คลังเล็งกู้ฉุกเฉินเยียวยาโควิด1ล้านล้าน
คลังเผย อยู่ระหว่างหารือเบื้องต้นเกี่ยวกับการกู้เงินฉุกเฉินวงเงินอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจระลอกใหม่ ด้านสบน.ระบุ หากจำเป็นต้องกู้ในวงเงินดังกล่าว รัฐบาลจะต้องขยายกรอบการก่อหนี้สาธารณะเกินเพดาน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางที่จะกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาใช้เยียวยาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ เนื่องจาก วงเงินที่จะใช้ในการเยียวยาจากพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทนั้น เหลืออยู่เพียงกว่า 2 แสนล้านบาทเท่านั้น ซึ่งมองว่า อาจจะไม่เพียงพอ
“ได้หารือกันเบื้องต้นว่า วงเงินกู้ใหม่นั้น น่าจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท เท่ากับวงเงินกู้ฉุกเฉินที่รัฐบาลได้กู้มาเมื่อปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม แนวทางการกู้นั้น ยังเป็นการหารือในเบื้องต้นเท่านั้น”
แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุระบาดโควิด-19ระลอกใหม่ ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินมาเยียวยาเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ ในหลายจังหวัดก็มีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของกรุงเทพมหานครที่ประกาศล็อกดาวน์ในหลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจและแรงงานต่างๆ
“ก่อนสงกรานต์เราประเมินว่า วงเงินที่มีอยู่ 2 แสนล้านบาทน่าจะเพียงพอสำหรับการออกมาตรการดูแลเศรษฐกิจรอบนี้ แต่ขณะนี้ ตัวเลขการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นทุกวัน ฉะนั้น วงเงินที่เตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ”
ด้านนางแพรติเซีย มงคลวณิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ทางสบน.ยังไม่ทราบเกี่ยวกับแนวนโยบายในการกู้เงินดังกล่าว แต่หากจะต้องกู้เงินจริง รัฐบาลจะต้องมีสามารถตอบได้ว่า ขณะนี้ รัฐบาลไม่มีวงเงินในการที่จะนำมาเยียวยาเศรษฐกิจอีกแล้ว และจะนำเงินดังกล่าวไปทำอะไร เพื่อวัตถุประสงค์อะไร นอกจากนี้ จะต้องมีการหารือในคณะกรรมการวินัยการเงินการคลังที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขยายกรอบเพดานการก่อหนี้สาธารณะด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจาก หากจะต้องมีการกู้เงินในวงเงินดังกล่าวจริง สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เราเคยประเมินไว้ว่า ในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 57-58% ต่อจีดีพี จะต้องเพิ่มขึ้น หรือ เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 60%ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะของไทยได้ทยอยปรับสูงขึ้นจากระดับประมาณ 40%ต่อจีดีพีหลังจากรัฐบาลได้กู้เงินฉุกเฉินวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นความจำเป็น เนื่องจาก นำมาใช้เพื่อดูแลสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจาก วงเงินในงบประมาณในปี 2564 มีไม่เพียงพอ
เธอกล่าวด้วยว่า ในภาวะที่เกิดวิกฤต การก่อหนี้หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและยอมรับได้ ขณะที่ ระดับหนี้สาธารณะไม่เกิน 60%ต่อจีดีพีนั้น เป็นกรอบที่เรากำหนดสำหรับภาวะเศรษฐกิจในยามปกติ ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยทยอยปรับสูงขึ้นนั้น เป็นทิศทางเดียวกันกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ซึ่งทุกประเทศได้ก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในสถานการณ์เดียวกัน ทำให้ระดับหนี้สาธารณะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเทศในกลุ่มเอเชียนั้น ระดับหนี้สาธารณะเฉลี่ยก็อยู่ในระดับสูงเกินกว่า 60% หรือ ปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 67% ขณะที่ ประเทศไทยยังอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี