TMB หวั่น ‘อสังหา-ธุรกิจการเงิน’ โรลโอเวอร์ ‘หุ้นกู้’วูบ
ทีเอ็มบีห่วงเอกชนออกหุ้นกู้ยาก หลังเผชิญต้นทุนการออกสูง หวั่นผลกระทบธุรกิจ เศรษฐกิจ ฉุดโรลโอเวอร์ยาก โดยเฉพาะหุ้นกู้เรทติ้งต่ำ ในภาคอสังหาฯ การเงิน เฉียด1แสนล้านบาท
นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics กล่าวถึง แนวโน้มการออกหุ้นกู้เอกชนปี 2564 เชื่อว่ามีความเสี่ยงที่ต้นทุนการออกหุ้นกู้เอกชน จะมีต้นทุนที่สูงขึ้นมาก เพราะหากดูอัตราผลตอบแทน(บอนด์ยิลด์) ปัจจุบันพบว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.50% หากเทียบกับ ต้นปี 2563 รวมถึงเครดิตสเปรดที่ปรับตัวขึ้นสูง มาอยู่ที่ราว 400 Bsp หรือ 4% หากเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่เพียงระดับ 3%
ดังนั้นผู้ออกหุ้นกู้ใหม่จะต้องเผชิญกับ ต้นทุนในการออกที่สูงขึ้นมาก อีกทั้ง สิ่งที่น่ากังวลคือ หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดอายุในปีนี้ จะสามารถ โรโอเวอร์ได้หรือไม่ ภายใต้เศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และหลายธุรกิจเกิดปัญหามากขึ้น
ซึ่งหากดูหุ้นกู้ที่ครบกำหนดปีนี้ ทุกประเภทพบว่า อยู่ที่ 7.33 แสนล้านบาท ในกลุ่มนี้มีหุ้นกู้ที่เรตติ้งดี Investment Grade ที่ 5.79 แสนล้านบาท
ขณะที่มีหุ้นกู้เรตติ้งต่ำ Non investment Grade ที่ราว 7 หมื่นล้านบาท และแบ่งเป็นหุ้นกู้ที่มีการจัดอันดับ หรือไม่มีเรตติ้ง ที่ 8.4 หมื่นล้านบาท
อีกทั้ง หากดูหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ในแต่ละเซกเตอร์ พบว่ามากที่สุด คือ อยู่ในภาคการเงิน และภาคอสังหาริมทรัพย์ มีสูงถึง 3.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นถึง 65% ของหุ้นกู้ทั้งหมดที่จะครบกำหนดในปีนี้
ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาคือ การออกโรลโอเวอร์หุ้นกู้ของกลุ่มอสังหา และธุรกิจการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มที่เรตติ้งต่ำ และไม่มีเรตติ้ง โดยเฉพาะในภาคอสังหาและก่อสร้าง ที่พบว่ามีหุ้นกู้เรตติ้งต่ำและไม่มีเรตติ้งสูงถึง 5.5 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ธุรกิจการเงิน มีสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้นต้องจับตา ว่าอาจมีหุ้นกู้ที่อาจต้องเผชิญกับคาวมเสี่ยงในการโรลโอเวอร์ได้ยากขึ้น หรือโรลโอเวอร์ไม่ได้ บวกกับต้นทุนการออกที่เพิ่มขึ้นที่เป็นภาระต่อผู้ประกอบการมากขึ้นด้วย
“แนวโน้มการออกหุ้นกู้ สิ่งที่ต้องเจอ คือ ดอกเบี้ยสูง และต้องแข่งขันกันออกกับกลุ่มที่รีไฟแนนซ์ด้วย เพราะการย้ายจากการออกหุ้นกู้ มาสู่การพึ่งพาแบงก์ มาเป็นขอสินเชื่อเพื่อว่าทำได้ยาก ภายใต้ที่แบงก์ก็ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ
ซึ่งกลุ่มที่ห่วงคือ อสังหา และธุรกกิจการเงิน เพราะที่ผ่านมากลุ่มนี้ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง ต้องลดราคาเพื่อปลดปล่อยซัพพลาย เอาสภาพคล่องเข้ามาหมุนให้มากที่สุด ดังนั้นก็ต้องจับตาหลังจากนี้เรื่องสภาพคล่องของกลุ่มนี้”
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวถึงการระดมทุนเอกชนในปัจจุบัน เชื่อว่ายังทำได้ดี ยังเห็นการโรลโอเวอร์หุ้นกู้ใหม่ ยังสามารถทำได้ดี โดยเฉพาะในไตรมาสแรกที่ผ่านม และคาดว่า ข้างหน้าการระดมทุนก็น่าจะเห็นเป็นปกติเช่นเดียวกัน
ส่วนบอนด์บอนด์ยิลด์ และเครดิตสเปรด สำรหับหุ้นกู้ ที่มีคุณภาพ ที่มีเรตติ้งระดับ Aขึ้นไป ปรับลดลง แสดงให้เห็นว่าต้นทุนการระดมทุนยังอยู่ระดับที่ดี แต่กลุ่มที่เครดิตต่ำกว่า BBB แม้เครดิตสเปรดไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง