จากกรณี 'ตรวจโควิด' แจ้งผลผิดพลาด เช็ควิธีตรวจโควิดมีกี่แบบ?
เปิดเคสสาวลำปาง "ตรวจโควิด" ที่เชียงใหม่ ถูกแจ้งผลว่า "ติดเชื้อ" แต่ไม่มีเอกสารยืนยัน พอเจ้าตัวเช็คออนไลน์อีกทีกลับพบว่า "ไม่ติดเชื้อ" ทำให้เกิดดร่ามาในโลกออนไลน์ และหลายคนอยากรู้วิธีตรวจโควิดว่าทำยังไง?
จากกรณีนักศึกษาชาวลำปาง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "ต้นฝน ต้นฝน" ในวันที่ 14 เม.ย.64 ระบุว่า ตนได้ "ตรวจโควิด" ด้วยวิธี swab ที่รพ.ประสาท เชียงใหม่ และได้รับแจ้งว่า "ติดเชื้อโควิด-19" ต่อมาถูกส่งมารักษาตัวที่รพ.ลำปาง แต่ไม่มีเอกสารยืนยัน พอเช็คผลตรวจอีกทีผ่านออนไลน์ พบว่า “ไม่ติดเชื้อ” แต่ต้องมาอยู่กับผู้ป่วยโควิดนานถึง 3 วัน กลายเป็นเพิ่มความเสี่ยงให้ตนเองแบบคาดไม่ถึง
"รบกวนทุกท่านช่วยแชร์เรื่องนี้ให้หนูด้วยค่ะ เราเป็นเจ้าของโพสที่เปิดเผยไทม์ไลน์ที่ไปเที่ยวขอนแก่นนะคะ ผลสรุปจริงๆแล้ว “เราไม่ได้ติดเชื้อ” ค่ะ เคสของหนูเกิดจากการทำงานผิดพลาดของสาธารณสุขเชียงใหม่ ที่บอกผลตรวจหนูผิด ว่าหนูติดเชื้อ COVID-19 และประสานงานผิดพลาดกับ รพ.ลำปาง
เอกสารยืนยันอะไรก็ไม่มี แล้วรับหนูเข้ารับการรักษาได้อย่างไร หนูต้องมานอน รพ. 3 คืน จากที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง กลับกลายเป็นคนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเดิม เพราะได้พักรักษาตัวร่วมห้องกับผู้ติดโควิด ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ แต่ต้องมีการแสดงความรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยค่ะ...."
จากเหตุการณ์นี้ คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นกับตนเอง เอาเป็นว่าหากคุณเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับการ "ตรวจโควิด" หลังจากตรวจแล้ว อย่าลืมขอเอกสารยืนยัน และเช็คผลตรวจทางออนไลน์ซ้ำอีกครั้งเพื่อความแน่ใจ ทั้งนี้ มีหลายคนอยากรู้ว่าวิธี "ตรวจโควิด" ในเมืองไทย ตอนนี้มีกี่วิธีและใช้วิธีไหนบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาหาคำตอบ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. Real-time RT PCR
วิธีแรกเป็นการตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำและประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน องค์การอนามัยโลกแนะนำ การตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดีคือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้
ดังนั้นไม่ว่าจะเชื้อไวรัสนั้นคือเชื้อเป็นหรือเชื้อตาย ก็สามารถตรวจจับได้หมด โดยตรวจจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่างของผู้สงสัยติดเชื้อ ถือว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรค เพื่อการรักษาที่รวดเร็ว โดยพบเชื้อได้ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้
ส่วนวิธีการเก็บตัวอย่างนั้น แพทย์จะทำการป้ายเอาเยื่อบุหลังโพรงจมูกที่เรียกว่า "Swab" หรือนำเสมหะที่อยู่ในปอด ออกมาตรวจหาเชื้อไวรัส ซึ่งการตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น ต้นทุนเฉพาะในห้องแล็บอยู่ที่ครั้งละ 2,500 บาท ซึ่งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจได้ฟรี!
2. Rapid test
การตรวจแบบ Rapid Test เป็นการ "เจาะเลือด" เพื่อนำไปตรวจหาภูมิคุ้มกัน โดยการใช้ชุดทดสอบแบบรวดเร็ว หรือ Rapid Test ที่สามารถทราบผลได้ใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค
ดังนั้นการใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกันในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น สำหรับชุดตรวจหากนำเข้าจากต่างประเทศราคาอยู่ที่ 500 บาท แต่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังพัฒนาชุดตรวจของไทยขึ้นมา ซึ่งจะมีราคาประมาณชุดละ 200 บาท
3. ตรวจโควิด "Swab" VS "เจาะเลือด" ให้ผลแม่นยำต่างกันไหม?
ส่วนคำถามสำคัญที่หลายคนอยากรู้ว่า วิธีการ "ตรวจโควิด" ระหว่าง "Swab" และ "เจาะเลือด" แบบไหนให้ผลแม่นยำมากกว่ากัน เรื่องนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า วิธีที่ยืนยันว่าพบเชื้อโควิด-19 ได้แม่นยำกว่า คือการตรวจแบบ RT PCR (ป้ายเยื่อบุหลังโพรงจมูกไปตรวจหาเชื้อ เรียกว่า "Swab") เพราะเป็นการตรวจจับสารพันธุกรรมจากเชื้อไวรัสโดยตรงนั่นเอง
------------------------