สปสช. เพิ่มคู่สาย โทร. 1330 รองรับ 'หาเตียง' โควิด-19
สปสช.ระดมกำลังเพิ่มคู่สาย 1330 เป็น 300 คู่สาย พร้อมจัดเจ้าหน้าที่โทรกลับทุกสายที่โทรเข้ามาแต่ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ส่วนการประสาน "หาเตียง" ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.หาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ได้แล้วเกือบ 500 ราย
วันนี้ (22 เมษายน 2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดความแออัดในการเข้ารับการตรวจคัดกรองรวมทั้งโรงพยาบาลบางแห่งอาจประสบปัญหาเตียงเต็ม ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้
ที่ผ่านมา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้มอบให้ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และ สปสช. จัดระบบรองรับโดยจะให้ "สายด่วน 1330" ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัด "หาเตียง" ให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับ โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ที่ทำหน้าจัด "หาเตียง" ให้กับผู้ติดเชื้อ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นมานั้น
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินการพบว่า ในแต่ละวันมีปริมาณสายโทรเข้ามาจำนวนมากบางวันเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 7,000 ครั้ง จากปกติที่สายด่วน สปสช. 1330 ให้บริการจะมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่วันละประมาณ 2,000 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ในกรณีไม่ใช่แค่การให้บริการเรื่องประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น ยังมีบริการสอบถามให้ข้อมูลเรื่องสิทธิบัตรทองอื่นๆ ด้วย
ซึ่ง สปสช.ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้บริการและเพิ่มจำนวนคู่สายเพิ่มขึ้นเป็น 300 สายและกำลังจะเพิ่มเป็น 600 คู่สายเพื่อรองรับการให้บริการประชาชนอย่างเต็มที่ ในส่วนของประชาชนท่านใดที่โทรเข้ามา แล้วยังไม่มีผู้รับสายไม่ต้องกังวล ระบบได้บันทึกเลขหมายท่านไว้แล้วและจะมีเจ้าหน้าที่โทรติดต่อกลับทุกครั้ง ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยในแต่ละวันมีสายที่โทรเข้ามาแล้วแต่ไม่มีผู้รับสายเนื่องจากเจ้าหน้าที่ติดสายอื่นอยู่เฉลี่ยวันละประมาณ 14% ซึ่งในส่วนนี้ สปสช.ระดมกำลังบุคลากรให้โทรกลับไปยังเบอร์ดังกล่าวทุกวันเพื่อรับเรื่องขอความช่วยเหลือ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะที่การประสาน "หาเตียง" ให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้น สปสช.สามารถประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยได้แล้วเกือบ 500 เตียง หรือคิดเป็นประมาณ 50% ของสายที่โทรเข้ามาเพื่อให้ สปสช.ช่วยประสาน "หาเตียง" ให้ ทั้งนี้ในส่วนของกลุ่มที่ยังรอการประสานหาเตียงนั้น ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2564 เป็นต้น เจ้าหน้าที่ของสายด่วนทั้ง 2 สาย ได้โทรไปสอบถามอาการทุกๆวันจนกว่าจะประสานหาเตียงให้ได้ เพื่อแจ้งผลการประสานว่าอยู่ขั้นตอนไหน รวมทั้งจะได้ติดตามอาการผู้ป่วยไปในตัว แต่หากระหว่างรอเตียงแล้วอาการแย่ลง ก็จะมีกลไกสำหรับผู้ป่วยอาการหนักไปรับตัวมารักษาที่โรงพยาบาล
“การทำงานของสายด่วน สปสช. 1330 เรื่องการประสานหาเตียงทำควบคู่กันไปกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานระดมกำลังเจ้าหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อบริการประชาชน ในส่วนของสายด่วน 1668 ของกรมการแพทย์เองก็มีหลายภารกิจนอกเหนือจากเรื่องการประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตามเราได้จัดกระบวนการรองรับกรณีเกิดปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถติดต่อสายด่วนทั้ง 2 สายได้ ตั้งแต่การบันทึกหมายเลขเพื่อโทรกลับ ในส่วนของสายที่ยังรอการจัดหาเตียงก็จัดเจ้าหน้าที่โทรติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะได้เตียง เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว