หอการค้าไทย”ชงบอร์ดอีอีซี ปูทาง“เปิดประเทศ”รับลงทุน
ปธ.กก.เขตพื้นที่อีอีซี หอการค้าไทย ชี้ 3 อุปสรรค นักลงทุนเข้าอีอีซี แนะต้องเร่งแก้ไข เพื่อรับนักลงทุนต่างชาติหลังไทยเปิดประเทศ
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของภาคเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยและประเทศต่างๆทั่วโลก ที่นับเป็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกครั้งหลังจากที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าสถานการณ์น่าจะคลี่คลายในเวลาอันเร็วนี้ เนื่องจากมีการแจกจ่าย กระจายและฉีดวัคซีนโควิดกันแล้วในหลายประเทศ ทำให้แผนการ“เปิดประเทศ”เป็นทั้งความหวังเพื่อการท่องเที่ยวและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกและกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ต้องการนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก แต่ยังไม่สามารถเข้าประเทศได้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งการเข้าเมืองของตนต่างชาติและนักลงทุนมีปัญหา บางเรื่องเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องเจอบุคคลหรือผู้บริหารที่จะเข้ามาเซ็นสัญญา ดูโรงงานหรือประชุม แม้แต่ช่างเทคนิค วิศวกร หรือผู้เชี่ยวชาญที่ต้องเข้ามาดูการก่อสร้างโรงงานใหม่ การขยายโรงงาน ติดตั้งเครื่องจักรภายในโรงงาน โดยคนเหล่านี้จะเข้าประเทศก็มีปัญหา นักลงทุนบางคนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศและได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ก็ยังไม่สามารถเข้ามาได้
“ข้อเสนอ 3 เรื่อง จะเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ในเร็วๆนี้หลังจากที่หอการค้าไทยชุดใหม่มีการแบ่งงานความรับผิดชอบแล้ว ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งทำหลังจากนี้ไป”
โดยข้อเสนอของหอการค้าไทยฯนับเป็นสิ่งสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังเมื่อมีการเปิดประเทศ มี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.ลดอุปสรรคเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาในอีอีซีได้สะดวก โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้วัคซีน พาสปอร์ตแต่ก็ยังไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังจะต้องแก้ไขกฎหมายการเข้าเมือง การปรับปรุงหลักเกณฑ์ของคนเข้าเมืองโดยเฉพาะแรงงานต่างชาติที่มีฝีมือ แม้ว่าปัจจุบันจะมีการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆในการเข้าเมืองแบบพิเศษในเขตพื้นที่อีอีซีเพื่ออำนวยความสะดวกแต่ก็ยังเข้าไม่ได้ เช่น วีซ่าเข้าเมือง ซึ่งทางหอการค้าไทยจะเข้าไปดูว่าติดปัญหาอะไร ต้องแก้ไขในจุดไหน
2.การเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ทั้งที่ค้างอยู่และอยู่ในระหว่างการเจรจา เช่น เอฟทีเอไทย-อียู ,ไทย-ยูเค, ซีพีทีพีพี เป็นต้น ซึ่งไทยยังมีเอฟทีเอน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ ซึ่งเอกชนจะต้องเร่งรัดรัฐบาลให้เร่งเจรจาให้ได้เร็วที่สุด
3.การพัฒนาบุคคลากร หรือคน ซึ่งถือเป็นจุดอ่อนและพัฒนาได้ยากมากที่สุด ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีที่ต้องการบุคลากรเฉพาะ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีความพยายามในการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากรให้ตรงเป้าหมายที่ตลาดต้องการแต่ก็ยังไม่ได้มากเท่าไร โดยในเรื่องนี้ก็มักจะพูดเรื่องของตัวเลขการขาดแคลน ประมาณ 2 แสนคน แต่ไม่พูดถึงสาขาที่ต้องการ จึงควรที่จะเฉพาะเจาะจงในรายสาขาที่ขาดแคลนและมีความต้องการ ว่ามีระดับใด เช่น ปวส. ปริญญาตรี ปริญญาโท เป็นต้น และหากจะพัฒนาคน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต้องกำหนดลงไปให้ชัดเจน นอกจากนี้หลักสูตรต่างๆจำเป็นต้องมีการปรับปรุงด้วย
เรื่องของการพัฒนาคน ทางหอการค้าเข้าไปมีส่วนร่วม ทั้งโครงการทวิภาคี โรงเรียนร่วมพัฒนา โครงการการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรม เป็นต้น แต่ก็ติดอุปสรรคในเรื่องของการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ หากยังไม่แก้ไขจะไปทำเรื่องอื่นก็ยาก อาจต้องกระจายอำนาจการบริหารออกไปเพื่อไม่ให้รวมอยู่ที่ศูนย์กลางอย่างเดียว
“สิ่งที่อีอีซีทำได้ดีคือ โครงสร้างพื้นฐาน เพราะเป็นเรื่องเดียวที่ใช้งบประมาณที่สามารถทำได้เลย แต่ในส่วนอื่นๆที่ยังทำไม่ได้ แม้จะมีงบประมาณก็ยังทำไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่าภายในสิ้นปีนี้ อีอีซีจะกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะการลงทุน เพราะทุกคนเห็นแล้วว่า โครงการอีอีซีมันเกิดขึ้นจริง มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ทั้งรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือ สนามบิน นอกจากนี้ก็มีการลงทุนจากต่างชาติแล้ว เช่น อุตสาหกรรมบางประเภทก็มีการเซ็นสัญญาไปแล้ว บางอุตสาหกรรมก็เริ่มเข้ามาสร้างโรงงานแล้ว ”
ปรัชญา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องวัคซีนโควิด-19 ก็มีความสำคัญเช่นกันเพราะถือเป็นเรื่องสำคัญในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรมในอีอีซี เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีไม่สามารถหยุดเดินเครื่องโรงงานได้ หากว่ามีพนักงานติดโควิด-19หรือบุคลากรในโรงงานก็ไม่สามารถหยุดทำงานได้ ดังนั้นวัคซีนที่จะให้ในกลุ่มอีอีซีหรืออุตสาหกรรมหนักถือว่ามีความจำเป็นสูงสุด ซึ่งก็มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่ โดยจำนวนที่มีความต้องการอีอีซีก็หลายแสนคน แต่ทุกคนก็ไปโฟกัสที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเพราะคิดว่า บริษัทในอีอีซีสามารถดูแลเองได้ แต่เราไม่ควรมองข้าม เพราะเป็นเรื่องของความมั่นใจของนักลงทุนที่เข้ามา รัฐบาลให้ความสำคัญแค่ไหน ซึ่งหลายบริษัทที่เป็นบริษัทใหญ่จำต้องดูแลเรื่องนี้เอง แต่บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหยุดการผลิต เช่น รถยนต์ เพราะดีมานด์ลดลงไปมาก ทำให้ต้องปิดสายการผลิต จึงไม่ได้เรียกร้องเรื่องวัคซีนเท่าไรนัก เพราะพนักงานก็หยุดไป
ทั้งนี้ เห็นว่า รัฐบาลจะต้องกลับมามองการลงทุนของคนต่างชาติในอีอีซี แม้จะว่าจะเข้าใจรัฐบาลที่ไปโฟกัสเรื่องท่องเที่ยวเนื่องจากรายได้จากท่องเที่ยวหลายแสนล้านบาท แต่สิ่งการลงทุนของต่างชาติรัฐบาลต้องเข้ามาดูอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผู้บริหารในอีอีซีที่ต้องอำนวยความสะดวกให้เข้ามาให้ได้ วันนี้ต่างชาติอาจยังลงทุนในไทยแต่ในอนาคตไม่แน่นอน เพราะหากเรายังมีปัญหาเรื่องการบริหาร การเข้าเมือง มีอุปสรรคมาก ก็ทำให้ถูกมองเรื่องศักยภาพการอำนวยความสะดวก ซึ่งอาจทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศคู่แข่งได้