'สุวิทย์-อรพิน พิพัฒน์วิไลกุล' ลงทุน 'นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี' เตรียมเปิดปีนี้ คาดสะพัด 2 หมื่นล้าน
"สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล" เจ้าของเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี ลงทุนสร้าง "นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี" คาดเปิดปีนี้ 100% เม็ดเงินสะพัดกว่า 2 หมื่นล้านบาท จ้างงานกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง
สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล นักธุรกิจท้องถิ่นอุดรธานีที่มีชื่อเสียง เจ้าของสโมสรฟุตบอลอุดรธานีเอฟซี และประธานกรรมการบริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ประกาศลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี คาดว่าเปิดให้บริการได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ สร้างเม็ดเงินสะพัด 2 หมื่นล้าน จ้างงานไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นตำแหน่งต่อปี
ทางด้าน น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้พาคณะผู้บริหาร กนอ. และสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการพัฒนานิคมอุตสากรรมอุดรธานี ที่พัฒนาร่วมกันกับเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี
การลงนามสัญญามาตั้งแต่ปี 2557 มาพร้อมแนวคิดนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเชียงเหนืออีกด้วย และเป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 56 ของประเทศ
นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีตั้งอยู่อยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี มีพื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขาย 1,635 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกประมาณ 1 พันไร่ เป็นพื้นที่ขายจริง 700 ไร่ ที่เหลือเป็นระบบสาธารณูปโภค เฟส 2 อีกประมาณพันไร่เช่นกัน
คาดว่าในปีนี้ 2564 จะสามารถเปิดให้บริการได้ พร้อมเชื่อว่าเมื่อเปิดให้บริการทั้ง 100% แล้วจะสามารถสร้างเม็ดเงินสะพัดได้ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และจ้างงานได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคนต่อปี และสร้างรายได้ให้กับภาครัฐประมาณ 15,0000 - 20,000 ล้านบาทต่อปีด้วย
อีกทั้ง นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ เนื่องจากมีทำเลติดกับเพื่อนบ้านและประเทศจีนตอนใต้ และอยู่ในเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หนองคาย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติอุดรธานีเพียง 14 กิโลเมตรเท่านั้น
ด้านนายพิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรมมุ่งดึงการลงทุนจากต่างชาติ 100% โดยเฉพาะนักลงทุนจีน 70% และญี่ปุ่น 30% ซึ่งมีแผนการย้ายฐานมาที่ไทย
กรรมการผู้จัดการเผยอีกว่า บริษัทยังมีแผนศึกษาลงทุนโซลาร์ลอยน้ำ 50 ไร่ และในขั้นตอนต่อไปยังพิจารณาแผนลงทุนโรงไฟฟ้าอื่นๆ เพิ่มเติม และศึกษาความเหมาะสมโครงการ ท่าเรือบก (Dry Port) จ.อุดรธานี ในการพัฒนาระบบการเดินรถไฟ