ผลวิจัยชี้สารประกอบใน ‘กัญชา’ มีฤทธิ์รักษา ‘โควิด-19’
นิตยสารฟอร์บส เปิดเผยรายงานการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า การรวมกันของสารประกอบที่พบใน “กัญชา” แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาหรือป้องกันการติด “โควิด-19” ในเซลล์ปอดของมนุษย์ได้
ทั้งนี้ วารสารไลฟ์ (Life) ได้เผยแพร่ผลการวิจัยดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประเมินเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือฤทธิ์ของสารเทอร์พีน (Terpene) และสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid) หรือ ซีบีดี ในกัญชาที่มีต่อเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 สายพันธุ์ที่ติดเชี้อในมนุษย์จากการวิจัยในหลอดทดลอง
การวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาถึงประสิทธิภาพในการต้านไวรัสของสารเทอร์พีนซึ่งเป็นสารประกอบตามธรรมชาติที่พบในพืชหลายชนิดรวมถึงในกัญชา โดยบริษัทเอบนา( Eybna) ของอิสราเอลซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีเกี่ยวกับกัญชาได้พัฒนาสูตรที่เรียกว่า NT-VRL โดยเป็นการรวมสารเทอร์พีน 30 ชนิดเข้าด้วยกันซึ่งรวมถึงเบต้า-แคริโอฟิลลีน (Beta-caryophyllene), ยูคาลิปตอล (Eucalyptol) และซิตรัล (Citral)
สารเทอร์พีนได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการรักษาการติดเชื้อไวรัสที่หลากหลายจากการศึกษาในหลอดทดลอง และงานวิจัยที่เผยแพร่โดยเอบนาเมื่อปีที่แล้วพบว่า การใช้ NT-VRL ร่วมกับสารซีบีดี ซึ่งพบในกัญชาด้วยนั้น มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการอักเสบที่รุนแรงที่พบในผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวนมาก
เอบนา และ ฟาร์มาซีด (Pharmaseed )ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของอิสราเอลเช่นกันนั้น ได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินคุณสมบัติในการต้านไวรัสของ NT-VRL ทั้งแบบที่ใช้และไม่ใช้สารซีบีดี ร่วมด้วยในการต้านทานเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ HCoV-229E ที่มีการติดเชื้อในมนุษย์
ทั้งนี้ แม้ว่าสายพันธุ์ HCoV-229E จะไม่ใช่สายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) แต่สายพันธุ์ HCoV-229E ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่านี้ ก็มีความสัมพันธ์กับอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจต่างๆ ตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคปอดอักเสบที่รุนแรง จึงนับได้ว่าผลการวิจัยเบื้องต้นดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในทางเลือกที่ดีสำหรับการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา