สศก.ดัน GDP เกษตรปีนี้ 1.7-2.7% 'ข้าว-ผลไม้' ออกสู่ตลาดน้อย
สถานการณ์ “ลานีญา” ในปี 2564 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลบวกให้ปริมาณน้ำฝนปีนี้เพิ่มขึ้น และช่วยสนับสนุนปริมาณผลผลิตส่งออก ยกเว้นสินค้าเกษตรบางรายการที่คาดว่าผลผลิตจะออกมาน้อย รวมทั้งยังมีความกังวลต่อเงินบาทแข็งค่าที่จะทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น
แต่ในภาพรวมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ค่อนข้างพอใจกับประมาณการณ์ในปีนี้
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ปี 2564 การผลิตในสาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้มีแนวโน้มขยายตัว เพราะคาดว่าปริมาณน้ำฝนจะมีมาก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์ลานีญา ประกอบกับการบริหารจัดการที่ดีทั้งในด้านการผลิตและการตลาด มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน
รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่คาดว่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากนี้ในหลายประเทศ ซึ่งทำให้ภาวะเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวและทั้งปีคาดว่าขยายตัวประมาณ 1.7-2.7 % โดยไตรมาสแรก (ม.ค.- มี.ค.) ขยายตัวแล้ว 1.4%
การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยไปตลาดโลกในช่วงเดือน ม.ค.–ก.พ.ปีนี้ มีมูลค่ารวม 2.03 แสนล้านบาท โดยกลุ่มพืชยังขยายตัวมากที่สุด คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 1.9-2.9% สาขาปศุสัตว์ขยายตัว 1-2% สาขาประมงขยายตัว 0.1-1.1% สาขาบริการทางการเกษตรขยายตัว 0.2-1.2% และป่าไม้ขยายตัว 1-2%
ทั้งนี้ ผลผลิตการเกษตรยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง เช่น ความแปรปรวนของสภาพอากาศ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์
กระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป นอกเหนือจากการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การพัฒนาระบบเตือนภัยด้านการเกษตรและอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยโครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้าอย่างรวดเร็วและครอบคลุมพื้นที่
สำหรับระบบการประกันภัยจะเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติแบบเร่งด่วนให้ครอบคลุมทุกชนิดสินค้าทั่วประเทศส่วนหนึ่งจะสามารถลดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรกรณีเกิดภัยพิบัติ มากถึงปีละ 1 แสนล้านบาทหากสามารถเปลี่ยนแปลงงบดังกล่าว ให้อยู่ในรูปแบบประกันภัยที่เกษตรกรสามารถบริหารจัดการด้านการเงินของตัวเองได้อย่างยั่งยืน ก็จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญในปี 2564 สินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ ข้าว ทุเรียน มังคุด สุกร และโคเนื้อ โดยข้าวเนื่องจากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวที่จะออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการของตลาดภายใน ประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทุเรียน เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้มีมาตรฐานและส่งเสริม การแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น มังคุด เนื่องจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
ส่วนสำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในปี 2564 สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ น้ำมันปาล์ม สับปะรดและผลิตภัณฑ์ ทุเรียนและผลิตภัณฑ์ มังคุด เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ และเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้ามีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ ประเทศคู่ค้าหลักยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง
รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว ประกอบกับภาครัฐยังมีนโยบายในการขยายโอกาสและเพิ่มช่องทางการค้าใหม่ๆ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในตลาดต่างประเทศ
นอกจากนี้ การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์มีแนวโน้มขยายตัวทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) และจีน รวมถึงเกาหลีใต้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้มากขึ้น
และเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์คาดว่าจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากยังคงมีความต้องการจากตลาด ต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศจีนและประเทศ เพื่อนบ้าน ที่ยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูสถานการณ์ให้ดีขึ้น รวมทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบ ต่อกำลังการผลิตในต่างประเทศ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พบการระบาดของโรคดังกล่าว จึงคาดว่าจะ มีความต้องการนำเข้าสุกรจากไทยเพิ่มมากขึ้น
สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่คาดว่าการส่งออกใกล้เคียงปีที่ผ่านมา ได้แก่ ข้าวรวม ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา เงาะและผลิตภัณฑ์ ลำไยและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ และ สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ภาครัฐมีแผนการทำงานเชิงรุกเพื่อเร่งขยายตลาดให้กับสินค้าเกษตรของไทย โดยจะมีการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เร่งเดินหน้าลงพื้นที่พบปะ สร้างความรู้ความเข้าใจกับเกษตรกรไทยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยายโอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรไทย
โดยเฉพาะตลาดอาเซียน จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ซึ่งมีการทำเอฟทีเอกับไทย และได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับการนำเข้าสินค้าส่วนใหญ่จากไทยแล้ว ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังฟื้นตัวอย่างช้าและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19ในหลายประเทศที่ยังคงมือยู่ ยังเป็นข้อจำกัดของการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย