เตือนโทษความผิด ติด 'โควิด' ปกปิด 'ไทม์ไลน์'
ทุกฝ่ายต้องอยู่ใน "มาตรฐานเดียวกัน" ต่อการเปิดเผย "ไทม์ไลน์" เพื่อตัดวงจร "โควิด" แพร่ระบาดให้มากที่สุด
กลับมาอยู่ในสถานการณ์เฝ้าระวังสุดขีด สำหรับการระบาดของไวรัส "โควิด-19" ระลอกล่าสุด จากคลัสเตอร์ที่สถานบันเทิงแห่งหนึ่งย่านทองหล่อ จนทำให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีมติให้ปิดสถานบันเทิงใน 3 เขต ประกอบด้วย เขตคลองเตย เขตวัฒนา และเขตบางแค ระหว่างวันที่ 6-19 เม.ย.นี้
แต่ขณะนี้ยังมีผู้ติดเชื้อบางรายไม่เปิดเผย "ไทม์ไลน์" การเดินทางก่อนหน้านี้ทั้งหมด โดยเฉพาะเคสสำนักงานสาธารณสุข จ.นนทบุรีเตรียมบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พรบ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ดำเนินคดี 2 ผู้ป่วยโควิด ที่ปกปิดไม่ยอมให้ข้อมูล โดยรายแรกเป็นชายไทย อายุ 52 ปี ที่อยู่ ต.อ้อมเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ส่วนอีกรายเป็นชายไทย อายุ 57 ปี ที่อยู่ต.ปลายบาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี รับราชการสำนักงานแห่งหนึ่ง
สำหรับการ "จงใจ" ปกปิดประวัติการเดินทางที่จำเป็นในการสอบสวนโรค "โควิด-19" ย่อมเข้าข่ายความผิดใน พรบ.โรคติดต่อ 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2558 และมีผลใช้บังคับไปแล้วตั้งแต่ 6 มี.ค.2559
เมื่อเนื้อหาสำคัญใน "มาตรา 31" ในพรบ.โรคติดต่อ 2558 กำหนดให้ประชาชน ผู้รับผิดชอบในสถานพยาบาล หรือผู้ควบคุมสถานประกอบการหรือสถานที่อื่นใด "ต้องรายงาน" ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เมื่อมีผู้ต้องสงสัยหรือผู้ป่วยที่เป็นโรคติดต่ออันตราย โดยเฉพาะต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพราะหากไม่แจ้งข้อมูลจะมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท และเพิ่มความเสี่ยงแพร่เชื้อให้ผู้อื่นระหว่างไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ
ใน "มาตรา 34" ยังได้กำหนดการป้องกัน-ควบคุมโรคติดต่อ เมื่อพบว่าเกิดโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดในเขตพื้นที่ใด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่นั้น มีอํานาจดําเนินการเอง หรือออกคําสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ใดดําเนินการ โดยเรียกผู้ต้องสงสัยมาสอบสวนรตรวจรักษาได้ทันที
โดยเฉพาะผู้ที่มีเหตุอัน "ควรสงสัย" ว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็น "ผู้สัมผัสโรค" หรือเป็นพาหะให้รับการตรวจหรือรักษาทางการแพทย์ โดยการแยกกัก กักกันหรือคุมไว้สังเกตในสถานที่กําหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย
ขณะเดียวกันใน "มาตรา 35" ระบุไว้ว่า ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีมีเหตุจําเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าฯ กทม.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอํานาจดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงตามความรับผิดชอบ ดังนี้
(1) สั่งปิดตลาด สถานที่ประกอบหรือจําหน่ายอาหาร สถานที่ผลิตหรือจําหน่ายเครื่องดื่ม โรงงาน สถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพ สถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใดไว้เป็นการชั่วคราว
(2) สั่งให้ผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หยุดการประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว
(3) สั่งห้ามผู้ที่เป็น หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด เข้าไปในสถานที่ชุมนุมชน โรงมหรสพสถานศึกษา หรือสถานที่อื่นใด เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ
นอกจากนี้ตาม "มาตรา 42" ได้ระบุด้วยว่า ในกรณีที่พบว่าผู้เดินทางเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย โรคระบาด หรือพาหะนําโรค ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจําด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ มีอํานาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวถูก "แยกกัก-กักกัน" คุมไว้สังเกตได้ทันที
ที่สำคัญใน "มาตรา 49" บัญญัติชัดเจนว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ข้อกำหนดในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด(พรก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 17 ) ข้อ 4 ได้กำหนดโทษ ผู้ใด "ปกปิด" ข้อมูลการเดินทาง หรือแจ้ง "ข้อมูลเท็จ" ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นผลให้เชื้อโรคแพร่ออกไปอาจเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นความผิดตาม พรบ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากเปรียบเทียบกับกฎหมายในประเทศใหญ่ๆ ต่อความผิดปกปิดไทม์ไลน์พบว่า มีโทษหนักทั้งปรับและจำคุก อาทิ "สิงคโปร์" ปรับไม่เกิน 1 หมื่นเหรียญหรือ 234,574 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ "เกาหลีใต้" ปรับไม่เกิน 10 ล้านวอน หรือ 281,505 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ "ญี่ปุ่น" ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน หรือ 85,962 บาท โดยยังไม่มีโทษจำคุก หรือ "อังกฤษ" ปรับ 1 หมื่นปอนด์ หรือ 43,250 บาท แต่ไม่มีโทษจำคุก
แต่ระหว่างนี้เองยังมีข้อเรียกร้องจากประชาชนไปถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ต้องอยู่ใน "มาตรฐานเดียวกัน" ต่อการเปิดเผยข้อมูลประวัติการเดินทางทั้งหมด เพื่อประโยชน์แก่การสอบสวนโรคในการเฝ้าระวังและตัดวงจรแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดมากที่สุดเช่นกัน
เป็นกฎเหล็กที่ถูกบัญญัติไว้ใน พรบ.โรคติดต่อ 2558 ซึ่งเป็นฐานะกฎหมายหลักบังคับใช้ควบคุมและป้องกัน "โรคติดต่ออันตราย" ในสถานการณ์ "โควิด" กำลังกลับมาระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง.