'RenDanHeyi' เบื้องหลังความสำเร็จ 'ไฮเออร์'
ส่องเบื้องหลังความสำเร็จ "ไฮเออร์" (Haier) ทำอย่างไรให้ยืนหยัดเป็นแบรนด์ชั้นนำด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ และอยู่มานาน 37 ปี พร้อมเปิดกลยุทธ์สำคัญ "RenDanHeyi" ที่ช่วยพลิกวิกฤติสภาวะหนี้สินจนเกือบล้มละลาย
หลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “ไฮเออร์” (Haier) แบรนด์ชั้นนำด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ที่นำประสบการณ์ของผู้ซื้อเป็นที่ตั้งในการดำเนินธุรกิจ โดยเริ่มจากการทำโรงงานตู้เย็นขนาดเล็กในเมืองชิงเต่า ประเทศจีน และต่อยอดเป็นนวัตกรรมอื่นๆ อย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน
เป็นเวลากว่า 37 ปีที่ไฮเออร์โลดแล่นอยู่ในอุตสาหกรรม และผ่านวิกฤตการณ์มาหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในช่วงที่ก้าวสู่วิกฤติขาลงในการดำเนินธุรกิจจนก่อให้เกิดสภาวะหนี้สินและเกือบล้มละลาย แต่ด้วยความที่ยึดมั่นในหลักการเรื่อง “การให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์” หรือที่เรียกกันว่า RenDanHeyi คิดค้นโดย จาง รุ่ยหมิ่น ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มบริษัทไฮเออร์ จนทำให้พนักงานมีแรงผลักดันในการพัฒนาบริษัทให้กลับมามีศักยภาพอีกครั้ง สามารถพลิกเกมธุรกิจจนกลายเป็นแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จจนถึงปัจจุบัน
- RenDanHeyi คืออะไร?
ในความหมายภาษาจีน “Ren” หมายถึง พนักงาน คือการเน้นความสำคัญของพนักงาน (Human Value First) ไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ปฏิบัติงานหรือรับคำสั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ประกอบการและเป็นพันธมิตรของบริษัท ที่ได้รับสิทธิ์ 3 ข้อ ได้แก่ สิทธิ์การตัดสินใจในองค์กร สิทธิ์ด้านทรัพยากรบุคคล และสิทธิ์ในการใช้ทรัพยากรได้อย่างทั่วถึง
และผลักดันให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านความถนัดเฉพาะทาง การทำงานร่วมกับทีม และสำคัญที่สุดคือความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ และกล้าตัดสินใจ
“Dan" หมายถึง คุณค่า และความต้องการของผู้ใช้งาน โดยพนักงานในองค์กรจะต้องเข้าใจถึงคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการรวมทั้งงานที่ได้รับมอบหมาย แทนที่จะเป็นเพียงแค่การรับคำสั่งจากหัวหน้างานเท่านั้น แต่จะต้องเห็นความสำคัญของงานที่กำลังทำอยู่และส่งผ่านค่านิยมเหล่านี้ระหว่างพนักงานด้วยกันเอง เพื่อส่งต่อคุณค่าเหล่านี้ไปสู่ผู้ใช้สินค้า และมีการเรียนรู้ที่จะรับฟังความต้องการของผู้ใช้อย่างจริงใจ (Lifelong Users Experience)
ส่วนคำว่า “Heyi" หมายถึง การบูรณาการเอาประสิทธิภาพของพนักงานในองค์กรมาตอบสนองและสร้างนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานอย่างแท้จริง โดยพนักงานทุกคนจะต้องเข้าใจคุณค่าของตนผ่านการสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้งาน และสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้ารู้สึกอยากกลับมาใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทซ้ำๆ (Experience Iteration is King)
ขณะที่แนวคิดและหลักการในการบริหารจัดการองค์กรแบบดั้งเดิม (Traditional Model) ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นของบริษัทมาก่อน (Shareholders First) และเน้นจำนวนลูกค้าให้ได้มากที่สุด (Customers Transaction) แต่ไม่ได้เน้นสร้างความประทับใจเพื่อให้ได้ลูกค้าระยะยาว ไม่ได้สร้างคุณค่าของงานที่พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจ ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างชัดเจน ซึ่งหลักการการบริหารแบบดั้งเดิมนี้ กำลังถูกท้าทายด้วยวิธีการในโลกสมัยใหม่ และอาจจะไม่ใช่คำตอบสำหรับองค์กรในยุค IoT ที่ต้องการทรานส์ฟอร์มไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
ทั้งนี้ RenDanHeyi ช่วยให้ไฮเออร์รอดพ้นวิกฤติ และเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยยอดขายทั่วโลกเติบโตขึ้นเฉลี่ยรวมกว่า 75% จากปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2561) ได้ทำการจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 4 บริษัท บริษัทสตาร์ทอัพยูนิคอร์น 2 บริษัท อีกทั้งสร้างบริษัทที่เตรียมเป็นยูนิคอร์นและกาเซลล์ 12 บริษัท ก่อตั้งศูนย์วิจัยใหญ่ 10 แห่งทั่วโลก นิคมอุตสาหกรรม 25 แห่ง รวมทั้งศูนย์ปฏิบัติการ 112 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ สถาบันวิจัยผลิตภัณฑ์ไฮเออร์ หรือ HMI
ในปัจจุบันหลักการบริหารองค์กรแบบ RenDanHeyi ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน (SEAC) โดยร่วมกับ HMI จัดตั้งศูนย์วิจัยและจัดการนวัตกรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IMRC) เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมองค์กรและการเรียนรู้เชิงประยุกต์สำหรับองค์กรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตรียมพร้อมทรานส์ฟอร์มองค์กรในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ