เปิดความคุ้มค่าเงินพันล้านซื้อ 'NEW18' ในมือ "แอน จักรพงษ์"
เกือบครึ่งทางของการเปลี่ยนผ่านทีวีอนาล็อกสู่ “ทีวีดิจิทัล” ที่ถือเป็น “ฝันร้าย” ของผู้ประกอบการหลายราย เพราะการวาดภาพอุตสาหกรรมที่จะโกย “เม็ดเงินโฆษณาแสนล้านบาท” ยับเยินไม่เป็นท่า
การประเมินตลาดที่ผิดพลาดมาพร้อมพายุดิจิทัลถาโถมหรือดิจิทัล ดิสรัปชั่น ซัดเสียจน “ภูมิทัศน์สื่อ” พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะ “ผู้ชม” ที่คาดว่าจะเฝ้า “จอแก้ว” เสพคอนเทนท์ทั้งละคร รายการวาไรตี้ ข่าวสารบ้านเมือง ฯ ถูก “สื่อดิจิทัล” แย่งไปมหาศาล คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน จะหญิงหรือชาย ต่างเทเวลาชีวิตให้กับการดูรายการหรือคอนเทนท์ต่างๆผ่าน “ออนไลน์”
เงินโฆษณาแสนล้าน! ดิจิทัลแย่งแชร์ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่คนดูลดลง แบรนด์โยกงบโฆษณาไปยังสื่อใหม่ เศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ทำให้การจ่ายโฆษณาทางทีวีแพงและหว่านไปให้ใครดูบ้างยังไม่รู้แน่ชัด สารพัดปัจจัยลบทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกระอักเลือด
ขาดทุน!! สาหัสบ่งชี้อาการของแต่ละช่องได้อย่างดี บางรายยกธงขาว ฟ้องศาลปกครองจนมีคำพิพากษาที่เสมือนการต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการอีกครั้ง ก่อนหน้านั้น ยังมี “มาตรา 44” ที่ช่วยไขก๊อกให้ธุรกิจโบกมือบ๊ายบาย! แล้วได้เงินขวัญถุงชดเชยอีกด้วย ซึ่งสุดท้ายเหลือทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจที่อยู่ต่อเพียง 15 ราย ลาเวทีไป 7 ราย ยอมคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซ่นส์)
เกมนี้มีทั้งคนมองอนาคตได้เฉียบคาดเพื่อ “ตัดสินใจถูก” และอาจ “พลาด” สำหรับคนที่ไปต่อ เพราะระยะเวลาอีก 8 ปี อาจมีหวังว่ารายได้จะเข้ามา จนสามารถพลิกขาดทุนให้มี “กำไร” ได้ อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดใช้ไม่ได้กับทุกรายที่กัดฟันสู้ต่อ เพราะ “สายป่าน-โมเดลธุรกิจ-จุดแข็ง-โอกาส” ล้วนแตกต่างกัน ยิ่งกว่านั้นหากต้องเผชิญปัจจัยภายนอกทั้ง “จุดอ่อน-อุปสรรค-คู่แข่ง-คนดู-ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ที่ยากจะควบคุม การสู้ต่อรังแต่จะกลืนเลือด
สำหรับสถานการณ์ของทีวีดิจิทัล หลายรายยังขาดทุนบักโกรก เช่น พีพีทีวี ของหมอมหาเศรษฐี “ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ” แม้กระทั่งช่อง 3 ของตระกูล “มาลีนนท์” และ นิว 18(NEW 18) ของบริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ที่นำทัพโดย “ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด” เป็นต้น ซึ่งล่าสุด ช่องนิวทีวียอมก้าวออกจากสมรภูมิทีวีดิจิทัลแล้ว โดยมี “เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย” ควักเงินราว 1,100 ล้านบาท เพื่อฮุบกิจการ 100%
++ทีวีดิจิทัล ในมือ “แอน จักรพงษ์”
ก่อนหน้านี้ เจเคเอ็น รุกคืบสู่ทีวีดิจิทัลแล้ว ด้วยการเช่าเวลาของทางช่องร่วมเดือน แต่ล่าสุดทุ่มเงินพันล้านบาทเพื่อเข้าไปถือหุ้นเบ็ดเสร็จ ส่วนทิศทางของ “นิวทีวี” ในคราบใหม่จะเป็นอย่างไร แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN แจกแจงแผนไว้คร่าวๆดังนี้
ประเดิมเปลี่ยนชื่อบริษัท ชื่อนิวทีวี ไปสู่ “เจเคเอ็น18” ทำได้ทันทีและไม่ยาก แต่โจทย์โหดหินอยู่ที่ “โมเดลธุรกิจ” ซึ่ง จัรกพงษ์ ประกาศชัดว่าจะมุ่งสู่การเป็น “คอนเทนท์ คอมเมิร์ซ คัมปะนี”
“เห็นโอกาสดีที่เจ้าของเดิมกรุณา เลยทดลองทำงานที่ช่อง คำนวณแล้วเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า คุ้มสุดๆ ดีสุดๆ เพราะทำให้เรามีแพลตฟอร์มที่จะขายสินค้า คอนเทนท์ คอมเมิร์ซจะเป็นตัวไดรฟ์ธุรกิจ การเทคโอเวอร์ช่องนิวทีวี จึงเป็นไอเดียที่ฉลาดที่สุด”
จุดเปลี่ยนของการต่อจิ๊กซอว์ค้าขายสินค้าผ่านหน้าจอ เกิดจากช่วงกระแส “ดราม่า” เลิกกับหนุ่มในสต๊อกจะพาดพิงถึงอดีตแฟนของหนุ่มคนดังกล่าว(แฟนนางงามฟิลิปปินส์) และต้องออกรายการทีวี เฉพาะรายการแฉ จักรพงษ์ บอกว่าสามารถขายสินค้าได้ถึง 15 ล้านบาทต่อคืนที่ออกรายการ จากปกติจะอยู่ระดับ 2-3 ล้านบาทบ้าง และ 5 ล้านบาทบ้าง
จักรพงษ์ มีฐานแฟนคลับบนสื่อสังคมออนไลน์ราว 14 ล้านคน เฉพาะเฟซบุ๊กมีสาวกติดตามกว่า 11 ล้านคน จึงสามารถแปลงแฟนคลับมาเป็น “ผู้ซื้อสินค้า” ทำเงินมหาศาล
ทั้งนี้ การจะทำธุรกิจทีวีโดยใช้ “โมเดลเดิมๆ” ในโลกการค้าขายที่เปลี่ยนไป คงไม่ได้ผล แค่ผลิตรายการให้มีคนดู นำเวลาที่มีไป “ขายโฆษณา” จนเลือดตาแทบกระเด็นหมดยุคแล้ว เพราะช่องทีวีดิจิทัลที่มีก็ขับเคี่ยวแข่งกัน ขณะที่โมเดลการขายสินค้าผ่านหน้าจอมีตัวอย่าง “ความสำเร็จ” ให้เห็นแล้วอย่าง “ช่อง 8” ของ “อาร์เอส” ซึ่ง “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” พลิกศาสตร์รบจนสร้างรายได้และ “กำไร” ให้ทีวีเป็น “มอลล์” หรือห้างร้าน ช่องทางทำเงินเป็นกอบเป็นกำ
ปัจจุบัน จักรพงษ์ ปลุกปั้นสินค้าหลากแบรนด์หลายรายการเพื่อขายผ่านทีวี ทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณ และยังมีสินค้าใหม่ๆหมวดเครื่องดื่ม สกินแคร์จาก “กัญชา-กัญชง” มาเสริมทัพอีกเพียบ
++เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล ไม่กระทบขายคอนเทนท์
ทั้งนี้ เจเคเอ็นฯ มีธุรกิจหลักจำหน่ายคอนเทนท์ป้อนทีวีช่องต่างๆ การเป็นเจ้าของช่องงทีวีดิจิทัลเช่นกัน จักรพงษ์ ยืนว่าจะไม่กระทบธุรกิจหลักอย่างแน่นอน เพราะถือเป็นคนละหมวดหมู่(Category)กัน
นอกจากนี้ ทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจที่มี 15 ช่อง การจะป้อนคอนเทนท์เพื่อออกอากาศ 24 ชั่วโมง จะพึ่งพาสรรพกำลังของตนเองอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องมีคู่ค้าพันธมิตรด้วย และที่ผ่านมา บริษัทป้อนคอนเทนท์ให้กับช่องต่างๆ จำนวนมาก
“เราเทคโอเวอร์ช่องนิว18 ไม่กระทบการขายคอนเทนท์ เพราะลูกค้าเราเต็มมืออยู่แล้ว จะขายอะไรอยู่ ลูกค้าก็ซื้อไป เรารู้ เข้าใจ เป็นมวยธุรกิจ” ดังนั้น ภาพที่เห็นจากนี้ไป จะไม่แค่ค้าคอนเทนท์ และจะเป็นคอมเมิร์ซด้วย
++ไม่ปลดคน แต่ต้องอยู่ให้ได้
เมื่อมีการเปลี่ยนมือเจ้าของ นอกจากแผนธุรกิจจะต้องปรับ เป้าหมายจะต้องเปลี่ยน ที่ระส่ำสุด! ต้องลุ้นระลึกคือ คนทำงาน โดยดีเอ็นมีทีมงานหลายร้อยชีวิต ซึ่ง จักรพงษ์ ยืนยันว่า จะไม่มีการปลดคนออกแม้แต่คนเดียว
“เราจะเปลี่ยนชื่อบริษัท ชื่อช่องทีวี แต่เราไม่เอาใครออกเลย..ไชโย!ได้เลย แต่เมื่ออยู่แล้วต้องอยู่ให้ได้ กับการทำงานที่ต้องโฟกัสการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่โฟกัสรายเดือน”
ดังนั้นก้าวแรกที่รอดพ้นการตกงาน มีงานทำ พนักงานต้องมีความขยัน ตั้งใจ มุ่งมั่น สร้างคุณภาพงาน ผลักดันการเติบโตขององค์กร ปรับตัวเข้ากับแนวทางการทำงาน และเป้าหมายใหม่ๆด้วย
“ดิฉันไม่เอาใครออกทั้งสิ้น คุณทำงานให้ได้ก็พอ และอย่าคิดสั้นๆว่าทำงานได้ เดี๋ยวจ้าง จ่ายให้ออก หมดยุคแล้ว”
สำหรับแผนธุรกิจ ผังรายการใหม่โดยละเอียด บริษัทจะแจงอีกครั้งวันที่ 19 เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนครั้งนี้ จักรพงษ์ ย้ำหนักแน่ว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และจะสร้างการเติบโตระยะยาวให้กับบริษัทอย่างแน่นอน เพราะนอกจากมีสินค้า การมีช่องทางจำหน่ายและโปรโมทสินค้าผ่าน “ซุป’ตาร์ มาร์เก็ตติ้ง” จะเป็นจิ๊กซอว์เสริมความแกร่งแกร่งให้บริษัท สร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น
ขณะที่การเจรจาซื้อกิจการ มีการเคลียร์ทุกอย่างชัดเจน “ถ้าไม่เคลียร์ ไม่ทำกำไร แอน จักรพงษ์ ไม่ซื้อ!!”
“เราต้องมีช่องทีวีของเรา ทีวีดิจิทัลเหลือไลเซ่นส์อีกกว่า 8 ปี การลงทุนเราหารจำนวนเงิน รายรับที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ใช้คำว่า..โคตรคุ้ม!!”