‘หุ้นเหล็ก’คัมแบ็ค รับเปิดประมูลงานก่อสร้างใหม่
ปีนี้น่าจะได้เห็นหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาใส่เกียร์เดินหน้าเร่งเครื่องการลงทุนมากขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศเริ่มคลี่คลาย จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรยากาศในภาพรวมดูดีขึ้น เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปตั้งแต่เกิดโรคระบาด สิ่งแรกที่ภาครัฐให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการควบคุมโรคคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เยียวยาช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เน้นการกระตุ้นกำลังซื้อ แบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน
เวลานี้เมื่อการบริโภคภาคเอกชนเริ่มฟื้นแล้ว เชื่อว่าเครื่องยนต์ตัวอื่นๆ ก็จะเริ่มตามมา โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งอิงกับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก เลยพอที่จะควบคุมได้ ในขณะที่การนำเข้าและส่งออกควบคุมได้ยากกว่าเพราะส่วนใหญ่อิงกับปัจจัยภายนอก
ที่ผ่านมาภาครัฐส่งสัญญาณพร้อมแล้วที่จะเร่งเครื่องการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแรง ผ่านแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่กันเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ไว้ 4 แสนล้านบาท หลังก่อนหน้านี้อาจต้องโยกเงินบางส่วนไปใช้เยียวยาประชาชนเพิ่มเติม เนื่องจากเกิดการระบาดรอบใหม่เมื่อช่วงปลายปีก่อน
หากดูตามแผนงานแล้วปีนี้จะมีโครงการภาครัฐที่พร้อมเปิดประมูลใหม่มูลค่ารวมกว่า 4 แสนล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ, รถไฟทางคู่เส้นบ้านไผ่-นครพนม, รถไฟทางคู่เส้นเด่นชัย-เชียงของ ฯลฯ
แน่นอนว่าเมื่อรัฐลงทุนแล้ว ย่อมสร้างความมั่นใจให้เอกชนพร้อมที่จะใส่เงินลงทุนตาม หนุนธุรกิจรับเหมาก่อสร้างปีนี้คึกคักขึ้นหลังซบเซามานานหลายปี ราคาหุ้นรับเหมาเลยวิ่งรับข่าวดีขึ้นมาถ้วนหน้า ส่วนหุ้นชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้างกำลังตามมาติดๆ
ที่โดดเด่นออร่าจับช่วงนี้ต้องยกให้กับ “หุ้นเหล็ก” จากที่ทรุดหนักดูไม่มีอนาคต เริ่มกลับมาอยู่ในสายตาอีกครั้ง เพราะเหล็กถือเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการก่อสร้าง โดยสมาคมอุตสาหกรรมเหล็กโลกคาดว่าปริมาณการใช้เหล็กของโลกปีนี้จะขยายตัว 4% และคาดว่าไทยจะมีความต้องการใช้เหล็กรวม 17.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5% จากปีก่อน
สอดคล้องกัยการคาดการณ์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประเมินว่าการใช้เหล็กในประเทศของไทยปีนี้จะอยู่ที่ 17-18 ล้านตัน เติบโต 5-8% จากปีก่อน หลังกรมบัญชีกลางได้ออกประกาศกฎกระทรวง กำหนดให้การก่อสร้างของภาครัฐต้องใช้เหล็กที่ผลิตในประเทศไม่น้อยกว่า 90% ของมูลค่าหรือปริมาณเหล็กที่ใช้ในงานก่อสร้างทั้งหมด
เมื่อดีมานด์ฟื้นตัวหนุนให้ราคาเหล็กปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยล่าสุดราคาเหล็กเส้นในตลาดโลกอยู่ราวๆ 4,973 หยวนต่อตัน เทียบกับราคาปิดเมื่อปี 2563 อยู่ที่ระดับ 3,774 หยวนต่อตัน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยบวกหุ้นเหล็กคือการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ออกมาประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ มูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หวังสร้างงานในประเทศหลายล้านตำแหน่ง และกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19
โดยหลักๆ แล้วจะใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เช่น ถนน, ทางด่วน, สะพาน, ท่าเรือ, ท่าอากาศยาน วงเงินรวมกว่า 6.21 แสนล้านดอลลาร์
กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนให้นักลงทุนกลับมาซื้อหุ้นเหล็ก โดยดัชนีหุ้นเหล็กในการซื้อขายล่าสุด (2 เม.ย.) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.37% ส่วนตัวที่โดดเด่นขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดมีบริษัท โพสโค-ไทยน๊อคซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ INOX ปิดที่ 0.89 บาท เพิ่มขึ้น 0.03 บาท หรือ 3.49% ทำนิวไฮในรอบเกือบ 2 ปี
ตามด้วยบริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TSTH ปิดที่ 1.03 บาท เพิ่มขึ้น 0.07 บาท หรือ 7.29% เป็นนิวไฮในรอบกว่า 3 ปี ซึ่งทั้ง 2 ตัว ก่อนหน้านี้ซื้อขายกันวันละไม่กี่สิบล้าน แต่ช่วงนี้วอลุ่มหนาแน่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแตะหลักร้อยล้านบาทต่อวัน