สธ.เปิดสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วย ‘โควิด-19’ หาเตียงรักษาตัว
สธ. จับมือเครือข่าย เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วย “โควิด-19” ประสานส่งต่อ เปิดสายด่วน 1668 ประสานผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงไม่ได้ พร้อมจัดหา Hospitel รองรับเพิ่มอีก 1,000 เตียง และโรงพยาบาลสนาม (โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ) 450 เตียง ในสัปดาห์นี้
วันนี้ (9 เมษายน 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า การบริหารจัดการเตียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีการดำเนินการร่วมกันภายใต้ 5 เครือข่าย ได้แก่ กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ-กลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน
โดยจัดทำข้อมูลเตียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ร่วมกัน ที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลเอกชนในการรับผู้ติดเชื้อ ข้อมูล ณ วันที่ 8 เมษายน 2564 เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน มีจำนวนเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิดอีกเกือบ 300 เตียง
“แนวคิดการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้นโยบายว่า ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล และมีข้อตกลงกันในเครือข่ายว่า โรงพยาบาลที่ตรวจพบเชื้อโควิดต้องดำเนินการประสานในเครือข่าย เพื่อให้ผู้ป่วยทุกรายเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ดังนั้น ขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชน หากตรวจพบเชื้อแล้วไม่มีเตียงรองรับ สามารถประสานส่งต่อในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน หรือส่งต่อข้ามเครือข่ายได้ ซึ่งเป็นหลักการที่ตกลงกันมา 1 ปีแล้ว” นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในการจัดหาเตียงให้เพียงพอรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กรมการแพทย์และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ดำเนินการจัดหา Hospitel คือ ใช้ห้องพักโรงแรมทำเป็นโรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ซึ่งขณะนี้จัดหาได้แล้ว 800 เตียง และจะหาเพิ่มเป็น 1,000 เตียง ภายใน 1-2 วันนี้ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียงในสัปดาห์นี้
เพื่อแก้ปัญหาไม่มีเตียง ทางสถาบันเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ รับผู้ป่วยโควิด-19ได้ทันทีวันนี้ 40 เตียง นอกจากนี้ ยังได้เปิดบริการสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ช่วยเหลือผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนประเมินความเสี่ยงของตนเองก่อนเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ที่เว็บไซต์ของโรงพยาบาลราชวิถี
หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงให้เข้ารับการตรวจ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำ ให้เฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองหรือปรึกษาสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความแออัดในการรอรับบริการ