'โควิด-19' กลุ่ม 'สถานบันเทิง' กระจายแล้ว 18 จังหวัด

'โควิด-19' กลุ่ม 'สถานบันเทิง' กระจายแล้ว 18 จังหวัด

ติด "โควิด-19" พุ่ง รายใหม่ 334 ราย ใน 27 จังหวัด เฉพาะกทม. 216 ราย กลุ่ม "สถานบันเทิง" กระจายไปแล้ว 18 จ. ศบค.ชุดเล็กยึดมาตรการ 3 ระดับ ตีกลับแผนแบ่งโซนสีพื้นที่คุมการระบาดของสธ. โยนจังหวัดออกมาตรการเอง ไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ขออสม.ติดตามใกล้ชิด

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 7 เม.ย.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19(ศบค.) กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19รายใหม่ 334 ราย แบ่งเป็นระบบเฝ้าระวังและบริการ 174 ราย พบใน กทม. 83 รายยังไม่รวมกรณีของศิลปิน แสตมป์ อภิวัชร์ และบุคลากรรพ.ราชวิถี เชียงใหม่ 2 ราย ลำปาง 1 ราย ปทุมธานี 3 ราย สมุทรสาคร 12 ราย สุพรรณบุรี 8 ราย นครปฐม 1 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 6 ราย ขอนแก่น 2 ราย อุดรธานี 1 ราย ภูเก็ต 1 ราย สงขลา 1 ราย นราธิวาส 1 ราย โดยจังหวัดที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงใน กทม. คือ สมุทรปราการ 15 ราย ชลบุรี 6 ราย สระแก้ว 20 รายซึ่งพบการระบาดในสถานบันเทิงในจังหวัดด้วย อยุธยา 1 ราย นนทบุรี 8 ราย การคัดกรองเชิงรุก 153 ราย พบใน กทม. 133 ราย สมุทรปราการ 15 ราย ชลบุรี 5 ราย จากการคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 153 ราย กลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 7 ราย ผู้ป่วยสะสม 29,905 ราย รักษาอยู่ 1,741 ราย แบ่งเป็นอยู่ในโรงพยาบาล (รพ.) 1,206 ราย รพ.สนาม 455 ราย ในจำนวนนี้มีผู้อาการหนัก 13 รายและใช้เครื่องช่วยหายใจ 7 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 95 ราย โดยการระบาดรอบใหม่มีผู้ติดเชื้อสะสม 25,668 ราย เสียชีวิตสะสม 35 ราย

"ผู้ติดเชื้อรายใหม่พบในสมุทรสาคร 12 รายคิดเป็น 3.67 % กรุงเทพมหานคร(กทม.) 216 รายคิดเป็น 66.06 %% และจังหวัดอื่นๆ 99 รายคิดเป็น 30.28% โดยแนวโน้มของการติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและบริการ เริ่มสูงขึ้นเท่ากับในช่วงแรกของการระบาดที่ตลาดบางแค ซึ่งสถานการณ์น่าเป็นห่วง โดยสัปดาห์นี้ 4 วัน ตั้งแต่ 4-6เม.ย.ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่พบใน 27 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพียง 14 จังหวัด และมี 9 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ได้แก่ พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน อุทัยธานี บึงกาฬ สกลนคร พังงาปัตตานี และยะลา"พญ.อภิสมัยกล่าว

  • โควิด-19 คลัสเตอร์สถานบันเทิงกระจายไป 18 จังหวัด

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า คลัสเตอร์สถานบันเทิงในกทม. จะเห็นทิศทางของกราฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลตั้งแต่ 22 มี.ค.-6เม.ย.2564 มีผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงสถานบันเทิง 291 รายแล้ว ในพื้นที่ กรุงเทพฯ 200 ราย ชลบุรี 23 ราย สมุทรปราการ 18 ราย สุพรรณบุรี 14ราย นนทบุรี 13 ราย นครปฐม 7 ราย ปทุมธานี 5 ราย เชียงใหม่ 2 ราย ชุมพร 2 ราย สมุทรสาคร 2 ราย เลย กาญจนบุรี ตาก ลพบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามีในจ.ยโสธร เพชรบูรณ์และเชียงรายด้วย ซึ่งจะเห็นตามแผนที่ประเทศไทยว่า จากในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ตอนนี้มีการกระจายผู้ติดเชื้อรายงานที่ต่างจังหวัด


โควิด-19 กลุ่มสถานบันเทิง

  • ตีกลับแผนแบ่งโซนจังหวัดรับมือ โควิด-19 ของ สธ.

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า จากข้อเสนอของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ของ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เกี่ยวกับการทบทวนเรื่องการปรับระดับพื้นที่การกำหนดพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร เป็น 4 ระดับ คือพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง พื้นที่ควบคุม สีส้ม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด สีเหลือง และพื้นที่เฝ้าระวัง สีเขียวเพราะกรมควบคุมโรคมีความเป็นห่วงเรื่องของการที่สถานบันเทิงอาจจะมีการแพร่กระจายติดเชื้อข้ามพื้นที่ข้ามจังหวัด จากที่สถานบันเทิงหนึ่งปิดลงชั่วคราว ทำให้บุคลากรหรือพนักงานอาจจะมีการไปทำงานในอีกสถานที่หนึ่ง จึงมีการเสนอเรื่องของการปรับพื้นที่สีเป็นรายจังหวัดรายพื้นที่นั้น ศบค.ชุดเล็กได้มีการพิจารณาข้อเสนอของสธ.มีข้อสรุปว่ามาตรการที่มีอยู่เดิมก็มอบอำนาจให้สธ. ร่วมหารือกับกระทรวงมหาดไทย(มท.)เพื่อที่จะหาข้อสรุปมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วที่สุด ดังนั้น ในเรื่องของการปรับพื้นที่ 4 ระดับยังไม่มีการปรับพื้นที่สีตามที่สธ. เสนอ แต่อยากให้ประชาชนติดตามรายงานอย่างกระชั้นชิดเพราะ 1-2 วันนี้สธ.และมท จะหารือกันเรื่องนี้ในรายละเอียดด้วย

  • สธ.-มท.มีอำนาจปรับพื้นที่อยู่แล้ว

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า มาตรา 9 พรก.ฉุกเฉินรายละเอียด ฉบับที่ 15 มอบอำนาจให้สาธารณสุขและมหาดไทยหารือกัน เพื่อที่จะสามารถปรับพื้นที่ปรับสี ปรับมาตรการใดๆได้อย่างอิสระ และฉบับที่ 18 ระบุชัดเจนว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจหมายถึงตำรวจ มีอำนาจเข้าตรวจสอบการใช้อาคารสถานที่และการดำเนินการของเจ้าของ ผู้จัดการสถานที่ ให้เป็นไปตามแนวทางมาตรการป้องกันโรค รวมทั้ง หากพบการกระทำที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค เจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถที่จะให้คำแนะนำ ตักเตือน ห้ามปรามและมีอำนาจกำหนดช่วงเวลาให้มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค รวมถึงมีอำนาจเสนอให้มีการ สั่งปิดเป็นการชั่วคราว ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด/ผู้ว่ากทม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด สามารถพิจารณาพิจารณาปรับระดับพื้นที่ สถานการณ์ย่อยในระดับเขตพื้นที่ความรับผิดชอบ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโควิด19 ในช่วงเวลาต่างๆ

  • โยนจังหวัดออกมาตรการคุมโควิด-19 เอง

"ศบค.ชุดเล็กได้ข้อสรุปคือให้กลับไปที่พรก.ฉุกเฉิน ซึ่งมอบอำนาจให้กระทรวงสาสุขและมหาดไทยในการหารือร่วมกันและทำงานร่วมกับพื้นที่ทางผู้ว่าฯ ผู้ว่ากทมและคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถที่จะพิจารณาการจัดการ พื้นที่ลงรายละเอียดยิบย่อยได้แต่ละอำเภอเลย ถ้าพื้นที่มีความเห็นอย่างไรสามารถที่จะดำเนินการได้ตามความเห็นชอบของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่กล่าวมา"พญ.อภิสมัยกล่าว

รวมถึงพรบ.โรคติดต่อพ. ศ. 2558 มาตรา 35 ก็ให้อำนาจ ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มีอำนาจสั่งปิดสถานที่ต่างๆเป็นการชั่วคราว หรือสั่งให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดหยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราวได้ เหล้านี้เป็นกลไกหลักที่แต่ละพื้นที่ดำเนินการอยู่แล้ว

ยกตัวอย่าง เชียงใหม่ คณะการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีพบรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-19ใน สถานบันเทิงที่เชียงใหม่ 2 ราย ก็มีการประชุมทบทวนมาตรการและได้มีการออกมติคำสั่งปิดสถานบริการ 2 แห่งในบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ 14 วันเป็นตัวอย่างที่พื้นที่ได้มีกลไกบริหารจัดการเช่นเดียวกับ ชลบุรี หลังพบรายงานผู้ติดเชื้อ 23 รายซึ่ง 17 รายสืบเนื่องจากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ออกประกาศทันทีว่าขอความร่วมมือชาวชลบุรีมีประวัติไปสถานบันเทิงกทม.และปริมณฑลให้ไปตรวจหาเชื้อโดยด่วน และให้พนักงานสถานบันเทิงศรีราชาแลพบางละมุงทุกคนไปตรวจหาเชื้อทุกรายด้วย

"เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการที่พื้นที่เข้าไปดูปัญหาการระบาด การติดเชื้อ ในการสอบสวนโรคและพื้นที่จะเป็นคนรู้ปัญหาและมีความเข้าใจพื้นที่ได้ดีที่สุด ก็ออกมาตรการกำหนดให้เป็นมาตรการที่มาจากพื้นที่จะมีประสิทธิภาพสูงสุด"พญ.อภิสมัยกล่าว

 

  • ยึดมาตรการ 3 ระดับคุมสถานบันเทิง

พญ.อภิสมัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของศบค.มีการออกมาตรการกว้างๆ ดังนี้ คือ 1.กรณีที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสถานประกอบการ หากพบแห่งเดียว ให้มีการปิดสถานบริการแห่งนั้น 2.กรณีพบว่ามีการรายงานผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการหลายแห่งในพื้นที่ใกล้เคียงกันเป็นโซน ก็จะปิดพื้นที่ทั้งโซนในสถานประกอบการที่อยู่ในบริเวณเดียวกันจำเป็นต้องปิดทั้งหมดและ 3.กรณีที่จังหวัด พบว่าการแพร่ระบาดมีหลายพื้นที่หลายโซนหลายบริเวณก็มีอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาจจะพิจารณาปิดชั่วคราวสถานบริการทั้งจังหวัดเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เป็นต้น

  • ยังเดินทางข้ามจังหวัดได้-ขออสม.ติดตามตัว

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า เทศกาลสงกรานต์หากไม่จำเป็นต้องเดินทาง ขอให้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติอีกครั้ง หากเดินทางพกหน้ากากสำหรับตัวเอง หรือเผื่อ 2-3 ชิ้นสำหรับคนรอบข้าง เข้าชุมชนถ้าสวมหน้ากากทั้งคนปกติและคนิตดเชื้อจะลดอัตราติดเชื้อ 90% การระมัดระวังส่วนตัว เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ หากจำเป็นต้องดินทางก็เดินทางได้ แต่ต้องปฏิบัติมาตรการป้องกันตัวสูงสุด เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก หากเดินทางข้ามพื้นที่ต้องฟังมาตรการจังหวัดอย่างใกล้ชิดด้วยเพราะบางจังหวัดกำหนดให้คนที่ไปจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน รวมทั้ง อสม.ต้องดูแลติดตามคนมาจากพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด

  • ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วกว่า 3 แสนโดส

พญ.อภิสมัย กล่าวด้วยว่า การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 เม.ย. มีผู้ได้รับวัคซีน 29,108 โดส สะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 6 เม.ย. จำนวน 323,989 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 274,354 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 49,635 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รายงานว่า การกระจายวัคซีนทำได้ตามแผน 77 จังหวัด แม้อาจจำนวนไม่มาก แต่เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนล็อตใหญ่ที่จะมาถึงในเดือน มิ.ย. เพื่อการบริการฉีดให้ประชาชนตามแผน