‘ซีอีโอ’เร่ง 'ปรับแผนธุรกิจ'-ชง 'ข้อเสนอ' หนุนรัฐฝ่าวิกฤติชาติ
'ซีอีโอชั้นนำประเทศ' ปรับแผนธุรกิจรับมือโควิดระบาดหนัก พร้อมหนุนรัฐบาลแก้วิกฤติชาติ เร่งปูพรมฉีดวัคซีน หยุดตัวเลขติดเชื้อ ชงหลายแนวทางความช่วยเหลือ นำเข้าวัคซีน หาสถานที่ฉีด สนับสนุนเตียง เสริมเครือข่ายเทคโนโลยี อาสาสมัครบุคลากร ดันประเทศข้ามวิกฤติ
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ซีอีโอหลากหลายกลุ่มธุรกิจในไทย ถึงแผนรับมือพร้อมข้อเสนอแนะ “ทางรอด” ของวิกฤติครั้งนี้ ท่ามกลางการแพร่ระบาดที่กำลังไต่ระดับถึงขั้นสูงสุด
“ดับบลิวเอชเอ”เชื่อมั่นคุมระบาดโควิด
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ครึ่งปีหลังการระบาดของโควิด-19 ในไทยจะดีขึ้น เพราะจะกระจายฉีดวัคซีนมากขึ้น รวมทั้งในต่างประเทศคิดยารักษาได้แล้ว การทดสอบอยู่เฟส 3 และจะใช้เวลาอีก 3 เดือน ผลิตจำหน่ายทั่วโลก ยาชนิดนี้รักษาให้หายได้ภายใน 5 วัน เมื่อมีทั้งวัคซีนและยารักษา จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
การแพร่ระบาดในรอบ 3 นี้ ไม่กระทบแผนดำเนินงานของดับบลิวเอชเอ เพราะตรงกับที่คาดไว้ มองว่า นักลงทุนจะกลับเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 และจะฟื้นตัวช้าสุดไตรมาส 3
“นักลงทุนบางส่วนที่จะเข้ามาเดือน พ.ค.นี้ เลื่อนไปไตรมาส 3 และจะมีลูกค้ารายใหญ่คาดว่า จะซื้อที่ดินเพื่อตั้งโรงงานเกือบ 200 ไร่ ซึ่งมองว่านักลงทุนยังไม่เปลี่ยนแผนที่จะเข้ามาลงทุน เพียงแต่เลื่อนไปก่อน เพราะกระแสย้านฐานการผลิตยังมีอยู่ หากลูกค้าเข้ามาได้ยอดการลงทุนจะกลับเป็นปกติ”
ส่วนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ยังคงเป้าหมายยอดขายที่ดินในไทย 800 ไร่ แบ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรม 600 ไร่ พื้นที่เชิงพาณิชย์ 200 ไร่ ขณะที่ยอดขายที่ดินนิคมอุตสาหกรรมเวียดนาม 250 ไร่ และธุรกิจอื่นยังเดินหน้าได้ดีตามเป้า ยอดจำหน่ายไฟฟ้าคงที่เพราะโรงงานเดินเครื่องตามปกติ ยอดขายน้ำภาคอุตสาหกรรมไม่กระทบ เพราะไม่มีปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ และคลังสินค้าขยายตัวตามการเก็บตัวอยู่กับบ้านของประชาชน
“อมตะ”จัดหาวัคซีนฉีดในนิคมฯ
นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อมตะร่วมกับรัฐบาลเชื่อมโยงเครือข่ายในต่างประเทศ จัดหาโควตาวัคซีนให้รัฐบาลเพิ่ม รวมทั้งเตรียมแผนฉีดวัคซีนให้บุคลากร พนักงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง 3 แสนคน
ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ มีทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ ที่พร้อมระดมฉีดวัคซีนได้ทันที อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลการฉีดวัคซีนของกรุงเทพมหานครกับหอการค้าไทย หากใช้ได้ดีจะนำโมเดลนี้มาเร่งกระจายวัคซีในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ
หากการระบาดรอบ 3 ควบคุมได้ใน 2 เดือน จะไม่กระทบการดำเนินงาน แต่หากนานกว่านี้ จะทำให้นักลงทุนที่จะมาดูที่ดินต้องเลื่อนไปเป็นไตรมาส 3-4 แต่ไม่ได้หายไปไหน เพียงแค่เลื่อนเวลาไป ซึ่งมั่นใจว่ายอดขายที่ดินต้องดีกว่าปีที่แล้ว เพราะจีดีพีไทยขยายในแดนบวกส่วนธุรกิจสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้าและน้ำยังเดินหน้าได้ตามปกติ
“การซื้อขายที่ดินในนิคมฯ เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้บริหารเบอร์ 1 ในต่างประเทศต้องดูพื้นที่เอง หากเข้าไทยไม่ได้ต้องเลื่อนออกไป แต่แผนลงทุนเดิมยังอยู่ ดังนั้นจึงไม่กระทบธุรกิจ ซึ่งอมตะประเมินสถานการณ์อีกครั้งหลัง 6 เดือนแรก หากสถานการณ์ยืดออกไปอาจต้องปรับแผนตลาด และแผนลงทุนที่ตั้งเป้าว่าใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านบาท พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและซื้อที่ดิน ซึ่งอาจเลื่อนการซื้อที่ดินไป แต่ไม่กระทบแผนดำเนินงาน”
ส่วนการขยายธุรกิจผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ขยายสูงมากในปีที่ผ่านมา เพราะบริษัทแม่ในต่างประเทศเดินหน้าแผนธุรกิจตามเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้น ทำให้การส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวสูง หากควบคุมโควิด-19 ได้การลงทุนใหม่จะกลับคืนมา
ปตท.หนุนวัคซีนฟื้นเศรษฐกิจ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การระบาดระลอกใหม่ คาดว่าปริมาณการขายในประเทศอาจกระทบบ้างจากการชะลอตัวช่วงระบาด แต่การประเมินปริมาณขายทั้งปีเชื่อว่า ยังรักษาเป้าหมายได้
สำหรับผลดำเนินงานกลุ่ม ปตท.ปีนี้ คาดว่าดีกว่าปีที่แล้ว เพราะราคาปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ในต่างประเทศดีขึ้น รวมถึงความคาดหวังวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นจากการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้กลุ่ม ปตท.รักษาผลประกอบการได้ตามแผน
ผลกระทบเศรษฐกิจโลกและการลดการใช้พลังงานจากโควิด-19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจพลังงาน กลุ่ม ปตท.ได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการเร่งธุรกิจที่ไม่ใช่พลังงาน โดยปี 2564 ประกาศวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต ปรับเป้าหมายพอร์ตการลงทุนในอนาคตที่เน้นลงทุนพลังงานรูปแบบใหม่
ทั้งยังเดินหน้าลงทุนตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ส่วนแผนธุรกิจปี 2564 เป็นไปตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ ปตท.แต่ระหว่างปีหากมีโครงการลงทุนที่มีศักยภาพในธุรกิจใหม่ จะขออนุมัติเพิ่มเป็นกรณีไป กลุ่มปตท. เตรียมแผนลงทุน 5 ปี วงเงินกว่า 8.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจหลักและเสริมความสามารถในการดำเนินการ
ชี้กุญแจฝ่าวิกฤติอยู่ที่ความเร็วคุมระบาด
นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดระลอก 3 นี้รุนแรงกว่าทุกครั้ง เพราะระบาดทั่วประเทศไทย แทบเกินขีดความสามารถที่ระบบสาธารณสุขไทยจะรับไหว แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มาถึงการเดิมพันครั้งสุดท้าย ทั้งเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน รวมถึงการอยู่รอดของธุรกิจและเศรษฐกิจไทย
“กุญแจฝ่าวิกฤติของประเทศในตอนนี้จึงขึ้นอยู่กับความเร็วในการควบคุมการแพร่ระบาด และการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ประชาชน รวมพลัง หยุดยั้งการแพร่ระบาดครั้งนี้ให้รวดเร็ว และต้องไม่ให้มีระลอกใหม่อีกต่อไป เพราะประเทศไทยบอบช้ำมามากพอแล้ว”
แม้จำนวนวัคซีนขณะนี้ยังไม่เพียงพอต่อการ “สร้างภูมิคุ้มกันหมู่” แต่ต้องยอมรับในความมุ่งมั่นของภาครัฐและภาคเอกชนที่เร่งจัดหา และเพิ่มปริมาณนำเข้าวัคซีนยี่ห้อต่างๆ อย่างเต็มที่ ความท้าทายจึงเป็นเรื่องกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง จัดหาพื้นที่ให้บริการวัคซีน นำวัคซีนไปฉีดให้คนไทยแต่ละภูมิภาค เว้นระยะห่างทางสังคม และเวิร์คฟรอมโฮม เพื่อช่วยคุมการระบาดครั้งนี้ได้สำเร็จ
เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ เมื่อคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนทั่วถึง และเปิดประเทศ ซึ่งต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วนกระตุ้นการลงทุน ใช้จ่ายของภาคเอกชน มีภาครัฐช่วยอัดฉีดสถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง กระตุ้นให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อ หรือได้รับเงินเยียวยาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐ จับจ่าย กิน เที่ยว ใช้ของไทย ต่อลมหายใจภาคการท่องเที่ยว
ทีซีพีย้ำวาระเร่งด่วนฉีดวัคซีนเร็ว-ทั่วถึง
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) กล่าวว่า ต้องการเห็นการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากที่สุด และเร็วที่สุดปัจจัยสำคัญช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็ว เป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน
กลุ่มธุรกิจทีซีพีร่วมมือกับคณะทำงานในเครือข่ายหอการค้าไทย 2 มิติ คือ 1.งานด้านสื่อสารมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน สื่อสารเพื่อให้สนับสนุนการฉีดวัคซีนบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนอย่างทั่วถึง (Team B) 2.ช่วยจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน (Team D) กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมสนับสนุนค่าใช้จ่ายจัดหาวัคซีนให้พนักงานทุกคนเมื่อวัคซีนมีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศเพื่อบรรเทาการแพร่ระบาด
“การท่องเที่ยวหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาสร้างเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ทั้งมีผู้ประกอบการรายย่อยในหลายอุตสาหกรรมทยอยปิดกิจการจำนวนมาก กระทบการจ้างงาน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ทำให้กังวลและระวังใช้จ่ายมากกว่าเดิม แม้รัฐจะมีมาตรการเยียวยา แต่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่ง”
การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้โควิดระบาด คณะกรรมการบริหารจัดการและสื่อสารในภาวะวิกฤติของกลุ่มธุรกิจทีซีพี ได้อัพเดทสถานการณ์ และหาทางแก้ปัญหาทุกแง่มุมของธุรกิจ แบ่งทีมทำงาน ลดความแออัดในสำนักงาน สื่อสารกับพนักงานเพื่อสร้างความเข้าใจการป้องกันโควิด และเตรียมจัดหาวัคซีนเป็นสวัสดิการให้พนักงาน
ยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยในโรงงาน สอบประวัติพนักงานเข้มหลังวันหยุดยาว ปฏิบัติตามระบบมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผลิตอาหาร ตั้งแต่รับวัตถุดิบ ผลิต บรรจุ และจัดเก็บ วางแผนสอดรับประกาศพื้นที่ควบคุมตาม พรก. ฉุกเฉิน และมาตรการเข้มงวดสำหรับพนักงานส่งของ พนักงานขับรถ และพนักงานคลังสินค้า
เพิ่มการเข้าถึงวัคซีนลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้มีความน่ากังวล เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่มองในแง่ดีภาคเอกชนได้ผนึกกำลังสนับสนุนภาครัฐในการฉีดวัคซีนในประเทศ ทั้งร่วมจัดซื้อจัดหาวัคซีนให้พนักงานของตัวเอง เพื่อลดภาระให้ภาครัฐ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเพิ่มการเข้าถึงวัคซีนเพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อ
สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก คือ ความปลอดภัยของพนักงาน ดูแลความต่อเนื่องการดำเนินธุรกิจให้กระบวนการผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีความปลอดภัย ส่งถึงมือผู้บริโภคได้ทุกช่วงเวลา แม้ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน บริษัทยังพร้อมสนับสนุนภาครัฐฉีดวัคซีนให้คนไทย ร่วมมือให้พนักงานทำงานที่บ้าน
“โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายที่ชะลอตัว แต่ยังมองหาสินค้าที่มีความคุ้มค่าสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งคนไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ตั้งแต่เกิดโรคระบาด"
ในฐานะบริษัทด้านโภชนาการเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องปรับแผนการทำงานให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภคสอดรับกับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป
คนไทยทุกคนต้องเข้าถึงวัคซีนในสิ้นปีนี้
นายโรเบิร์ต แคนเดลิโน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย และอาเซียน กล่าวว่า แนวทางจัดการโควิด-19 หนทางเดียวที่ต้องทำ คือ ฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด ไทยจึงจะเปิดประเทศได้อีกครั้ง ธุรกิจจะกลับมาเหมือนเดิม ภาคธุรกิจพร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลในการดูแลประชาชนทุกเรื่อง ทั้งทำงานที่บ้าน ระดมสรรพกำลัง ทรัพยากรของธุรกิจ เช่น ระบบการขนส่ง การสื่อสาร เพื่อเร่งแผนการฉีดวัคซีนทั่วประเทศ
“เราต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน ฟังคำแนะนำบุคลากรทางการแพทย์ ฮีโร่ด่านหน้าที่ต่อสู้สงครามไวรัสอย่างหนัก ช่วยผู้คนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงธุรกิจที่กำลังดิ้นรนให้หลุดพ้นจากวิกฤติการณ์นี้เพื่อให้กลับมาดีกว่าเดิม”
ยูนิลีเวอร์และภาคธุรกิจทำงานร่วมกับสภาหอการค้าฯ ซึ่งการร่วมมือทุกคนเพื่อสนับสนุน ร่วมกับรัฐบาล และชุมชนท้องถิ่น ทำให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการฉีดวัคซีนภายในสิ้นปีนี้
ผลการดำเนินงานของยูนิลีเวอร์ ยังแข็งแกร่งเติบโตไปพร้อมกับพันธมิตรร้านค้าปลีก รวมถึงช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้จัดจำหน่ายท่ามกลางการแพร่ระบาด ซึ่งบริษัทยังไม่มีการปลดพนักงาน พร้อมเร่งพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่เข้าสู่ตลาด โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นในกลุ่มดูแลสุขอนามัย เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาด น้ำยาฆ่าเชื้อ อาหาร ฯลฯ รองรับดีมานด์ที่เพิ่มสูงขึ้น
“คาราบาว”ปรับแผยรุกเครื่องดื่มสุขภาพ
นางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ บมจ. คาราบาว กรุ๊ป (CBG) กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจปีนี้เป็นปีที่ค่อนข้างเหนื่อย เพราะ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากความกังวลสถานการณ์โควิด-19 แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงในบางวัน แต่ตัวเลขรวมยังทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ กระแสเวิร์คฟรอมโฮม หรือการออกจากบ้านที่น้อยลง ส่งผลให้พฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนไป
ทั้งนี้บริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในและสร้างกำลังใจให้พนักงาน ภายใต้การระบาด CBG ยังจ้างงานเพิ่มส่วนที่ยังเติบโตได้ และจ้างงานเพื่อเตรียมรองรับโอกาสที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังโควิด-19 ซึ่งทิศทางธุรกิจจากนี้จะให้น้ำหนักกับเครื่องดื่มที่เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2564บริษัทยังคงเป้ารายได้ปี 2564 เติบโต 20% จากปี 2563 ที่มีรายได้รวม17,386.29 ล้านบาท แม้ว่าการบริโภคในประเทศไทยจะหดตัว และสถานการณ์ความขัดแย้งการเมืองในเมียนมาจะกระทบ แต่บริษัทได้ผลดีจากกำลังซื้อในประเทศจีนและเวียดนามที่กลับมาเติบโตในปีนี้
กรุงไทยยกระดับป้องโควิดสูงสุด
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า การแพร่ระบาดรอบใหม่ ธนาคารยกระดับมาตรการป้องกันแพร่ระบาด “ขั้นสูงสุด” ตามแผนสำรองการทำงานในภาวะฉุกเฉิน ทั้งมาตรการสาธารณสุข และมาตรการด้านพนักงาน คำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงานและลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ประกอบด้วย
1.คัดกรองลูกค้าและประชาชนในสาขา และสำนักงานของธนาคาร ต้องสวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณภูมิ ช่วงระบาดระลอกใหม่ ได้เพิ่มพนักงานประจำจุดคัดกรองเข้าตัวอาคารสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา
2.เว้นระยะห่าง (Social Distancing ) ทุกจุดให้บริการ 3.ทำความสะอาดพื้นที่อาคารสาขา และสำนักงาน เพิ่มรอบทำความสะอาดอาคารสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขา
4.ให้พนักงานปฏิบัติงานจากที่พักอาศัย หรือเวิร์คฟรอมโฮม ให้พนักงานเข้ามาปฏิบัติงานที่สำนักงานเท่าที่จำเป็น ควบคุมการเข้าปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานใหญ่ ไม่เกิน 20-25% ลดหรือเลื่อนการพบปะลูกค้าภายนอก ทั้งประชุม สัมมนา ให้ดำเนินการผ่าน วิดีโอ คอนเฟอเรนซ์ เลี่ยงพื้นที่แออัด งดเดินทางข้ามจังหวัดและพื้นที่เสี่ยง
ทั้งนี้ผลกระทบโควิด-19ระลอก 3 นั้นส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้า และประชาชน การเดินทางมาทำธุรกรรมที่สาขาลดลง ส่วนการดำเนินธุรกิจ ธนาคารมุ่งช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง
กสิกรย้ำโควิดยังไม่กระทบแผนธุรกิจ
นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า โควิดส่งผลกระทบวงกว้าง ธนาคารได้เร่งช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจ ดูแลประเด็นคุณภาพหนี้ ประเมินความเสี่ยงเครดิต ด้านสินเชื่อปล่อยใหม่อย่างระวัง
ธนาคารได้ร่วมมือภาครัฐ ธปท. ออกมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้ และเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้รายย่อย และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 เน้นช่วยเหลือลูกค้า 3 ด้าน ได้แก่ 1. พักชำระเงินต้นจ่ายแต่ดอกเบี้ย หรือพักชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 2. ลดยอดผ่อนต่องวด และ 3. ขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มสภาพคล่องเพื่อช่วยด้านเงินทุน และสภาพคล่องที่สอดคล้องความต้องการลูกค้า ให้ประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้ รวมถึงปฏิบัติตามแนวทางป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด ทำแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
จากการประเมินโควิด-19 ระลอกใหม่ อาจไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเงินของธนาคารมาก ธนาคารยังคงเป้าทางการเงินทุกตัวระดับเดิม และพร้อมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม หากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลง โดยพร้อมร่วมมือตามนโยบายภาครัฐ
แบงก์กรุงเทพชู3แผนเดินธุรกิจ
นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL)กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ธนาคารให้ความสำคัญ 3 ด้าน ทั้ง Customer เน้นดูแลลูกค้าเหมาะสม ทันเวลาทั้งลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อย รวมถึงกลุ่มที่มีโอกาสธุรกิจเพิ่มขึ้น
สองคือ Channels ช่องทางธุรกรรมเน้น ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์ มากขึ้น และสาม คือ Clean จัดทำควาสมสะอาดทุกจุดให้บริการต่อเนื่อง เพื่อป้องกันโควิด-19 โดยเฉพาะเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อ
“กิมเอ็ง”เชื่อไทยคุมการระบาดได้
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวว่า การระบาดรอบใหม่ สร้างความกังวลต่อประชาชน แต่คนไทยค่อนข้างมีความพร้อมเมื่อเทียบกับหลายประเทศทั่วโลก ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อรอบนี้ต้องยอมรับว่า อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ด้วยประสบการณ์การระบาดรอบ 1 และ 2 ทำให้คนไทยร่วมมือกัน เพื่อหยุดการระบาดของเชื้อในวงกว้าง
ในมุมของตลาดทุน พบว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทย ยังเคลื่อนไหวทิศทางที่ดี สะท้อนความมั่นใจของนักลงทุนขณะที่การดำเนินธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทถือว่าเป็นในทางทิศทางที่ดี เพราะกระแสเวิร์คฟรอมโฮม มีส่วนทำให้นักลงทุนหันมาสนใจลงทุนหุ้นมากขึ้น จึงคงเป้าหมายรายได้ปีนี้โต 10% จากปีก่อน ่ส่วนการทำงานโบรกเกอร์ปรับเป็นเวิร์คฟรอมโฮม
ดีแทคชี้ก้าวข้ามวิกฤติต้องร่วมมือ
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเชั่น จำกัด (มหาชน) เผยว่า ที่ผ่านมาดีแทคปรับกลยุทธ์ให้ยืนหยัดได้ในสถานการณ์โควิด ด้วยการสร้างโอกาสใหม่ให้องค์กร ทั้งพร้อมดูแลความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของพนักงาน 95% ทำงานจากที่บ้าน รวมถึงทำแผนประกันด้านสุขภาพที่ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นกรณีพิเศษให้กับพนักงานทุกคนด้วย
“วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้เป็นความท้าทายร่วมกันระหว่างภาครัฐและผู้ให้บริการโทรคมนาคม ต้องลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลให้ประชาชนทุกคน บริการดิจิทัลภาครัฐช่วยลดความเสี่ยง ลดการสัมผัส และเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ที่จะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจและช่วยรักษาระยะห่างทางสังคม”
ดีแทค เชื่อว่าการจะก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ต้องร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ที่จะทำให้ ทุกคนเข้าถึงการเชื่อมต่อได้ในราคาที่เหมาะสม ปลอดภัย และเข้าถึงได้กับทุกคน
สามารถฯแนะบริหารเงินสดในมือ
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ การบริหารกระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการดำเนินกิจการ และรองรับการลงทุน คือ สิ่งแรกที่ต้องเน้น ควบคู่ไปกับการวิเคราะห์สถานการณ์ และมองหาโอกาสทางธุรกิจ โดยนำเสนอโซลูชั่นที่สามารถตอบโจทย์ Social Distancing ซึ่งจะกลายเป็นวิถีใหม่ในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ
โดยเฉพาะภาคบริการ ของทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนซึ่งโควิด-19 นี้ น่าจะอยู่กับเราไปอีกไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ดังนั้น คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัว จึงอยากฝากภาครัฐว่านอกเหนือจากการออกมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดแล้ว ควรเร่งรัดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น
ในภาวะที่ “ไทยต้องพึ่งไทย” เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการส่งเสริมการบริโภคสินค้าและบริการในประเทศ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน และสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถอยู่รอดและผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้