คุรุสภา เผยผลงาน 'E-PLC' พัฒนาครูกว่า 7.5 หมื่นคน
"ดิศกุล"ปลื้มผลงานส่งเสริมกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ "E-PLC" 5 ปีให้เงินอุดหนุน 40 มหาวิทยาลัย พัฒนาคนวงการครู กว่า 7.5 หมื่นคน
การส่งเสริมและพัฒนา"จรรยาบรรณวิชาชีพ"ครูและบุคลากรทางศึกษา เป็นหนึ่งในภารกิจหลักของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาที่ได้มีการดำเนินงานเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องและทำกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ
- "คุรุสภา"หนุนเงินอุดหนุนโครงการ "E-PLC"พัฒนาครู
ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า การดำเนินงานกิจกรรมส่งเสริมกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพเพื่อพัฒนาจรรยาบรรณวิชาชีพผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Ethics in Professional Learning Community : E-PLC) เพื่อพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพทางการศึกษา
โดย"คุรุสภา"สนับสนุนเงินอุดหนุนการจัดกิจกรรมตามกระบวนการ "E-PLC "ให้แก่สถาบันอุดมศึกษาที่ขอรับการสนับสนุนมาเป็นโครงการหนึ่งที่สามารถพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ด้านคุณธรรม จริยธรรม และ"จรรยาบรรณวิชาชีพ"ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่นำไปสู่การใช้ปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ กระบวนการ "E-PLC" เป็นการส่งเสริมครู บุคลากรทางการศึกษา และเตรียมผู้เข้าสู่วิชาชีพครู ได้แก่ นิสิตนักศึกษาครูชั้นปีที่ 4 หรือ ชั้นปีที่ 5 ให้มีการเรียนรู้จากตัวแบบโดยมีครูพี่เลี้ยงเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งการออกแบบกิจกรรมนั้น
- "คุรุสภา"เปิด3หลักใช้"E-PLC"สร้างจรรยาบรรณวิชาชีพ
สถาบันอุดมศึกษาที่ขอรับการสนับสนุนจะต้องนำ 3 หลักการ คือ 1.หลักจรรยาบรรณของวิชาชีพตามข้อบังคับคุรุสภา 2.หลักการ "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ" (PLC) และ 3 หลักการปฏิบัติการผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษา สร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่สอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา และทุกสถานที่
โดยในหลักสูตรการจัดกิจกรรมนำประเด็นการปฏิบัติตนตาม"จรรยาบรรณวิชาชีพ"มาบูรณาการกับการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ"ชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ" ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันของคนในวงวิชาชีพ ประกอบด้วย ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา ศึกษานิเทศก์ ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เป็นต้น ซึ่งกระบวนการส่งเสริมในรูปแบบนี้จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา"จรรยาบรรณวิชาชีพ"ของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้มีจิตวิญญาณของความเป็นครูได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน มีเป้าหมายทั่วถึง และเท่าเทียม
เลขาธิการคุรุสภากล่าวต่อว่า โครงการ "E-PLC"เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2560 ถึงปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษาขอรับเงินสนับสนุนแล้ว 40 แห่ง มีผู้เตรียมเข้าสู่วิชาชีพครู และผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เข้าร่วมทั้งสิ้น 75,494 คน โดยในปี 2564 นี้ มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม 27 แห่ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งสิ้น 19,323 จำแนกเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา 10,099 คน นิสิต นักศึกษาครู 7,885 คน และ อาจารย์นิเทศก์ 1,339 คนโดยมีบริษัท วิสดอมไวด์ เป็นผู้สนับสนุนระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการดำเนินงาน "E-PLC"