'AI' ตัวช่วย 'นักรังสีการแพทย์' ทำงานแม่นยำ ลดภาระงาน
"ทีเซลส์" ร่วมกับ ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนานวัตกรรม "AI" รังสีการแพทย์ เสริมความเข้มแข็ง เพิ่มประสิทธิภาพ ลดการขาดแคลน "นักรังสีการแพทย์"
“นักรังสีการแพทย์” อีกหนึ่งกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความต้องการจำนวนมาก แต่ข้อมูลกองบุคลากร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559 พบว่า กระทรวงสาธารณสุข มี "นักรังสีการแพทย์"ทั้งสิ้น 1,771 คน ยังขาดอีก 1,000 คน กรอบขั้นต่ำ 2,700 คน ส่งผลให้โรงพยาบาลไม่มีทั้ง "นักรังสีการแพทย์"และเจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ จำนวน 193 แห่ง ถือเป็นปัญหาต่อการให้บริการในระบบสุขภาพ
จากการแพร่ระบาดของ "โควิด -19" ส่งผลให้เทคโนโลยี "นวัตกรรมทางการแพทย์" ได้ถูกนำมาใช้ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ หรือ "AI" ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
- "ทีเซลส์" ผนึกราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยพัฒนา"AI"รังสีการแพทย์
วานนี้ (7 เม.ย.2564) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ "ทีเซลส์" ได้ร่วมกับ ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย และเครือข่ายพันธมิตร ศึกษาวิจัย และหาแนวทางการพัฒนานวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ "AI" ( Artificial Intelligence)” นำมาใช้เสริมความเข้มแข็งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ลดความผิดพลาดในการแปรผล ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญลดอัตราการขาดแคลน "นักรังสีการแพทย์" ของไทย
ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ” ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ "ทีเซลส์" (TCELS) กล่าวว่า "AI" มีความสามารถในการเก็บรวบรวม และอ่านข้อมูลได้อย่างมหาศาล ด้วยความรวดเร็วและแม่นยำ ซึ่งประเทศไทยขาดแคลน "นักรังสีการแพทย์" ความร่วมมือของ "ทีเซลล์"กับ ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย หลายๆ หน่วยงานครั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องเพื่อศึกษา พัฒนางานนวัตกรรมแนวทางการใช้งานที่เหมาะสม
- คาดปี 2564 เกิด Platform "AI" รังสีการแพทย์ในไทย
รวมถึงสร้างเครือข่ายการพัฒนางานวิจัยที่ยั่งยืน และเป็นการปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการของกฎหมายเครื่องมือแพทย์ หรือความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน อีกทั้งจะเป็นนำ "AI" มาประมวลผลเชิงตรรกะ อ่านคัดกรองและวินิจฉัยเบื้องต้น ช่วย "นักรังสีการแพทย์" ทำให้การทำงานของบุคลากรทางการแพทย์มีความแม่นยำ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
โรงพยาบาลในประเทศไทย หลายๆ แห่งได้มีการนำ"เครื่องมือทางการแพทย์" "AI" เข้ามาช่วยในการอ่านผล คัดกรอง และวินิจฉัยโรค ช่วย "นักรังสีการแพทย์" ช่วยแพทย์ แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะข้อจำกัดด้านบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ ในการใช้เทคโนโลยี AI ให้เกิดประโยชน์ ทั้งเรื่องของการนำเข้ามาของเครื่องมือแพทย์ที่ติดปัญหาด้านกฎหมาย และงบประมาณในการสนับสนุนเรื่องนี้
ภายในปี2564 นี้ จะเกิด Platform แบบทดสอบประสิทธิภาพของปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาที่มีแนวทางการพิจารณาการเลือกใช้งานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เกิดฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยา เกิดงานนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาและสามารถเข้าสู่กระบวนการใช้งานจริง สามารถต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์จะส่งผลที่ดีต่อเศรษฐกิจจากการเกิดงานนวัตกรรมใหม่ๆ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญจะทำให้ไทยมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีการแพทย์ ที่สามารถใช้งานได้จริง
ดร. ศิรศักดิ์ กล่าวว่า ในประเทศไทย "AI" ทางการแพทย์ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปหลายด้าน โรงพยาบาลเกือบทุกแห่มีความตื่นตัวในเรื่องนี้ ทำให้ขณะนี้ ไทยมี "AI" ช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคปอดต่างๆ ซึ่งทาง TCELS ก็มีความร่วมมือและให้การสนับสนุนงานดังกล่าว ร่วมกับ หน่วยงานในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ได้แก่ โรงพยาบาลราชวิถี เครือโรงพยาบาลพญาไทเปาโล ศูนย์การแพทย์จีโนม โรงพยาบาลรามาธิบดี บริษัทเมลโลอินโนเวชั่น จำกัด และ บริษัท เอไอเอส จำกัด (มหาชน) หรือ "AI"ช่วยคัดกรองมะเร็ง และ"AI"ช่วยคัดกรองเบาหวานขึ้นตา เป็นต้น
- เร่งอบรม นำ"AI"มาช่วย "นักรังสีการแพทย์"วินิจฉัยโรค
รศ.นพ. วิวัฒนา ถนอมเกียรติ ประธานราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าการส่งเสริม "AI" รังสีการแพทย์ จะช่วยในเรื่องวัณโรคปอด ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพระดับชาติ ที่รัฐบาลกำหนดให้ใช้ภาพทางรังสีเป็นตัวคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง ทำให้มีปริมาณภาพรังสีเพิ่มขึ้นอย่างมากจนเกินกำลังของนักรังสีการแพทย์ที่จะแปลผลได้ อีกทั้งประเทศไทยก็มี "นักรังสีการแพทย์" จำนวนจำกัด
ดังนั้น การนำเทคโนโลยี "AI" ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน มาใช้ในการคัดกรอง อ่านวินิจฉัยโรค มีความจำเป็นอย่างมาก ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ทางรังสีวิทยาขึ้น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนางานนวัตกรรมที่มีคุณภาพและแนวทางการนำปัญญาประดิษฐ์ไปใช้ที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลปี 2559 พบว่า ในส่วนการผลิตนักศึกษาสาขานักรังสีเทคนิค ปัจจุบันมีสถาบันที่ผลิตประมาณ 10 สถาบัน กำลังการผลิต 200 คนต่อปี โดยนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษา ส่วนใหญ่เลือกทำงานในสถานบริการเอกชนมากกว่าทำงานในสถานบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในเบื้องต้นได้มีการแก้ไขปัญหาโดยได้มีการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการ จำนวน 20 ตำแหน่ง และพนักงานราชการ 155 ตำแหน่ง ขณะนี้กำลังรอบรรจุในส่วนของพนักงานราชการ
ดร.นพ.ศุภฤกษ์ ถวิลลาภ กรรมการศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางรังสีวินิจฉัย ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในต่างประเทศมีการนำ"AI" มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะเข้ามาช่วยอ่านภาพรังสี คัดกรอง และวินิจฉัยเบื้องต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพและแม่นยำมาก
ส่วนในประเทศไทยต้องยอมรับว่ามีการนำมาใช้แต่ไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากการนำ "AI" หรือเทคโนโลยี หรือเครื่องมือแพทย์มาใช้ในทางการแพทย์นั้นต้องมีการขออนุญาตต่างๆ รวมถึงต้องมีการลงทุนค่อนข้างสูง และต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นข้อจำกัดของประเทศไทย ความร่วมมือครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นทั้งในการอบรม "นักรังสีการแพทย์" บุคลากรทางการแพทย์ให้ทำงานร่วมกับ"AI" การนำ "AI" มาช่วยตรวจวินิจฉัยโรคได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไทยเร่งสร้าง“แพทย์นวัตกรรม” หนุนตลาดเครื่องมือแพทย์โต
5 ตัวเสริม "ความมั่นคงด้านสุขภาพ" ของไทยสู่ฮับอาเซียน
'ทีเซลส์-มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ' ผสานกำลังรุกวิจัยด้านการแพทย์!