหม่ เพราะจะทำให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็วและยังใช้เงินลงทุนน้อยลง รวมร่วมลงทุนในประเทศที่ต้องการใช้ ซึ่งอาจส่งแนฟทาไปขายตรงในตลาดหรือไปร่วมลงทุนได้ จะทำให้เข้าไปในแวลูเชนเพื่อต่อยอดแนฟทาไปโอเลฟินส์และธุรกิจโอเลฟินส์ขั้นต้นได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ จะไปร่วมลงทุนในต่างประเทศที่มีโรงงานโอเลฟินส์ เพราะไทยมีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ล้น และส่วนหนึ่งต้องส่งออก ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนต้องนำเข้าโอเลฟินส์ไปต่อยอด เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม ดังนั้นการไปลงทุนในประเทศที่มีตลาดน่าจะสำเร็จมากกว่า โดยหวังว่าจะสรุปการเลือกพันธมิตรร่วมลงทุนได้เร็วสุดในปี 2564
ส่วนการลงทุนธุรกิจขั้นปลายของโอเลฟินส์ ต้องประเมินการตอบรับของตลาด ซึ่งในไทยหากตลาดยังมีขนาดเล็กอาจไม่คุ้มค่า อาจมองการลงทุนต่างประเทศ ซึ่งสนใจกลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสด 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 60,000 ล้านบาท พร้อมขยายการลงทุน
นอกจากนี้ ยังหาโอกาส "ธุรกิจใหม่" โดยตั้งเป้าหมายจะมีกำไร 5% ของพอร์ตธุรกิจ จะมุ่ง 2 ด้าน คือ Green Business เช่น การลงทุนเอทานอลกับบริษัท ทรัพย์ทิพย์ จำกัด และบริษัท อุบล ไบโอ เอทานอล รวมทั้งมองโอกาสร่วมลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 150 เมกะวัตต์ ที่ภาครัฐจะเปิดเสนอโครงการเดือน เม.ย.นี้
New Business จะมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) และสตาร์ทอัพ โดยจะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ 1. Manufacturing Technology 2. Better-Living Technology 3. Mobility and New Energy ที่เข้าไปลงทุนแล้ว 2 กองทุนในสหรัฐและอิสราเอล รวมถึงได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพ ที่มีการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์สำหรับใช้ในรถยนต์และโรงงาน เป็นต้น โดยปีนี้ บริษัท มีแผนจะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มเติม