KBANK กำไรร่วง 19.85% จากการตั้งสำรองเพิ่ม 8.6พันล้าน รับโควิดระลอก3
กสิกรไทย แจ้งกำไรสุทธิ ไตรมาสนี้ อยู่ที่ 10,627ล้าน ลดลงจากไตรมาสก่อน 2,631 ล้านบาท หรือ 19.85% จากการตั้งสำรองเพิ่ม เป็น8.6พันล้าน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน จากผลกระทบโควิดระลอก3
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 2564 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งทำให้แรงส่งจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขาดความต่อเนื่อง
แม้จะมีแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ขณะที่ภาคการส่งออกสินค้า (ไม่รวมทองคำ) ก็เริ่มได้รับอานิสงส์บางส่วนจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 2564 นั้น มองว่าเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีความไม่แน่นอน และสถานการณ์ในแต่ละภาคส่วนยังมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับการควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อน 2,631 ล้านบาท หรือ 19.85%
โดยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้จำนวน 23,496 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2563 จำนวน 4,857 ล้านบาท หรือ 26.06% หลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,530 ล้านบาท หรือ 5.75%
ส่วนใหญ่จากรายได้ดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ ทำให้อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.16%
ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงจำนวน 414 ล้านบาท หรือ 3.36% ส่วนใหญ่เป็นผลจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นจำนวน 1,129 ล้านบาท หรือ 13.60%
ส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน ค่าธรรมเนียมรับจากการโอนเงิน และค่าธรรมเนียมรับจากการเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 3,741 ล้านบาท หรือ 18.45% เนื่องจากในไตรมาสก่อน หลัก ๆ มีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้า และค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ทางธุรกิจซึ่งเป็นปกติตามฤดูกาล
ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) ในไตรมาสนี้อยู่ที่ระดับ 41.30%
นอกจากนี้ ธนาคารและบริษัทย่อยตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสนี้จำนวน 8,650 ล้านบาท แม้ว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ธนาคารตั้งสำรองฯ ลดลงหลังจากที่ตั้งในระดับที่สูงในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งเป็นระดับที่เพียงพอแล้ว
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ที่แพร่ระบาดในวงกว้างช่วงปลายไตรมาส 1 ปี 2564 รวมทั้งธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านมาตรการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ จึงมีสำรองฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน
ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาส 1 ปี 2564 เปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2563 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 10,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,252 ล้านบาท หรือ 44.10% หลัก ๆ เกิดจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 1,923 ล้านบาท หรือ 19.30%
เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรม (Mark to Market) ของสินทรัพย์ทางการเงินตามภาวะตลาด และค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ลดลงจำนวน 950 ล้านบาท หรือ 5.44% จากการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว
โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 41.30%
รวมทั้ง ธนาคารและบริษัทย่อยมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 8,650 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 3,222
ล้านบาท หรือ 27.14%
โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนจากสถานการณ์ของโควิด-19
ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 3,767,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 จำนวน 108,317 ล้านบาท หรือ 2.96% ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิ และการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ
. ซึ่งธนาคารมีการติดตามดูแลคุณภาพเงินให้สินเชื่อของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิด สำหรับเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 3.93% ในระดับเดียวกับสิ้นปี 2563 อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 153.98%
โดยสิ้นปี 2563 อยู่ที่ระดับ 149.19% สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 อยู่ที่ 18.44% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 15.80%