ตราสารหนี้จีน

ตราสารหนี้จีน

ทำความรู้จัก "ตราสารหนี้จีน" ที่ในอนาคตจะมีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งการลงทุนของโลกมากขึ้น มีกี่ประเภท? เมื่อเทียบตลาดพันธบัตร หรือตราสารหนี้จีน กับประเทศอื่นๆ ในโลกนั้นแตกต่างอย่างไร มีจุดเด่นอย่างไรบ้าง? เพราะอะไรนักลงทุนต่างชาติจึงเข้ามาลงทุนยังไม่มาก

เชื่อว่าหลายคนคงเคยลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้จีนกันมาบ้างแล้ว โดยส่วนใหญ่มักเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมในประเทศไทย ที่ไปลงทุนในเงินฝาก และตราสารหนี้ที่ผู้รับฝากเป็นธนาคารของรัฐ หรือผู้ออกเป็นรัฐวิสาหกิจในประเทศจีน

ตราสารหนี้ของจีนนั้นมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯและญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้วประกอบไปด้วย

1) พันธบัตรภาครัฐ (สกุลเงินหยวน) ซึ่งมีตั้งแต่ที่ไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตเลย จนถึงมีความเสี่ยงอยู่บ้างแต่อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรมณฑล พันธบัตรเทศบาล พันธบัตรที่ออกโดยธนาคารภาครัฐ ซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยผลตอบแทนของพันธบัตรธนาคารรัฐ จะสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลเล็กน้อย ด้วยสภาพคล่องที่ต่ำกว่า และภาระภาษีที่เกี่ยวข้อง

2) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ (สกุลเงินหยวน) ซึ่งไม่มีการค้ำประกันโดยรัฐบาล หรือเทศบาล เช่น พันธบัตรรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลกลาง ออกโดยรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลกลางเป็นเจ้าของ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่ออกโดยองค์กรที่มีเทศบาลเป็นเจ้าของ เป็นต้น

3) พันธบัตรรัฐบาล หรือภาคเอกชนที่ออกในฮ่องกง (สกุลเงินหยวน) หรือมักเรียกกันว่า “พันธบัตรติ่มซำ” ซึ่งมีความเสี่ยงแตกต่างกันไปตามเครดิตของผู้ออกพันธบัตรหรือตราสารหนี้นั้นๆ พันธบัตรประเภทนี้เคยได้รับความนิยมอย่างมากในอดีต ในช่วงที่การลงทุนโดยตรงในพันธบัตรที่ออกในแผ่นดินใหญ่ยังมีการควบคุมจากรัฐบาลอย่างเข้มงวด

4) ตราสารหนี้ภาคเอกชน (สกุลเงินหยวน และ/หรือสกุลเงินดอลลาร์) เช่น พันธบัตรวิสาหกิจ ตราสารหนี้ภาคเอกชน Medium Term Notes เป็นต้น โดยมีความเสี่ยงตามระดับเครดิตของผู้ออกตราสารแต่ละราย

ลักษณะพิเศษอย่างหนึ่งของตลาดพันธบัตร หรือตราสารหนี้จีน เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลกนั้น ก็คือ การมีอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำมาก ส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากผู้ออกตราสารหนี้จำนวนมากนั้นอยู่ในกลุ่มภาครัฐ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจจีนซึ่งมีมากกว่า 154,000 แห่ง ซึ่งเดิมมักถูกมองว่าได้รับการค้ำประกันแฝง (Implicit Guarantee) โดยรัฐนั่นเอง

แต่แม้จะพิจารณาข้อมูลเฉพาะในกลุ่ม “ตราสารหนี้ผลตอบแทนสูง” (High Yield Bond) อัตราการผิดนัดของตราสารหนี้จีนก็ยังคงต่ำเพียง 1.8% เท่านั้น เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงของเอเชียที่ 3.0% และสหรัฐฯที่ 6.5%

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในระยะหลังรัฐบาลจีนเริ่มแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นที่จะไม่อุดหนุนช่วยเหลือรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่รัฐวิสาหกิจไปถือหุ้น ที่ระดมทุนมาขยายกิจการโดยไม่คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ โดยรัฐบาลได้ปล่อยให้หลายบริษัทผิดนัดชำระหนี้ จนตลาดตราสารหนี้จีนปั่นป่วนกันไปช่วงหนึ่ง แต่หากเทียบกับตลาดตราสารหนี้จีนโดยรวมแล้ว ก็ถือว่ายังคงต่ำมาก

อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ภาคเอกชนจีนนั้นก็สูงมากโดยเปรียบเทียบ คือ เฉลี่ย 6-7% ต่อปีในรูปสกุลเงินหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่แม้ผลตอบแทนจะสูงขนาดนี้ แต่กลับมีสัดส่วนการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระดับที่ต่ำมากไม่ถึง 3% ของปริมาณตราสารหนี้ทั้งหมด (เทียบกับสัดส่วนมากกว่า 25% ในสหรัฐฯ และ 5% ในเกาหลีใต้)

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนในตลาดตราสารหนี้จีนไม่มากนักนั้น ก็เนื่องมาจากนโยบายควบคุมการไหลเข้าออกของเงินลงทุนระหว่างประเทศที่เข้มงวดของรัฐบาลจีน ซึ่งก็ได้มีการเริ่มผ่อนคลายมาอย่างต่อเนื่อง และมีนัยสำคัญอย่างยิ่งในพ.ศ. 2560 ผ่านนโยบาย Bond Connect ที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายตราสารหนี้สกุลเงินหยวนที่เสนอขายในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อย่างสะดวกผ่านแพลตฟอร์มในฮ่องกง ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเริ่มเพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้จีนที่อยู่ในสกุลเงินหยวนในประเทศจีนได้มากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นลงทุนในพันธบัตรติ่มซำในฮ่องกงมากกว่า

ต่อไปในอนาคตเชื่อว่าตราสารหนี้จีนจะมีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งการลงทุนของโลกมากขึ้น และแม้ว่าอัตราผลตอบแทนจะเริ่มลดลงไปบ้าง ตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ข้อดีก็คือจะมีผู้ลงทุนเข้าไปวิเคราะห์วิจัยความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารเหล่านี้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเมื่อประกอบกับการกระจายการลงทุนที่เพียงพอก็จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนในเชิงภาพรวมได้ดีขึ้นนั่นเอง