ผลกระทบจากโควิด 19 ทำเด็กเสี่ยง 'ติดมือถือ - ติดจอใส'

ผลกระทบจากโควิด 19 ทำเด็กเสี่ยง 'ติดมือถือ - ติดจอใส'

สสส. ห่วง โควิด-19 ปิดศูนย์เด็กเล็ก/โรงเรียน หวั่นเด็ก “ติดมือถือ” เพิ่ม เตือน ผู้ปกครอง อย่าปล่อยเด็กเล่นมือถือนานเกิน เสี่ยง กระทบพัฒนาการ ชวนทำมุมเล่นในบ้าน สร้างสัมพันธ์ กิน กอด นอน เล่น เล่านิทานและทำงานบ้านร่วมกัน

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ อยู่ในช่วงที่โรงเรียนทั่วประเทศปิดภาคเรียน ส่วนสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยซึ่งปกติไม่มีปิดเทอมก็ถูกสั่งปิดเพื่อลดความเสี่ยงของการระบาด ทำให้เด็กเตรียมอนุบาล เด็กอนุบาล และเด็กปฐมวัย ต้องอยู่บ้านทุกวันในขณะที่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยยังต้องทำงานและให้บุตรหลานเล่นมือถือหรือแท็บเล็ตเพราะมองว่าทำให้เด็กอยู่นิ่งเป็นเวลานานๆได้ ซึ่ง สสส.มีความเป็นห่วงว่า สถิติเด็ก “ติดจอใส” หรือ “ติดมือถือ” อาจเพิ่มสูงขึ้นหากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กเล่นอุปกรณ์เหล่านี้ครั้งละนานๆเป็นประจำ

ที่ผ่านมา สสส. ส่งเสริมระบบการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้ปกครองที่มีลูกหลานติดมือถือ เพื่อปรับวิธีคิด (mindset) ของผู้ปกครองให้รู้วิธีสื่อสารอย่างสร้างสรรค์กับลูก ซึ่งช่วยทำให้ครอบครัวอบอุ่น ลดพฤติกรรมการติดมือถือทั้งผู้ปกครองเองและตัวเด็ก พบว่ามีผู้ปกครองจำนวนมากลงทะเบียนเข้าระบบเรียนรู้ออนไลน์ แต่การป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมติดมือถือหรือใช้มือถือและสื่อจอใสชนิดอื่นๆโดยไม่เหมาะกับวัยเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่เรียนรู้ผ่านการเล่นซึ่งช่วยให้เด็กฝึกใช้ร่างกาย ใช้ความคิดในการสร้างสรรค์และแก้ปัญหา เสริมสร้างความสุขซึ่งเป็นพื้นฐานให้สุขภาพใจแข็งแรง

นางสาวณัฐยา กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ ยืนยันว่า การเล่นเป็นสิทธิของเด็ก เด็กควรได้เล่นแบบอิสระวันละไม่น้อยกว่า 1-2 ชั่วโมง เพราะการเล่นอิสระจะช่วยพัฒนาทักษะเด็กหลายด้าน ช่วงโควิด-19 ระบาด เด็กต้องอยู่บ้านกับครอบครัว การเล่นกับผู้ปกครองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เด็กมีความสุขโดยที่ไม่ถูกบังคับให้รู้สึกเครียด กดดัน การนำของใช้ในบ้านมาเป็นของเล่น เช่น กาว กระดาษ กระบะทราย หรือจานชามเครื่องครัวที่ไม่เป็นอันตราย จะช่วยเพิ่มทักษะเด็กได้ โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องไปซื้อของเล่นราคาแพง ส่วนการ “ติดจอใส” หรือ “ติดมือถือ” เชื่อว่าเด็กไม่อยากติด หากผู้ปกครองมีทางเลือกให้เขาเล่นได้ตามใจชอบ

“เน้นยำว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรปล่อยให้เล่นมือถือ ผู้ปกครองควรพาเล่านิทาน ร้องเพลง ชวนเล่นแบบเคลื่อนไหวร่างกายเยอะๆ ให้เด็กได้เดิน วิ่ง ปีนป่าย เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อทุกมัด ส่วนเด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไปที่อยากเล่นมือถือก็ควรเล่นพร้อมผู้ปกครองแต่ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง ผู้ปกครองควรใช้โอกาสที่ได้อยู่บ้านกับลูกสร้างสายใยครอบครัวผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกว่า “กิน กอด นอน เล่น เล่า และช่วยกันทำงานบ้าน” เป็นการชวนกันทำอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ กอดหรือปลอบเมื่อเด็กไม่สบายใจ เตรียมหรือทำของเล่นร่วมกับเด็ก เล่านิทานและอ่านหนังสือนิทานให้เด็กฟังก่อนนอน และให้เด็กพักผ่อนเพียงพอตามวัย” นางสาวณัฐยา กล่าว

161958276975

นางสาวณัฐยา  กล่าวต่อว่า รายงานจับทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2563 (ThaiHealth Watch) สสส. พบข้อมูลจากสถาบันจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ว่า เด็กและเยาวชนไทยติดหน้าจอมือถือหรือจอใสสัปดาห์ละ 35 ชั่วโมง มากกว่าสถิติโลกที่ระบุไว้ว่าไม่ควรเกินสัปดาห์ละ 16 ชั่วโมง และจากการสำรวจเด็กวัย 6 – 18 ปี จำนวนกว่า 15,000 คน พบร้อยละ 61 มีพฤติกรรมเสี่ยงติดเกมออนไลน์ เพราะเล่นเกมมากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง ซึ่งเกมออนไลน์เพิ่มความเสี่ยงกับเด็กและเยาวชนทั้งในเรื่องของความรุนแรง การพนัน และสุขภาพจิต  

ด้าน รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กติดมือถือในประเทศไทยปัจจุบัน พบ เด็กมีพฤติกรรมเข้าข่ายใช้มือถือจนติดมือถือประมาณ 20-30 % จากประชากรเด็กทั้งหมดในประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต ส่วนใหญ่ติดอินเทอร์เน็ต และโซเซียลมีเดีย  สื่อสังคมออนไลน์ รองลงมาคือติดเกม และสุดท้ายคือการเข้าดูสื่อลามก ซึ่งผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจกับเด็ก เพื่อให้พวกเขาเล่นมือถือให้เกิดประโยชน์มากกว่าเป็นโทษสำหรับตัวเอง