โรงแรมกัดฟันทนพิษโควิด! ลุ้นรัฐคุมระลอก 3 เอาอยู่ภายใน 1 เดือน
หลังจากวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความเสียหายให้ได้เร็วที่สุด
โดยจะไม่มีการล็อกดาวน์ และไม่มีการประกาศเคอร์ฟิว!
ในเรื่องนี้ มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ทางสมาคมฯเห็นด้วย เพราะจะช่วยสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจควบคู่ สิ่งสำคัญคือต้องการให้รัฐบาลเร่งควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ภายในระยะสั้นไม่เกิน 1 เดือนนี้!
โดยในช่วง 14 วันแรกหลังหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ถือเป็น “Critical Period” หรือช่วงวิกฤติที่ต้องเฝ้าระวังและจับตาเป็นพิเศษ เร่งควบคุมการระบาดเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายในอีก 14 วันถัดมา
“ช่วงนี้ผู้ประกอบการโรงแรมไทยต้องกัดฟันทนพิษโควิด-19 และลุ้นให้รัฐบาลควบคุมการระบาดระลอก 3 เอาอยู่ให้ได้ภายใน 1 เดือนนี้ ต้องเข้มงวด จบให้เร็ว เพื่อให้ภาคธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ไม่อยากให้ยืดเยื้อนาน 2-3 เดือน เพื่อให้ภาพรวมตลาดการเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัว ผู้คนกลับมามั่นใจออกเดินทางอีกครั้ง”
แม้เบื้องต้นสมาคมฯคาดว่าภาพรวมตลาด “ไทยเที่ยวไทย” จะยังฟื้นตัวไม่ทันช่วงหยุดยาว 4 วันเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติและวันฉัตรมงคล ตั้งแต่วันที่ 1-4 พ.ค.2564 แต่หวังว่าจะเริ่มฟื้นตัวได้ในช่วงปลายเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป สอดรับกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3” และ “ทัวร์เที่ยวไทย” ที่รัฐบาลเตรียมเปิดให้ประชาชนจองสิทธิเร็วๆ นี้ในจังหวะที่เหมาะสมเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ระลอก 3 คลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม สมาคมฯคาดการณ์ว่าตลอดเดือน พ.ค.นี้ อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในประเทศไทยน่าจะน้อยมากอยู่ที่ 10-20% เนื่องจากคนไทยอยู่บ้านเพื่อหยุดเชื้อ และต้องทำงานที่บ้าน (Work from Home) กันเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ตลาดงานประชุมสัมมนาและสันทนาการในโรงแรมมีน้อยลง ตลาดการเดินทางแบบกรุ๊ปทัวร์น้อยลง ต่อเนื่องจากเดือน เม.ย.นี้ซึ่งเป็นเดือนที่เริ่มเห็นการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ชัดเจน คาดว่าทั่วประเทศจะมีอัตราเข้าพักเฉลี่ยตลอดเดือนนี้ที่ 20-40% ลดลง 10-20% จากเดิมที่ควรได้ไม่ต่ำกว่า 50%
“หวังว่ารัฐบาลจะเร่งควบคุมการระบาดได้สำเร็จภายใน 1 เดือนนี้ เพื่อหนุนให้ภาพรวมตลาดโรงแรมไทยกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.นี้หรือต้นเดือน มิ.ย.นี้เป็นต้นไป พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการดึงตลาดต่างชาติเที่ยวไทย เรื่องนี้ต้องเดินหน้าต่อไปตามไทม์ไลน์ของโรดแมพเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว”
โดยไตรมาส 3 นี้ จะมีการนำร่องโครงการ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” เริ่มด้วยพื้นที่ภูเก็ตก่อนเป็นแห่งแรก ดีเดย์วันที่ 1 ก.ค.2564 อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วอยู่ในภูเก็ตและเที่ยวเส้นทางตามกำหนด (Sealed Route) อย่างน้อย 7 คืนโดยไม่ต้องกักตัว ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่นๆ
มาริสา กล่าวด้วยว่า หลังจากพ้นช่วง Critical Period 14 วันแรกนับตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมาซึ่ง ศบค.ประกาศมาตรการล่าสุดเพื่อควบคุมโควิด-19 ระลอก 3 ทางสมาคมฯต้องการให้ ศบค.พิจารณาผ่อนปรนบางมาตรการเพื่อให้ธุรกิจโรงแรมดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนต่อไปได้ อาทิ กิจกรรมการจัดประชุมสัมมนาในโรงแรม ให้สามารถมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนมากกว่า 50 คนได้ โดยพิจารณาจากขนาดพื้นที่จัดงานตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และในส่วนของห้องอาหารในโรงแรม ขอผ่อนปรนให้สามารถเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนมื้ออาหารได้ เนื่องจากไม่ได้มีบรรยากาศสังสรรค์รื่นเริงเหมือนในผับบาร์ และทางโรงแรมก็มีมาตรการคุมเข้มเรื่องนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้สมาคมฯได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงแรมร่วมเป็น “Hospitel” (ฮอสพิเทล) หรือ “หอผู้ป่วยติดโรคโควิด-19 เฉพาะกิจ” เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงว่าประเทศไทยพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกินหลักพันคนต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา โรงพยาบาลที่รับดูแลรักษาผู้ป่วยอาจไม่เพียงพอ หน่วยงานภาครัฐจึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรมร่วมเป็นฮอสพิเทล สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง โดยปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ โดยผู้ป่วยจะรักษาตามอาการหรือรักษาในโรงพยาบาล 2-7 วัน จากนั้นจะส่งเข้าสังเกตอาการต่อในฮอสพิเทลจนครบอย่างน้อย 14 วันนับจากมีอาการ ทั้งนี้เพื่อให้ทางโรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับโรงแรมที่เข้าร่วมเป็นฮอสพิเทล จะมีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาจากโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน อาทิ โรงพยาบาลพญาไท โรงพยาบาลเปาโล และโรงพยาบาลเครือ BDMS แต่ทั้งนี้โรงแรมจะต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชนในชุมชนจึงสามารถดำเนินการได้