ข้อควรรู้!! สัญญาณเตือน 'อัมพฤกษ์' รู้เร็วป้องกันได้

ข้อควรรู้!! สัญญาณเตือน 'อัมพฤกษ์' รู้เร็วป้องกันได้

จากกรณีผู้ "ฉีดวัคซีนโควิด-19" แล้วมีอาการ "อัมพฤกษ์" ซึ่งเป็นโรคที่ทุกคนสามารถเป็นได้ แต่ก็ป้องกันได้เช่นกัน เพียงเช็คสัญญาณเตือน "อัมพฤกษ์" และป้องกันก่อนจะเสี่ยงติดเตียง

กลายเป็นความหวั่นวิตกของผู้ที่กำลังจะ “ฉีดวัคซีนโควิด-19 ขึ้นมาทันที เมื่อทาง นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า มีผู้ ”ฉีดวัคซีนโควิด-19” ของ “ซิโนแวค” 6 ราย เป็นอัมพฤกษ์ ที่จ.ระยอง โดยได้ให้ยาละลายลิ่มเลือดและกลับมาเป็นปกติ

  •  6 ราย "ฉีดวัคซีนโควิด-19"มีอาการ"อัมพฤกษ์" 

โดยอาการที่ไม่พึงประสงค์ 6 รายนี้ พบตั้งแต่วันที่ 5 – 9 เมษายน ดังนี้

รายที่ 1 เพศหญิง วัย 29 ปี เป็นนักกายภาพบำบัด ไม่มีโรคประจำตัว มีประวัติแพ้กุ้ง ทานยาคุมกำเนิดมาตลอด 3 ปี เมื่อฉีดแล้ว ปวดตึงแขนขวา จากนั้นมีอาการ Rt.Hemi Sensory Loss และ Rt.Hemiparesis ย้ายไปห้องฉุกเฉิน มีอาการปวดตึงท้ายทอย และพูดไม่ชัด แอดมิด 3 วัน

รายที่ 2 เพศหญิงวัย 33 ปี อาชีพผู้ช่วยเหลือคนไข้ มีโรคประจำตัว ธาลัสซีเมีย มีประวัติแพ้อาหาร กุ้ง ปลาแซลมอน เมื่อฉีดแวมีอาการปวดศีรษะท้ายทอย เจ็บหน้าอกเป็นพักๆ ใจสั่น อ่อนแรง ชาแขนซ้าย แอดมิด 2 วัน

รายที่ 3 เป็นเพศหญิงวัย 21 ปี เป็นพนักงานแผนกจ่ายกลาง มีโรคประจำตัว ธาลัสซีเมียชนิดแฝง ปฏิเสธการแพ้ยา แพ้อาหาร ก่อนฉีดเจ็บหน้าอกซ้าย ต่อมา เจ็บหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น ปวดตึงต้นแขน รวมระยะมีอาการ 21 ชั่วโมง แอดมิด 2 วัน

161899078539

รายที่ 4 เป็นเพศหญิง 54 ปี ผู้ช่วยเภสัชกรร้านยาเอกชน เป็นมะเร็งเต้านม เคยผ่าตัดเมื่อ 7 ปีที่แล้ว รวมทั้งเคยให้เคมีบำบัด และทานยาอยู่เป็นประจำ ใช้น้ำตาเทียมประจำ เมื่อฉีดมีผื่นแดงที่แขนทั้ง 2 ข้าง ชายปลายเท้า มีชาที่ปาก ลิ้นแข็ง สมองสั่งการช้า แอดมิด 2 วัน

รายที่ 5 เพศหญิง อายุ 25 ปี เป็นผู้ช่วยทันตแพทย์ ปฏิเสธโรคประจำตัว แพ้ยา หรือแพ้อาหาร เมื่อฉีดวัคซีน มีชาที่ต้นคอ ปวดแขน พูดไม่ชัด ชาไม่มีแรง แอดมิด1 วัน

รายที่ 6 เพศหญิง อายุ 27 ปี เป็นเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาล ปฏิเสธโรคประจำตัว ให้ประวัติเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ปฏิเสธแพ้ยาและอาหาร ฉีดวัคซีนแล้ว ง่วงซึมลง ก่อนย้ายไปฉุกเฉิน แอดมิด 1 วัน

โดยทั้ง 6 ราย ได้ “ฉีดวัคซีนโควิด-19”ของ “ซิโนแวค” J200103001m6dik หมดอายุ 20210901

  • เช็ค! "อาการอัมพฤกษ์" รู้เร็วป้องกันได้

วันนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนมา เช็ค! “อาการอัมพฤกษ์” รวมถึง วิธีการฟื้นฟูผู้ป่วย “อาการอัมพฤกษ์”

“อัมพฤกษ์” เป็นโรคที่น่ากลัวในกลุ่มของผู้สูงอายุที่มีภาวะเสี่ยง เนื่องจากผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อโรคทางสมองมากกว่าวัยอื่นๆ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าวัยรุ่น วัยทำงาน วัยกลางคน ก็ล้วนมีโอกาสเป็น "อัมพฤกษ์"ทั้งสิ้น โดย “อาการอัมพฤกษ์” จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ขยับตัวไม่ได้ เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียง และยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ

ทว่าแม้โรคนี้จะเป็นโรคที่ดูน่ากลัวแต่ทุกคนสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ และควรทำความเข้าใจโรคนี้ เพื่อให้ตัวเรา และคนในครอบครัวห่างไกลจากโรคร้ายนี้ดังกล่าว

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเพชรเวช อธิบายว่า "อัมพฤกษ์" อัมพาต หรือ cerebrovascular accident (CVA) เป็นอาการของโรคหลอดเลือดในสมอง หรือ Stroke เกิดจากการที่เซลล์สมองขาดเลือด โดยมีสาเหตุจากภาวะหลอดเลือดสมองตีบและอุดตัน (ischemic stroke หรือ thrombosis)  ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากถึง 80% และอีก 20 % คือสาเหตุจากการมีเลือดออกในสมอง (bleeding หรือ haemorrhage)

ทั้งนี้ "อัมพฤกษ์" และอัมพาต มีความแตกต่างกัน คือ "อัมพฤกษ์" ภาวะที่แขน หรือขาอ่อนแรง แต่ยังพอใช้งานได้ ขยับได้ เกิดความรู้สึกชาตามอวัยวะต่าง ๆ เป็นบางครั้ง ขณะที่ “อัมพาต” นั้นภาวะที่แขน หรือขาไม่มีแรง ใช้งานไม่ได้เลย ฉะนั้น กล่าวง่ายๆ คือ  “อัมพฤกษ์”สามารถขยับร่างกายได้ บ้าง แต่ “อัมพาต” ไม่สามารถขยับได้เลย

สำหรับ "อาการอัมพฤกษ์" เซลล์สมองถูกทำลายไปแล้วบางส่วน โดยจะมีอาการตามัว สูญเสียความทรงจำ หงุดหงิดง่าย ความสามารถในการตัดสินใจ และการคำนวณลดลง อาการเคลื่อนไหวช้าลง มุมปากตก อมน้ำไว้ในปากไม่ได้ ความจำเสื่อมชั่วขณะ พูดไม่ชัด เป็นต้น ซึ่งอาการสมองขาดเลือดจะมีความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการเป็น

  • เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงเป็น “อัมพฤกษ์”

อย่างที่กล่าวข้างต้น ขณะนี้ “โรคอัมพฤกษ์” หรือ “โรคหลอดเลือดสมอง” ไม่ได้น่ากลัวเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น แต่กลุ่มอื่นๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้ที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน เป็นต้น

โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน โรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และคนอีกไม่น้อยต้องทนทุกข์ทรมานกับความพิการ อัมพฤกษ์ อัมพาต ทางเดียวที่เราจะปลอดภัยจากโรคนี้ได้ก็คือ การเฝ้าสังเกตอาการ...เพื่อรู้ทันและรีบรักษาได้อย่างทันท่วงที

  • สัญญาณเตือน “อาการอัมพฤกษ์” ต้องระวัง

สำหรับอาการแสดงที่เป็นสัญญาณเตือนจาก อัมพฤกษ์ หรือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน คือ  "แขนขาอ่อนแรง" ตามัว หรือมองไม่เห็น พูดไม่เข้าใจ หรือพูดไม่รู้เรื่อง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นอาการอันตราย และยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงอื่นๆ จากการควบคุมร่างกายไม่ได้ด้วย

โดยเฉพาะ“แขนขาอ่อนแรง” เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงส่งผลให้แขนขาอ่อนแรงลง หรืออาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น กลืนลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก

อาการ “แขนขาอ่อนแรง” มักจะเริ่มต้นจากบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน อาจจะเป็นในลักษณะ ยกแขนไม่ขึ้น กำมือไม่ได้ หยิบจับของอะไรแล้วหล่นง่าย จากนั้น หากมีอาการที่หนักหรือรุนแรงขึ้น ก็จะเริ่มลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ โดยอาจเป็นไปในลักษณะของการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือทั้งตัว ซึ่งหากพบสัญญาณดังกล่าว นั่นเป็นการเตือนว่า มีความผิดปกติของโรคที่อยู่ในระดับอันตรายแล้วควรรีบพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาและวินิจฉัยโดยด่วน

  • รักษาอย่างไร? ให้ปลอดภัยจาก "อัมพฤกษ์"

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญคือ การทำให้เซลล์ของสมองยังอยู่รอดให้ได้นานที่สุด ถ้าสามารถทำให้เลือดไหลเวียนได้ทันเวลา และในระดับที่เพียงพอ ก็สามารถทำให้เนื้อสมองบริเวณนั้นฟื้นตัวได้เร็ว ส่งผลให้ผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งการรักษานี้จะต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง และวิธีที่ใช้ในการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการเป็นสำคัญ มีแนวทางในการรักษา 3 แนวทาง ดังต่อไปนี้

ให้ยาละลายลิ่มเลือด tissue plasminogen activator (TPA) เพื่อเปิดหลอดเลือด ให้เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้เร็วที่สุด เพื่อให้เซลล์สมองที่ยังไม่ตายฟื้นกลับมาทำงานได้ "อาการอัมพฤกษ์" อัมพาต จะดีขึ้น สามารถลดอัตราความพิการ แขนขาอ่อนแรงของผู้ป่วยได้มาก ผู้ป่วยที่ได้รับยา TPA ประมาณ 30-50% มีอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผล CT Scan พบว่าไม่มีภาวะเลือดออกหรือเนื้อสมองตาย ระยะเวลาให้ยา TPA ไม่ควรเกิน 4.5 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการผิดปกติ แต่ ผู้ป่วยต้องไม่มีข้อห้ามต่างๆ เช่น มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพอง มีภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน ค่าความแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นต้น เพราะเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกได้ง่าย ฉะนั้นเมื่อมีอาการแขนขาอ่อนแรงผิดปกติ จึงต้องรีบมาพบแพทย์ทันที

ใช้ขดลวดสอดในหลอดเลือดแดง ลากเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง สำหรับผู้ที่มาโรงพยาบาลภายใน 6 ชั่วโมง สามารถเปิดหลอดเลือดที่อุดตันในสมองโดยการฉีดสารทึบรังสีเข้าไปที่หลอดเลือด เพื่อให้แพทย์ทราบตำแหน่งที่อุดตันได้ชัดเจนและใส่สายสวนเล็กๆ ผ่านหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบจนถึงตำแหน่งที่มีลิ่มเลือดอุดตัน ปลายสายมีขดลวดเล็กๆ สำหรับคล้องเกี่ยวเอาลิ่มเลือดออกมาได้ ทำให้หลอดเลือดเปิด เลือดสามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น (ใช้เวลาในการทำ 1–5 ชั่วโมง) ความยากง่ายของการทำขึ้นอยู่กับสภาพหลอดเลือดและลิ่มเลือด ส่วนใหญ่อาการดีขึ้นทันทีหลังทำ บางรายแขนขาอ่อนแรงขยับแขนขาไม่ได้ เมื่อรักษาแล้วกลับมาเดินได้ในวันรุ่งขึ้น

การผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาผ่าตัด กรณีที่สมองบวมจนกดเบียดเนื้อสมองที่ดี หรือเบียดก้านสมอง ทำให้ผู้ป่วยซึมลง หมดสติ หยุดหายใจ ทำให้เสียชีวิต เป้าหมายของการผ่าตัดเพื่อลดความดันในกะโหลกศีรษะและป้องกันสมองส่วนที่ดีอื่นๆ โดนทำลาย เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิต

  • หมั่นสังเกตอาการ ป้องกัน "อัมพฤกษ์"

หลายๆ คนต้องหมั่นสังเกตอาการของตนเอง รวมถึงต้องงดการดื่มสุรา และสูบบุหรี่ ออกกำลังกายเพื่อรักษาน้ำหนักให้ตรงตามเกณฑ์เสมอ และหากมีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ควรควบคุมให้น้ำตาลในเลือด และความดันโลหิตเป็นปกติ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และลดอาหารที่มีรสเค็ม หรือหวานจัด รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพ และพบแพทย์เป็นประจำเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรืออาการอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ต้องรีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะทุกวินาทีเซลล์สมองจะถูกทำลายไปเรื่อยๆ และนั่นคือ "อัมพฤกษ์" อัมพาต ที่ยากจะกู้กลับคืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  สธ. จ่อแถลงบ่ายนี้ กรณีผู้ได้รับวัคซีนซิโนแวค เกิดอาการอัมพฤกษ์

                      'อียู' พบ วัคซีนโควิดหลายชนิด ทำผู้ฉีดเกิดลิ่มเลือด 300 รายทั่วโลก

                      รู้ให้ชัดก่อน ฉีด-ไม่ฉีด 'วัคซีนโควิด-19'