'ASQ' บางส่วน ตอบรับ สธ. ปรับสู่ 'ฮอสพิเทล'
จากกรณีที่มีผู้ป่วยโควิด 19 ระลอกใหม่ จำนวนกว่า 1,500 คนต่อวัน สธ. ได้ขอความร่วมมือธุรกิจโรงแรมเข้าร่วมจัดตั้ง "ฮอสพิเทล" รองรับผู้ป่วย ขณะที่ชมรม ASQ ซึ่งเป็นการรวมตัวของโรงแรมที่ทำสถานที่กักกันทางเลือก มีการตอบรับ สธ. ปรับสู่ฮอสพิเทลด้วยเช่นกัน
จากมาตรการ “ฮอสพิเทล” รองรับผู้ป่วยโควิด 19 ซึ่งข้อมูลจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ระบุว่า ได้นำโรงแรมมาเป็นสถานพยาบาลชั่วคราว หรือ ฮอสพิเทล (Hospitel) เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ไม่มีอาการ หรือรักษาในโรงพยาบาลหลัก 3-5 วันแล้วอาการดี โดยมีการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม
ขณะนี้ มี “ฮอสพิเทล” ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 23 แห่ง จำนวน 4,900 เตียง ดูแลผู้ติดเชื้อแล้วเกือบ 2 พันเตียง เตรียมเพิ่มให้ได้ 5-7 พันเตียง ซึ่งจะช่วยลดแออัดในโรงพยาบาล รวมทั้งขณะนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เตรียมเตียงจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กองทัพ ตำรวจ มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลเอกชน รวม 6,525 เตียง ใช้แล้ว 3,700 กว่าเตียง ส่วนหนึ่งสำรองไว้สำหรับผู้ที่มีอาการมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
การขึ้นทะเบียน “ฮอสพิเทล” กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะตรวจประเมินมาตรฐาน ทั้งด้านโครงสร้าง สิ่งแวดล้อม การกำจัดขยะ น้ำเสีย ไม่มีผลกระทบต่อชุมชน มีการจัดบริการทางการแพทย์ตามมาตรฐาน โดยมีแพทย์ประจำ 1 คน พยาบาล 1 คนต่อ 20 เตียง เครื่องวัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล เครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ และเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการสมัครร่วม “ฮอสพิเทล” ทางออนไลน์ได้ โดย สบส.จะอนุมัติทางออนไลน์ด้วย เพื่อความสะดวกและรวดเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาจะใช้ประกันสุขภาพส่วนบุคคล และกองทุนสุขภาพตามสิทธิต่างๆ
- THA ชวนสมาชิกเข้าร่วม ฮอสพิเทล
ขณะเดียวกัน สมาคมโรงแรมไทย (THA) ได้ออกประกาศแจ้งผู้ประกอบการเข้าร่วมเป็น “ฮอสพิเทล” เฉพาะกิจ รับผู้ป่วยโควิด-19 ลดวามแออัดของผู้ป่วยโควิด-19 โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน ทำให้เกิดปัญหาโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ทั้งหมด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงขอความร่วมมือมาทางสมาคมโรงแรมไทยให้ผู้ประกอบการโรงแรมร่วมเป็น Hospitel (ฮอสพิเทล) หรือ หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ ทางสมาคมฯ จึงได้แจ้งและขอความร่วมมือไปยังสมาคมให้เข้าร่วมโครงการแล้ว เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือสังคมในวิกฤติครั้งนี้
ทั้งนี้ เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลหลัก ส่งเสริมการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นผู้ป่วยในกลุ่มไม่มีอาการ/ อาการน้อย ก่อนส่งกลับบ้าน และเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยในสถานการณ์การระบาดที่รุนแรง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคม
โรงแรมที่เข้าร่วมเป็น “ฮอสพิเทล” นั้นจะมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลเปาโล, โรงพยาบาลในเครือ BDMS เป็นต้น ทั้งนี้ โรงแรมจะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนในชุมนุมด้วยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริหารสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
- แนวทาง สำหรับโรงแรม ทำ "ฮอสพิเทล"
1. ต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป
2. เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่
3. ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช
4. ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี
5. ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์
- สมาคม ASQ ยินดีให้ความร่วมมือ
ด้าน “ปรินทร์ พัฒนธรรม” Executive Assistant Manager of Movenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ในฐานะประธานชมรม ASQ Thailand Club ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า จากที่ทางกระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือในการจัดตั้ง “ฮอสพิเทล” นั้น ทางชมรมเองมีความยินดีและพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ โดยล่าสุด มี ASQ ปรับเป็น ฮอสพิเทล แล้วส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การปรับ ASQ ไปเป็น ฮอสพิเทล ต้องได้รับการยินยอมและเห็นด้วยจากชุมชนรอบข้างเสมอ และต้องทำคู่กับโรงพยาบาล โดยสามารถทำให้เป็น ฮอสพิเทล 100% หรือ ทำแบบผสม ASQ กับ ฮอสพิเทล ได้ แต่หากจะทำแบบผสม ต้องมีตึกที่แยกจากกันชัดเจน มีระบบแยกกัน มีกฎกติกา ความปลอดภัย เพราะต้องยอมรับว่า ผู้ที่เข้ามาอยู่ใน ฮอสพิเทล คือ ผู้ป่วยโควิด 100% ต้องควบคุมความเสี่ยง หากโครงสร้างของตึก เอื้ออำนวย ก็อยากจะช่วย โดยส่วนใหญ่อยู่ในกทม. และปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดอย่าง ALQ ยังไม่มีการปรับเป็นฮอสพิเทล เพราะตามต่างจังหวัดจะเน้นไปที่โรงพยาบาลสนามมากกว่า
- ย้อนอดีต ASQ เกิดขึ้นได้อย่างไร
ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อเริ่มมีการจัดตั้ง ASQ ใหม่ๆ ซึ่งมาจากจุดประสงค์ที่ต้องการช่วยเหลือภาครัฐ ในการเพิ่มทางเลือกการกักตัวให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศ ปรินทร์ อธิบายว่า หลังจากมีการระบาดของโควิด 19 สำหรับธุรกิจโรงแรมการปรับตัวมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ การเปลี่ยนกลุ่มลูกค้า ปรับราคาให้คนไทยเอื้อมถึง และ การปรับตัวตามความต้องการของลูกค้า ที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาเที่ยวแต่มากักตัว โดยเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นสถานที่กักตัวทางเลือก หรือ ASQ
“Movenpick ถือเป็นโรงแรมแรก ที่เริ่มขยับตั้งแต่ช่วง ก.พ. – มี.ค. 63 ที่ประเทศประกาศล็อกดาวน์ โดยเริ่มปรับตัวเองสำหรับคนไทยที่กลับจากต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ หากไม่มั่นใจว่าปลอดภัยหรือไม่ สามารถมากักตัว 15 วัน มีบริการตรวจโควิด-19 นั่นคือ ขั้นตอนแรกที่โรงแรมเริ่มปรับ”
หลังจากนั้น พอเริ่มมาทำ ASQ เหมือนเป็นก้าวที่ใหญ่ขึ้น เป็นการปรับตัว 100% Movenpick ถือเป็นโรงแรมแรกที่ได้รับการอนุมัติ ASQ ในวันที่ 25 เมษายน 2563 และเป็นจุดเริ่มต้นของ ชมรม ASQ Thailand Club ปัจจุบัน เปิดให้บริการ 280 ห้อง จาก 299 ห้อง ภายใต้การกำกับดูแล โดย รพ.กรุงเทพ เพื่อสอนพนักงานทั้งหมด เปลี่ยนพนักงานโรงแรมเป็นพนักงานโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล การที่จะเข้าในห้องแขก ต้องแต่งตัวอย่างไร ทำความสะอาดต้องทำอย่างไร ขยะต้องแยก ขยะติดเชื้อใส่ถุงแดงและให้บริษัทรับกำจัดขยะติดเชื้อมารับ
ปรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ASQ ไม่ใช่ใครอยากจะทำก็ทำได้ เพราะต้องมีกฏเกณฑ์ อาทิ พนักงานทุกคนที่เข้ามาในพื้นที่ต้องลงทะเบียน ตรวจอุณหภูมิก่อนเข้า และก่อนออก พนักงานต้องได้รับการสอนการใส่ PPE ที่ถูกต้อง การถอด PPE ที่ถูกต้อง การออกแบบว่าพนักงานที่พบลูกค้าลักษณะนี้ควรแต่งตัวอย่างไร เช่น ต้องใส่ถุงมือ 2 ชั้นหากต้องทำความสะอาดห้องพัก นอกจากนี้ ต้องจัดเตรียมอุปกรณ์มี Face Shield หน้ากากอนามัย มีทุกอย่างที่ทำให้โรงแรมกลายเป็น ASQ
“ไม่ใช่แค่แขกปลอดภัย แต่พนักงานต้องปลอดภัย และชุมชนรอบข้างปลอดภัย การปล่อยน้ำเสียต้องมีบ่อพักน้ำเสีย 3 บ่อ ใส่คลอรีนอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งระบบนี้ไม่ใช่แค่โรงแรม หรือ โรงพยาบาลคิดเท่านั้น แต่กระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงกลาโหม ก็ต้องเข้ามาดู โรงแรมต้องมีทางออก 2 ทาง ต้องมีกล้องวงจรปิดทุกส่วน 24 ชั่วโมง ข้อกำหนดถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปรับโรงแรมให้เป็นสถานที่กักกันของรัฐ โดยทุกโรงแรมที่อยู่ในระบบ ASQ ต้องมีมาตรฐานนี้”
ทั้งนี้ ในส่วนของชุมชนรอบข้าง ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังไม่เข้าใจ แม้แต่พนักงานโรงแรมเองก็ยังไม่เข้าใจ เพราะในสมัยก่อนที่โควิด-19 ระบาดหนัก ทุกคนต่างหวาดกลัว จึงต้องมีการพูดคุยและอธิบายให้ทุกภาคส่วนมีความมั่นใจ
“การปรับตัวไม่ได้ทำเพื่อค้ากำไร แต่ทำเพื่อให้โรงแรมอยู่ได้ ไม่ต้องจ้างพนักงานออก รวมถึงธุรกิจอื่นๆ อาทิ บริษัทซัพพลายเออร์อาหาร ร้านซักรีด ร้านค้ารายย่อยอยู่ได้ ไม่ใช่แพกเกจที่สร้างกำไร แต่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ โดยไม่ต้องปลดคน และนั้นเป็นสาเหตุที่โรงแรมเริ่มต้น ทำให้รายได้จากเดิม 100% ก็กลับมาราว 30-40% โดยแพกเกจราคาเริ่มต้นที่ 63,000 บาท 15 คืน 16 วัน รวมอาหารทุกมื้อ”
ปัจจุบัน ชมรม ASQ Thailand Club มีสมาชิกทั้งหมด 136 แห่ง ทั้งในกทม. และปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดที่เป็น ALQ (ที่อยู่ในชมรม) จำนวน 20 แห่ง ในสมุย ภูเก็ต และพัทยา รวมทั้งสิ้นราว 18,000 ห้อง
- ASQ ยังคงดำเนินการต่อ
ขณะเดียวกัน จากมาตรการของภาครัฐ ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นำร่องที่ จ.ภูเก็ต (ภูเก็ต Sand Box) โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 (ไตรมาส 3) โดยไม่ต้องกักตัว แต่มีเงื่อนไข คือ 1) ต้องมีหลักฐานแสดงผลรับรองการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบทั้ง 2 โดส 2) ผลตรวจโควิด-19 เป็น "ลบ" หลังจากเข้าพื้นที่แล้ว โดยประมาณการณ์เบื้องต้นว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามา จ.ภูเก็ต ราว 100,000 คน และคาดว่าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวระยะไกล เช่น เยอรมนี รัสเซีย สแกนดิเนเวีย อังกฤษ ฯลฯ บินตรงมายัง จ.ภูเก็ต นั้น
ปรินทร์ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ ASQ ยังดำเนินการอยู่ ยังไม่มีสมาชิกที่ยกเลิกทำ ASQ หรือ ALQ เพื่อรอรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากยังมีผู้ที่กักตัวอยู่ เพียงแต่ต้องปรับตัว เช่น การปรับไปเป็น ฮอสพิเทล หรือทำงานสองระบบ คือ เป็น ASQ และ เปิดให้พักทั่วไป