ทำไม ‘งบ 2.3 ล้านล้าน’ ถึงโดน?
ผ่า "งบสาธารณูปโภค" ของไบเดน 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ นำไปใช้ในโครงการหรือมาตรการอะไรบ้าง และใครได้ประโยชน์?
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คงไม่มีข่าวใดดังเท่ากับการเปิดตัวงบด้านสาธารณูปโภค 2.3 ล้านล้านดอลลาร์ ระยะเวลา 10 ปี จากโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ก่อนที่จะมีเม็ดเงินอีกส่วนหนึ่งที่เน้นความช่วยเหลือทางสังคมมูลค่า 8 แสนล้านดอลลาร์ที่จะประกาศในปลายเดือนนี้ โดยเสียงส่วนใหญ่ค่อนข้างชื่นชมกับโครงการนี้ ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น ขออนุญาตเล่ารายละเอียดของโครงการนี้โดยสังเขปก่อน
หากพิจารณาในภาพใหญ่ เซคเตอร์ที่ได้รับเม็ดเงินมากที่สุดจะพบว่าใกล้เคียงกันอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ หากจะเลือกผู้ที่ได้รับผลประโยชน์มากที่สุดจริงๆ ในรอบนี้คงต้องมอบตำแหน่งให้กับภาคธุรกิจ เนื่องจากมีขนาดของเซคเตอร์เล็กกว่าภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี ในส่วนของงบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่ไบเดนสามารถผ่านสภาคองเกรสไปก่อนหน้านี้ ภาคครัวเรือนได้ไปถึงร้อยละ 60 ของทั้งหมด ขณะที่ภาคธุรกิจได้ไปเพียงร้อยละ 15 จึงสามารถสรุปได้ว่าภาคครัวเรือนได้เม็ดเงินไปมากที่สุดจากการกระตุ้นทั้ง 2 รอบ
หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม จะพบว่าภาคขนส่งได้ไปมากที่สุด 6.21 แสนล้านดอลลาร์ หรือร้อยละ 28 ของทั้งหมด ไฮไลต์อยู่ที่โครงการยานยนต์ไฟฟ้ามูลค่า 1.74 แสนล้านดอลลาร์ ในขณะที่โครงการการสร้างทางด่วน ถนนและสะพาน ได้ไป 1.15 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนที่เป็นโครงการขนส่งสาธารณะและโครงการทางรถไฟกับขนส่งมวลชน ได้ไปโครงการละประมาณ 8 หมื่นล้านดอลลาร์
ส่วนภาคโครงสร้างพื้นฐานด้านที่อยู่อาศัยก็ได้รับไปด้วยมูลค่าใกล้เคียงกัน โดยงบราว 2.13 แสนล้านดอลลาร์ แจกให้กับโครงการสไตล์บ้านเอื้ออาทร ขณะที่โครงการด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและโครงการด้านสายส่งไฟฟ้าระหว่างรัฐได้ไปโครงการละ 1 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนที่เป็นโครงการด้านน้ำดื่มสะอาดได้ไป 1.1 แสนล้านดอลลาร์ ท้ายสุด งบวิจัยและพัฒนาและงบด้านอุตสาหกรรมกับเอสเอ็มอี ได้ไปประมาณโครงการละ 3 แสนล้านดอลลาร์ และส่วนที่ไว้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอีก 4 แสนล้านดอลลาร์
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการเกลี่ยความช่วยเหลือระหว่างการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐ กับการช่วยเหลือประชาชนและผู้ด้อยโอกาสทางสังคมถือว่าสมดุลมาก รวมถึงหัวใจของงบครั้งนี้ คือการมองไปในระยะยาวมากกว่าการช่วยเหลือแบบระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลายฝ่ายชื่นชมกับโครงการนี้ แม้ว่าจะมีเสียงบ่นจากกลุ่มหัวก้าวหน้าของพรรคเดโมแครตที่มองว่าเม็ดเงินต่อปีดูจะน้อยไปหน่อยเนื่องจากโครงการนี้กินเวลาถึง 10 ปีก็ตาม
หากพิจารณาในส่วนของการหาแหล่งเงินมาใช้ในโครงการนี้ ก็ยิ่งจะเห็นได้ว่าน่าสนใจ โดยไบเดนวางแผนจะใช้เวลา 15 ปีในการจ่ายภาระหนี้ทั้งหมดของโครงการดังกล่าว ด้วยการขึ้นภาษีนิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 นอกจากนี้ยังขึ้นภาษีจากกำไรที่ทำได้นอกประเทศแล้วโอนกลับมาในสหรัฐ โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐ รวมถึงการที่จะให้บริษัทขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีขั้นต่ำอย่างน้อยร้อยละ 15 ของกำไร โดยที่จะเข้มงวดกับหมวดการลดหย่อนภาษีของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่และผู้ที่มีรายได้สูง
จะเห็นได้ว่าการขึ้นภาษีของไบเดน ภาระโดยส่วนใหญ่ไปตกกับคนรวยมากกว่าชนชั้นกลาง นอกจากนี้ นางเจเน็ต เยลเลน รมว.คลังสหรัฐ เตรียมที่จะเสนอให้ประเทศต่างๆ กำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ เพื่อไม่ให้ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือหรืออาวุธทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมาแข่งขัน หรือแย่งชิงความได้เปรียบจากการทำธุรกิจระหว่างกัน
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังมองว่าภาคการเงินของสหรัฐดูจะเสียเปรียบภาคเศรษฐกิจจริง ในมิติของการได้รับความช่วยเหลือจากทางการ ณ นาทีนี้ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐเพิ่งจะหยุดการปล่อยกู้จากโครงการสินเชื่อสู้โควิดเมื่อ 1 ปีที่แล้ว ซึ่งงบของไบเดนที่ประกาศออกมาก็ไม่มีในส่วนของสถาบันการเงินแต่อย่างใด รวมถึงบรรษัทขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี ก็ถือว่าได้รับความช่วยเหลือในครั้งนี้เพียง 1 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพียงร้อยละ 5 ของงบทั้งหมด
อีกทั้งงบ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ก็ถึงมือเอสเอ็มอีน้อยมากเช่นกัน ซึ่งจุดนี้น่าจะเป็นข้อด้อยเพียงอย่างเดียวที่ผมเห็นในผลงานที่ถือว่าดีมากของโจ ไบเดน ในครั้งนี้
(หนังสือการลงทุนเล่มใหม่ "หุ้น Avengers : Infinity Stock" ว่าด้วยการใช้ข้อมูลและแนวคิดเชิงมหภาคแบบครบทุกมิติในการลงทุน ผลงานหนังสือเล่มที่ 5 ของผู้เขียน วางตลาดที่ร้านหนังสือทั่วประเทศแล้ว)