‘กรมสมเด็จพระเทพ’ พระราชทานทรัพย์ตั้งกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 สร้างสิ่งประดิษฐ์

‘กรมสมเด็จพระเทพ’ พระราชทานทรัพย์ตั้งกองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 สร้างสิ่งประดิษฐ์

“กรมสมเด็จพระเทพ” พระราชทานทรัพย์ตั้ง "กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)" สร้างสิ่งประดิษฐ์คิดเร็ว...นวัตกรรมสู้ภัยโควิด – 19 พระราชทานแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 19 เม.ย.64 เพจมูลนิธิชัยพัฒนา เผยแพร่ภาพและข้อความว่า กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ ) ปลายปี 2562 เราได้รู้จักกับโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่สร้างความหวาดกลัวและหวั่นวิตกเพราะสามารถติดต่อกันได้ง่าย รวดเร็ว มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็น “โรคระบาด”

จากความหวาดกลัว นำไปสู่การเรียนรู้ที่จะรับมือและปกป้องตนเองจากการแพร่กระจายของโรค อีกทั้งเพื่อช่วยลดภาระให้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข ที่ต้องรักษาผู้ติดเชื้อในประเทศไทย และในบางพื้นที่บุคลากรเหล่านี้ก็มีไม่เพียงพอ หากต้องเจ็บป่วยการรักษาจะยิ่งเกิดความยากลำบากเป็นเท่าทวีคูณ ความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อปกป้องและลดภาระในการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และพยาบาลจึงเกิดขึ้น เราได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากหลายหน่วยงานหลายองค์กรที่ได้ช่วยกันคิดค้นเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างทันท่วงที

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะหากบุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย นั่นหมายถึงการรักษาที่มีความพร้อม ประชาชนจะได้รับการรักษาที่ดีอย่างทั่วถึง ช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียได้มาก จึงได้พระราชทานพระราชานุมัติให้มูลนิธิชัยพัฒนาใช้งบประมาณจาก “กองทุนชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 (และโรคระบาดต่างๆ)” จัดซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเพื่อมอบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์จากการคิดค้นของคนไทย ประกอบด้วยอะไรบ้าง ไปทำความรู้จักกัน

161884301233

หุ่นยนต์ปิ่นโต - กระจก

หุ่นยนต์ช่วยเหลือทางการแพทย์ นวัตกรรมที่พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพภายใต้การบ่มเพาะของศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นโครงการพัฒนาหุ่นยนต์และอุปกรณ์สนับสนุนการแพทย์สู้ภัย COVID-19 ภายใต้แนวคิดหลัก “อำนวยความสะดวก ลดความเสี่ยง เพิ่มประสิทธิภาพ” เป็นชุดหุ่นยนต์ที่พัฒนามาจากรถเข็นสแตนเลสส่งอาหารในโรงพยาบาล และแท็บเล็ตสื่อสาร ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากคนไข้สู่บุคลากรทางการแพทย์ สร้างระบบเครือข่ายการสื่อสารระหว่างแพทย์และผู้ป่วยให้เข้าถึงการรักษาได้อย่างทั่วถึง

161884301339

ชุดตรวจคัดกรองโรค COVID-19 เบื้องต้น

“Chula COVID-19 Strip Test” เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับทีมกลุ่มสตาร์ทอัพนิสิตเก่าจุฬาฯ และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชน มีลักษณะคล้ายกับชุดตรวจการตั้งครรภ์ เป็นตัวจับภูมิคุ้มกันในเลือดและทำให้เกิดแถบสีต่าง ๆ เมื่อใช้งาน อาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology test) สามารถตรวจได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ใช้ตัวอย่างเลือดที่ปลายนิ้ว จึงทำให้การตรวจวินิจฉัยมีความปลอดภัย และใช้เวลาอ่านผลไม่เกิน 10 นาที ใช้ทดสอบการสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อการติดเชื้อของผู้ป่วย หากมีการสร้างภูมิคุ้มกันก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะมีการติดเชื้อ เพื่อที่จะได้แยกและสกัดการแพร่กระจายของการติดเชื้อได้ ชุดตรวจคัดกรองนี้จะช่วยคัดกรองเบื้องต้นจากการตรวจคัดกรองแบบมาตรฐานคือ Real-time PCR ซึ่งต้องใช้เวลาในการรอผลนาน และมีราคาสูง

161884301429

“Chula VID” ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ

จากภาควิชาและหน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สร้างขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการติดเชื้อให้แก่บุคลากรทางแพทย์ขณะตรวจคัดกรองโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมโรคผ่านเครื่องกรองอากาศความดันลบ การทำงานของตู้นี้จะให้ผู้ติดเชื้อเข้าไปอยู่ด้านใน จากนั้นแพทย์จะสวมถุงมือขนาดยาว สอดแขนเข้าไปเก็บสิ่งส่งตรวจ ในระหว่างทำหัตถการ เชื้อไวรัสที่ฟุ้งกระจายอยู่ภายในตู้ความดันลบไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้ เนื่องจากมีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ HEPA Filter ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถกรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอน ได้ถึง 99.995% จากนั้นฉายซ้ำด้วยรังสี UV-C ทำให้เชื้อไวรัสตาย และถูกกำจัดหายไปในอากาศ ตู้นี้จึงมีความปลอดภัยสูงกว่าการใช้หน้ากาก N95 ซึ่งกรองอนุภาคได้เพียง 0.3 ไมครอน ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถนำแบบ “ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ” ไปจัดสร้าง หรือต่อยอดพัฒนาให้ดีขึ้นได้ฟรี โดยไม่ต้องขอนุญาตอีกด้วย

161884301187

161884301051

ห้องคลีนรูม

องค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการทดลองของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (COE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ร่วมกับ บริษัท อีคิว เทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ระดมนักศึกษา นักวิจัย ร่วมออกแบบห้องคลีนรูมสำหรับตรวจรักษาผู้ป่วยแบบความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ ขนาด 3 x 6 x 2.7 เมตร แบ่งเป็นห้องความดันลบ 2 ห้อง สำหรับตรวจหาเชื้อโรค มีการกั้นห้องระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรอย่างชัดเจน ลดการสัมผัสและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ มีห้องปฏิบัติตรวจรักษาและห้องน้ำ 1 ห้อง ซึ่งติดตั้งแยกจากตัวอาคารหลัก ทำให้ไม่มีการแพร่เชื้อจากห้องตรวจไปสู่ภายนอก สำหรับการรักษาความดันที่ติดลบนี้ ต้องใช้ปั๊มทำงานตลอดเวลา และมีระบบสำรองไฟในกรณีไฟฟ้าดับ เพื่อป้องกันความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้ออีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีห้องสำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ขนาด 4X4 เมตร ออกแบบเป็นโครงเหล็กโปร่ง คลุมด้วยพลาสติกใสหนาที่ปรับแปลงให้เป็นห้องความดันลบ (negative pressure) และเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ติดเชื้อ คลุมด้วยโครงพลาสติกใสความดันลบ (negative pressure) แบบเคลื่อนที่ได้ พร้อมระบบไฟสำรอง

161884301279 นวัตกรรมป้องกันโควิด-19 จาก SCG แบบเคลื่อนที่และแบบถาวร แบบเคลื่อนที่ ใน 1 ชุด

ประกอบด้วย ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบแบบเคลื่อนที่ (Negative Pressure Isolation Room) สำหรับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือเป็นห้องพักผู้ป่วย มีลักษณะคล้ายเต็นท์ เหมาะสำหรับจัดวางในพื้นที่ที่ต้องการควบคุมการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค ติดตั้งและรื้อถอนได้ง่าย สามารถเปลี่ยนที่ติดตั้งได้ตามต้องการ เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อที่อาจเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว

ห้องตรวจเชื้อความดันลบ หรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) มีลักษณะเป็นทรงกระบอกขนาดเล็กสำหรับคน 1 คน มีช่องให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ (Swab) ตรวจคนไข้ได้สะดวก สามารถมองเห็นและติดต่อสื่อสารกันได้ โดยไม่ต้องสัมผัสผู้ป่วย

แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ออกแบบให้มีขนาดพอดีกับผู้ป่วย สามารถต่อโต๊ะวางอุปกรณ์การแพทย์ได้

161884301335

แบบถาวรติดตั้งภายนอกอาคาร

ประกอบด้วย ห้องคัดกรอง (Modular Screening Unit) และห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit) จัดสร้างภายนอกอาคาร เป็นหน่วยปฏิบัติการขนาดกะทัดรัด ใช้เวลาติดตั้งเพียง 3 วัน เพื่อให้พร้อมใช้งานได้อย่างทันท่วงที

สำหรับห้องคัดกรอง จะแบ่งพื้นที่ของแพทย์และพยาบาลที่ทำหน้าที่ตรวจคัดกรองออกจากพื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายใน Modular Unit มีประตูเข้าออก 2 ชั้น เพื่อป้องกันอากาศรั่วไหล พูดคุยซักประวัติของผู้ที่มีความเสี่ยงผ่านกระจกที่ติดตั้งเครื่องมือสื่อสาร (Intercom) 

ภายในห้องคัดกรองจะถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive pressure) เพื่อสร้างแรงดันอากาศภายในห้องที่ผลักอากาศเสียออก และเพิ่ม Bi-polar Ion เพื่อจับเข้ากับโมเลกุลของเชื้อไวรัสที่อาจหลุดรอดเข้ามา ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการปฏิบัติงาน ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจจะเป็นพื้นที่โล่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้เกิดการระบายอากาศ และลดโอกาสการติดเชื้อ

ส่วนห้องตรวจหาเชื้อ ในขั้นตอนนี้มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากขณะที่ตรวจ ผู้ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้ออาจจะไอหรือจาม ทำให้เชื้อไวรัสฟุ้งกระจายออกมา ดังนั้น การออกแบบห้องตรวจจึงต้องรัดกุม โดยบุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติงานอยู่ภายในห้องตรวจหาเชื้อที่ถูกปรับความดันอากาศให้เป็นความดันบวก (Positive pressure) และเพิ่ม Bi-polar Ion 

ขณะที่พื้นที่ของผู้ที่มีความเสี่ยงที่เข้ารับการตรวจ จะถูกแยกออกมาและปรับความดันอากาศให้เป็นกึ่งลบ (Semi-Negative Pressure) หรือความดันลบ (Negative Pressure) เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของเชื้อไวรัส พร้อมเพิ่มการใช้แสงยูวีที่มีความเข้มข้นสูงพิเศษเพื่อฆ่าและทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ (UV Germicide) การเก็บตัวอย่าง (Swab) จะทำผ่านแผ่นอะคริลิก โดยแพทย์สามารถสอดมือผ่านช่องที่มีถุงมือคลุมด้วยพลาสติก ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจะแยกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อให้สามารถแยกปิดได้ในกรณีฉุกเฉินที่มีการรั่วระหว่างห้องบุคลากรทางการแพทย์กับห้องผู้เข้ารับการตรวจอีกด้วย

161884301436

ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ (True Negative Pressure)

สามารถเพิ่มความปลอดภัยให้บุคคลากรทางการแพทย์ โดยห้องที่ติดตั้งระบบดังกล่าวใช้หลักการนำอากาศสะอาดเติมเข้าสู่ห้องผู้ป่วยตลอดเวลา (Fresh Air 100 % ) ซึ่งอากาศในห้องผู้ป่วยที่อาจมีเชื้อโรคจะถูกดูดออกจากห้องอย่างรวดเร็ว โดยไม่นำอากาศเดิมภายในห้องกลับมาใช้ซ้ำ และเครื่องระบายอากาศสมบูรณ์แบบ Exhaust Unit ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ แผ่นฟิลเตอร์สามารถกรองอากาศได้ละเอียดที่ 0.1 ไมครอน ขณะที่เชื้อไวรัสโควิดมีขนาดเฉลี่ย 0.125 ไมครอน อีกทั้งยังสามารถควบคุมความชื้นสัมพัทธ์เพื่อป้องกันเชื้อราและเชื้อโรคอื่นๆ ไม่ให้เจริญเติบโตในห้องผู้ป่วย ซึ่งระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์นี้ สามารถรองรับการติดตั้งในหอผู้ป่วยรวม ซึ่งมีจำนวนเตียงตั้งแต่ 3-9 เตียงต่อห้อง

ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ เป็นไปตามมาตรฐานสากล WHO และมีความปลอดภัย มาตรฐานศูนย์การควบคุมเชื้อโรค CDC ของสหรัฐอเมริกา และผ่านการทดสอบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รวมถึงได้รับการทดสอบจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งผลของการทดสอบนั้นพบว่าสามารถลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียภายในห้องผู้ป่วยได้ 98.3% สามารถติดตั้งในอาคารที่ต้องการติดตั้งใหม่ หรือในพื้นที่ห้องของโรงพยาบาลที่มีอยู่แล้วได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างห้องใหม่ เพียงแต่ปรับปรุงภายในห้องเพื่อรองรับการระบายเท่านั้น

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจในยามที่เกิดวิกฤติ และยังทำให้เห็นถึงความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและสนับสนุน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ดังพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” พระราชทานเนื่องในสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2531 ใจความว่า

“…ปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง เราจึงควรสนับสนุนให้มีการคิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาวะและความต้องการของประเทศขึ้นใช้เองอย่างจริงจัง ถ้าเราสามารถคิดค้นได้มากเท่าไร ก็จะเป็นการประหยัดและช่วยให้สามารถนำไปใช้ในงานต่าง ๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้นเท่านั้น…”

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานหุ่นยนต์ปิ่นโตและกระจกระบบสื่อสารทางไกล แก่โรงพยาบาล 73 แห่ง / ตู้ความดันลบสำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจจำนวน 23 ตู้ แก่โรงพยาบาล 16 แห่ง / ห้องคลีนรูมแก่โรงพยาบาล 16 แห่ง /ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อแบบเคลื่อน จำนวน 11 แห่ง และแบบถาวร จำนวน 3 แห่ง / ระบบแลกเปลี่ยนอากาศแรงดันลบแบบสมบูรณ์ จำนวน 9 แห่งนอกจากนี้ยังได้พระราชทานวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลอื่นๆ รวมทั้งสิ้น 122 โรงพยาบาลใน 56 จังหวัด

161884301344

161884301173