เปิด 'แนวทาง 3 ระดับ' คุมโควิดระบาดใน 'สถานบันเทิง'
ศบค.เสนอมาตรการคุมเข้ม 3 ระดับ กลุ่มก้อน "สถานบันเทิง" กทม.กระจายไปแล้ว 7 จังหวัด ลั่นเจอติดเชื้อสั่งปิดทันที ขยายปิดสถานบันเทิงทั้งย่าน-ทั้งจังหวัด อย่างน้อย 14 วัน เผย "สงกรานต์" ยังเที่ยวได้ แต่ต้องเข้มมาตรการป้องกัน
วันนี้ (5 เม.ย.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า กลุ่มก้อนที่ศบค.ชุดเล็กให้ความเป็นห่วงและต้องจับตาเป็นพิเศษคือ กรณีเชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในกทม.และปริมณฑล ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2564 พบมีผู้ติดเชื้อแล้ว 71 ราย มีการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มก้อนใน 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ ปทุมธานี นครปฐม ชลบุรี เลย เชียงใหม่ และชุมพร ซึ่งในกทม.มีการพบการติดเชื้อในสถานบันเทิงหลายย่าน ทั้งทองหล่อ เอกมัย จตุจักร และรัชดา
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้มีการวิเคราะห์จุดอ่อนที่เป็นสิ่งต้องระมัดระวังคือ การระบายอากาศเพราะสถานบันเทิงในลักษณะผับบาร์ คาราโอเกะ มักจะมีเพดานต่ำมีอากาศปิดจึงไม่มีการระบายอากาศ นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยง คือ การคลุกคลีใกล้ชิดพูดคุยกัน อาจจะมีการตะโกน ไอ จาม หัวเราะไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย อาจจะมีการรับประทานอาหารเครื่องดื่มร่วมกัน มีการใช้ของใช้ ช้อน แก้วร่วมกันและยังพบอีกด้วยว่าพฤติกรรมของนักเที่ยวจะไปใช้บริการสถานบริการ ผับบาร์ คาราโอเกะหลายแห่งในคืนเดียว บางครั้งมีการข้ามจังหวัดใกล้เคียงไปยังกทม. ปทุมธานี นนทบุรี และนครปฐม เป็นต้น ทำให้เมื่อมีการติดเชื้อก็จะเกิดการแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว มีการนำไปติดครอบครัว พื้นที่สาธารณะ ขนส่งสาธารณะ พื้นที่ชุมชนหรือสถานที่ทำงาน เป็นต้น เพราะมักจะเป็นกลุ่มที่แข็งแรงดีแล้วติดเชื้อจะไม่มีอาการ
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สืบเนื่องจากข้อกำหนดมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มีการระบุไว้ว่า การดำเนินการ เพื่อการป้องกันควบคุมโรค พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้าตรวจและการดูแลการใช้สถานที่ และการดำเนินการของเจ้าของ หากพบว่ามีการความเสี่ยงต่อโรค เจ้าพนักงานมีอำนาจสั่งปิดสถานบริการเหล่านั้นเป็นการชั่วคราว เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ และกำหนดให้มีการจัดระเบียบและระบบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานการควบคุมโรคและจะสามารถเปิดบริการได้ เมื่อสามารถทำมาตรการได้เหมาะสม ศบค.ชุดเล็ก จึงนำเสนอมาตรการ 3 ระดับ คือ
1. หากพบผับบาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง มีการรายงานผู้ติดเชื้อยืนยัน จำเป็นต้องปิดสถานบันเทิงแห่งนั้นทันที และการปิดจะต้องดำเนินการระมัดระวังการควบคุมโรคอย่างสูงสุด เป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์
2. ถ้าสมมติพบว่าสถานประกอบการใดมีการพบรายงานผู้ติดเชื้อลักษณะเป็นโซน ไม่ใช่สถานที่เดียว แต่พบว่ามีสถานบันเทิงแห่งที่ 2 ที่ 3 ติดเชื้อด้วย จะมีปิดเป็นโซน เช่น ทองหล่อทั้งโซน เป็นต้น ต้องติดตามรายละเอียดต่อไป
3. หากสถานการณ์คุมไม่ได้ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาแล้วพบว่ามีการแพร่กระจายไปทั่วทั้งจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่ากทม.ร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาจจะพิจารณาปิดสถานบริการ สถานบันเทิงทั้งจังหวัด
"กทม.และนครบาลได้เชิญผู้ประกอบการสถานบันเทิงในกทม.เข้าร่วมหารือด้วยว่าจะช่วยกันเฝ้าระวังกทม.หรือพื้นที่ของเราให้ปลอดภัยอย่างไร ต้องติดตามมาตรการในระยะนี้อย่างใกล้ชิดนครบาลหารือ" พญ.อภิสมัย