'บรรจุภัณฑ์กินได้'กลยุทธลดโลกร้อนบ.เอเชีย
'บรรจุภัณฑ์กินได้'กลยุทธลดโลกร้อนบ.เอเชีย หนึ่งในนั้นรวมถึงบริษัทของ"ฮายาชิ"ที่ผลิตถ้วยกาแฟ"อีโคเพรสโซ" ปลอดกลูเต็นเพื่อส่งออกและวางแผนที่จะจำหน่ายในสหรัฐและในยุโรปเมื่อโรคโควิด-19 เลิกระบาด
ขณะนี้บรรดาบริษัทและภาคธุรกิจในเอเชียกำลังผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มที่สามารถรับประทานได้เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ตามเป้าที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคให้ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ่้น
เริ่มจากบริษัท"อาซาฮี กรุ๊ป โฮลดิงส์" ผู้ผลิตเครื่องดื่มชั้นนำของญี่ปุ่นและเป็นเจ้าของเบียร์แบรนด์อาฮาซี พัฒนาถ้วยใส่ผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆที่กินได้ รวมทั้ง ถ้วยรูปทรงกรวยใส่ไอศครีม ที่ทำจากแป้งมันฝรั่งและอบในอุณหภูมิสูงเพื่อให้ถ้วยอยู่ทรงแข็งแรง
อาซาฮี บอกว่า ถ้วยประเภทนี้สามารถคงสภาพอยู่ได้ประมาณหนึ่งชั่วโมงโดยที่มีไอศครีมอยู่ข้างใน นอกจากเครื่องดื่มแล้ว ยังใช้เป็นจานใส่แกงและซุป โดยมี4รสชาติให้เลือก คือรสทั่วไป รสข้าวเกรียบกุ้ง รสช็อคโกแล็ต และรสถั่ว บริษัทเริ่มวางจำหน่ายเมื่อเดือนมี.ค.ในราคาชุดละ 1,200 เยน(11ดอลลาร์)สำหรับถ้วยขนาดปกติโดยถ้วยแต่ละใบสามารถบรรจุของเหลวได้ 100 มิลลิลิตร
การที่บริษัทผลิตอาหารหลายแห่งหันมาผลิตบรรจุภัณฑ์กินได้ก็เพื่อตอบสนองกฏระเบียบที่เข้มงวดขึ้นของภูมิภาคยุโรปและเอเชียเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วทิ้ง ซึ่งอาซาฮี จำหน่ายถ้วยประเภทนี้ทางออนไลน์ให้ทั้งร้านอาหารและผู้บริโภคที่ต้องการนำไปใช้ที่บ้าน
ขณะที่“มารุชิเกะ ไซกะ”ซึ่งผลิตไอศครีมโคนและเวเฟอร์กรอบที่มักจะเสิร์ฟพร้อมไอศครีมในญี่ปุ่น ก็มีผลิตภัณฑ์ที่กินได้ เช่น ตะเกียบทำจากต้นอิสุกะ วัสดุหลักที่ใช้ทำเสื่อทาทามิของญี่ปุ่นซึ่งในความเป็นจริงแล้ว กระแสที่เกิดขึ้นกับบริษัทผลิตอาหารสัญชาติญี่ปุ่นในขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะก่อนหน้านี้ บรรดาบริษัทขนาดเล็กก็นิยมผลิตบรรจุภัณฑ์ที่กินได้มาแล้ว อย่างกรณีของ“มาชิโกะ ฮายาชิ” เจ้าของ 10 เซนส์ ซึ่งบริหารจัดการ อาร์ เจ คาเฟ่ ในโอซากา เปิดตัวถ้วยกาแฟเอสเพรสโวกินได้ชื่อว่า“อีโคเพรสโซ” เมื่อปี 2559 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทดิ้นรนและต่อสู้อย่างมากเพื่อทำยอดขายกาแฟสด
เธอเริ่มด้วยการใช้ถ้วยกาแฟทำจากคุ๊กกี้และได้รับความสนใจอย่างมากในสื่อสังคมออนไลน์ในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน “แต่ตอนนี้มีบริษัทและคาเฟ่มากมายให้ความสนใจถ้วยกาแฟกินได้เพราะผู้คนให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น”ฮายาชิ กล่าว
ฮายาชิ บอกว่า ออร์เดอร์ถ้วยกาแฟกินได้ของบริษัทเธอไม่ได้มาจากร้านขายกาแฟด้วยกันเท่านั้น แต่มาจากบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งหลายที่ต้องการรณรงค์ให้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่มีร้านกาแฟสดของตัวเองในกรุงโตเกียวและนครโอซาก้าหลายแห่งและในแต่ละแห่งจะมีที่ให้ลูกค้าทดลองขับและมีถ้วยกาแฟอีโค่เพรสโซไว้คอยบริการ
รวมทั้งตอนที่ค่ายรถเยอรมันแห่งนี้เปิดตัวรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าทั้งคันในญี่ปุ่น อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ ฮายาชิ ผลิตถ้วยกาแฟอีโคเพรสโซ ปลอดกลูเต็นเพื่อส่งออกและวางแผนที่จะจำหน่ายในสหรัฐและในยุโรปเมื่อการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 ยุติลง
ในแง่ของสุขลักษณะ ร้านกาแฟสดของฮายาชิ ยืนยันว่าไม่ได้วางถ้วยกาแฟกินได้นี้บนโต๊ะโดยตรงแต่จะเสิร์ฟบนจานรองทุกครั้งเพื่อไม่ให้ถ้วยกาแฟสัมผัสพื้นผิวของโต๊ะโดยตรง
ขณะที่“ฮิโรชิ ยามาจิ”จากคิมูระ อลูมิ ฟอยล์ คัมพานี ในโอซาก้า บอกว่า “ถ้วยใส่อาหารที่กินได้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากบริษัทจำนวนมากให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ(ยูเอ็น)และบริษัทผมได้รับคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะหลังจากสตาร์บั๊คประกาศไม่ใช้หลอดพลาสติกใช้แล้วทิ้งเมื่อปี 2561”
ธุรกิจหลักของบริษัทคิมูระ อลูมิ ฟอยล์ คัมพานีคือการพัฒนาและผลิตอลูมิเนียม แผ่นฟอล์ย และบรรจุภัณฑ์ทำจากพลาสติกที่ถูกนำไปใช้ทำกล่องข้าวและวางขายตามร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่ท่ามกลางกระแสวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่มาแรงในขณะนี้ บริษัทจึงตัดสินใจผลิตที่เก็บอาหารแบบกินได้ที่ทำจากส่วนประกอบอาหารต่างๆ อาทิ สาหร่ายทะเล ปลาโอแห้งแบบฝอย และสาหร่ายทะเลสีน้ำตาลขนาดใหญ่
ปัจจุบัน ตลาดหลักสำหรับที่เก็บอาหารกินได้ของคิมูระ อลูมิ ฟอยล์ คัมพานีคือร้านอาหารและสหกรณ์ผู้บริโภคแห่งหนึ่ง แต่บริษัทระบุว่า ปีนี้จะเน้นทำตลาดกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเพื่อเข้าถึงลูกค้าที่เป็นบรรดาแม่บ้านให้มากขึ้น
มาร์เก็ตแซนด์มาร์เก็ต บริษัทวิจัยสัญชาติอินเดีย คาดการณ์ว่าความต้องการบรรจุภัณฑ์กินได้ทั่วโลกจะขยายตัวถึง 679 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 เพิ่มขึ้น 29% จากปี 2562 และคาดการณ์ว่าตลาดอเมริกาเหนือจะเป็นตลาดใหญ่สุดในช่วงปี 2562-2568 ส่วนตลาดเอเชีย-แปซิฟิกจะเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในแต่ละปี
นอกจากบริษัทญี่ปุ่นแล้ว ประเทศในกลุ่มอาเซียนก็เห็นประโยชน์จากการทำบรรจุภัณฑ์กินได้ด้วยเช่นกัน เช่น บริษัทอีโว แอนด์ โค ในอินโดนีเซีย ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2559 ได้พัฒนาถ้วยกินได้และบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆโดยทำจากสาหร่ายทะเล
เรียกถ้วยประเภทนี้ว่า “เอลโล เจลโล” มี4รส รวมทั้งลิ้นจี่ ส้ม และขาเชียว โดยบรรจุภัณฑ์นี้จะไม่เปลี่ยนรสชาติของเครื่องดื่มที่อยู่ในถ้วย และถ้วยชนิดนี้นอกจากจะกินได้แล้ว ยังย่อยสลายทางชีวภาพได้ภายใน 30 วันด้วย
ขณะที่สถาบันเพื่อการพัฒนาและวิจัยด้านการเกษตรของมาเลเซีย หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารมาเลเซีย เริ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์กินได้ทำจากสาหร่ายทะเล แป้งมันสำปะหลัง และแป้งสาคู