STGT ลุ้นรับออเดอร์สหรัฐ ระบาดรอบใหม่ดันราคาพุ่ง
กลายเป็นข่าวดังข้ามโลกหลังมีรายงานว่าสหรัฐประกาศระงับนำเข้าสินค้าจากทุกโรงงานของ “ท็อปโกลฟ” ผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากพบว่ายังบังคับใช้แรงงานในการผลิตสินค้า แม้ที่ผ่านมาบริษัทจะยืนยันว่าได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้วก็ตาม
แต่เมื่อข่าวนี้ออกมากับกลายเป็นปัจจัยบวกทางอ้อมให้กับผู้ผลิตถุงมือยางยักษ์ใหญ่ของไทย บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เพราะทำให้เกิดความคาดหวังขึ้นมาทันทีว่าบริษัทจะได้รับออเดอร์จากลูกค้าสหรัฐแทนที่ท็อปโกลฟ
โดย จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยอมรับว่าได้รับการติดต่อจากผู้จัดจำหน่ายที่ต้องการนำถุงมือยางไปขายในสหรัฐ หลังมีข่าวสหรัฐประกาศแบนท็อปโกลฟ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
“ข่าวเพิ่งออกมาเมื่อสัปดาห์ก่อน ยังเร็วเกินไป ยังประเมินไม่ได้ ต้องรอดูไปอีกสักระยะ เพราะท็อปโกลฟ ออกมาชี้แจงว่าเป็นเรื่องเดิม ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่แน่นอนว่าการที่เขาไปตลาดสหรัฐไม่ได้ พวกดิสทริบิวเตอร์ที่ต้องการนำถุงมือยางเข้าไปขาย เริ่มติดต่อเรามา ถามว่ามีกำลังการผลิตเหลือมั้ย ถ้าขอเป็นเดือนหน้าเลยได้มั้ย”
อย่างไรก็ตาม แม้กำลังการผลิตของบริษัทจะเต็มแล้ว แต่ถ้ามีออเดอร์จากสหรัฐเข้ามาจริง ถือเป็นจังหวะที่ดี สามารถรับได้ เพราะในเดือน พ.ค. โรงงาน SR2 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะกลับมาเดินเครื่องจักรเต็มกำลังการผลิตอีกครั้ง หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ในช่วงทดลองเดินเครื่องจักรเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา
ส่วนโรงงาน SR3 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างจะเริ่มเดินเครื่องจักรในไตรมาส 2 นี้ ทำให้สามารถรองรับออเดอร์ใหม่ๆ เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังจะมีโรงงานใหม่เดินเครื่องการผลิตอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานแห่งใหม่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ช่วงไตรมาส 3 และโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดตรัง ช่วงไตรมาส 4
ส่งผลให้กำลังการผลิตรวมสิ้นปี 2564 เพิ่มเป็น 36,000 ล้านชิ้นต่อปี จากระดับ 33,000 ล้านชิ้นต่อปี เมื่อปี 2563 และตั้งเป้าว่าภายในปี 2569 กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 1 แสนล้านชิ้นต่อปี
ขณะที่แนวโน้มผลประกอบการปีนี้ยังเติบโตต่อเนื่อง คาดปริมาณการขายจะเพิ่มขึ้น 14% จากปีก่อน ตามกำลังการผลิตใหม่ๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาในทุกไตรมาส มั่นใจว่ารายได้ไตรมาส 1 ปี 2564 ยังเดินหน้าทำสถิติสูงสุดใหม่
“กำลังการผลิตที่เรามีอยู่ตอนนี้มีออเดอร์หมดแล้ว ซึ่งโดยปกติแล้วในสถานการณ์ทั่วไป utilization ระดับ 88-92% ถือเป็น benchmark ของตลาด แต่ตอนนี้เราทำได้มากถึง 95% ซึ่งถือว่าสูงมาก สูงสุดเท่าที่เราเคยทำได้”
ปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของบริษัทแบ่งเป็นกลุ่มถุงมือยางธรรมชาติ 60-65% และถุงมือยางสังเคราะห์อีก 35-40% โดยกลยุทธ์ปีนี้จะเดินหน้ารุกเจาะตลาดกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากบางประเทศแทบยังไม่เคยใช้ถุงมือยาง นำร่องด้วยถุงมือยางธรรมชาติชนิดมีแป้ง เพราะมีราคาต่ำที่สุดแต่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้เช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทร่วมกับบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA อยู่ระหว่างการพัฒนาถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้งให้เป็น “ซีโร่โปรตีน” ด้วยการกำจัดโปรตีนที่ทำให้เกิดอาการแพ้ออกไป ซึ่งสามารถทดแทนถุงมือยางสังเคราะห์ได้ แต่มีราคาถูกกว่าราว 30-40 ดอลลาร์ต่อ 1,000 ชิ้น เจาะตลาดลูกค้าในโซนยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ที่นิยมใช้ถุงมือยางสังเคราะห์ คาดวางขายในช่วงครึ่งปีหลัง
“ตอนนี้ถุงมือยางสังเคราะห์มีความต้องการเยอะมาก ตลาดหลักๆ อยู่ในสหรัฐและยุโรป เราก็จะส่งสินค้าเราไปสู้ ตอนนี้มีถุงมือยางธรรมชาติชนิดไม่มีแป้งสำหรับคนที่แพ้แป้ง ส่วนคนที่แพ้โปรตีนเราอยู่ระหว่างการวิจัยด้วยการเติมสารเคมีบางตัวลงไปเพื่อจับโปรตีนที่ทำให้เกิดการแพ้ออกไป ถ้าสำเร็จจะกลายเป็น game changers ของเราเลย เพราะสามารถแทนที่ถุงมือยางสังเคราะห์ได้”
จริญญา บอกว่า แม้หลายประเทศจะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่จะเห็นว่าแนวโน้มการใช้ถุงมือยางไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันทั่วโลกมีความต้องการถุงมือยาง 4.5-5.5 แสนล้านชิ้น ในขณะที่กำลังการผลิตมีอยู่แค่ 3.6 แสนล้านชิ้นเท่านั้น กว่าที่ดีมานด์และซัพพลายจะสมดุลกันคงต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2-3 ปี
นอกจากนี้ เมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตอนนี้ จะทำให้มีความต้่องการใช้ถุงมือยางเพิ่มขึ้น สะท้อนได้จากราคาหุ้น STGT ที่ปิดบวกสวนตลาดเมื่อวานนี้ (7 เม.ย.) วอลุ่มนำโด่งมาเลย ปิดที่ 44.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.75 บาท หรือ 6.55%