แกะรอย ‘รัฐมนตรี’ จอมนินทา ‘นายกฯ’
กำแพงมีหู ประตูมีตา ส่วนคนนินทากาเล ย่อมไม่คลาดประสาทสัมผัสของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไปได้ โดยเฉพาะถ้าคนคนนั้นเป็นถึงระดับ “รัฐมนตรี”
เมื่อนายกฯ ที่นั่งหัวโต๊ะนำประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา ทิ้งบอมบ์ลูกใหญ่ในช่วงก่อนปิดประชุม ทำนองรู้ทันว่ามี “รัฐมนตรี” บางคนไม่พอใจอะไรบางอย่าง
"มีรัฐมนตรีบางคนพูดจาไม่ดีและนินทาผมในที่ประชุมบางวง ให้ระวังตัวไว้ด้วย ผมเป็นคนตัดสินใจเลือกเข้ามาทำงาน จะชอบหรือไม่ชอบผม อย่านินทาให้ผมได้ยิน ถ้าผมได้ยินอีกผมจำเป็นต้องปรับออก จะริบโควตานั้นมาเป็นของผมเอง ระวังตัวไว้ด้วยแล้วกัน ผมไม่เคยทำให้ท่านเสียหาย ผมมีทีมงานคอยดูเฟซบุ๊คทุกท่าน ผมไม่วางใจและไม่สบายใจ ใครก็ตามที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง ทุจริต ถ้ามีปัญหาผมจะพิจารณาเอาออก ผมจะไม่ให้โควตาพรรค จะดึงมาเป็นโควตาผม" พล.อ.ประยุทธ์ แฉกลางวงประชุมอย่างดุเดือด
สะท้อนชัดว่า บุคลิกความเป็นทหารของนายกฯ ยังมีเต็มเปี่ยม ลูกผู้ชายฆ่าได้ หยามไม่ได้พล.อ.ประยุทธ์ จึงแสดงอากัปกิริยาเช่นนั้นให้เห็น
มีการตั้งข้อสังเกตมากมายว่า “รัฐมนตรี” ที่นายกฯ พูดถึงนั้นเป็นใคร สังกัดพรรคไหน แต่หากตั้งโจทย์ด้วยการเอาประเด็นการเมืองเป็นตัวตั้ง คงหนีไม่พ้น “พรรคประชาธิปัตย์” และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่ถูกมองว่ามีประเด็นไม่ลงรอยกับ “พล.อ.ประยุทธ์”
กรณีของ “ประชาธิปัตย์” ที่ไม่พอใจอย่างรุนแรงกับคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่85/2564 เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับพื้นที่จังหวัด โดยให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ดูแลพื้นที่ภาคใต้ได้แก่ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช และภูเก็ต แทนที่ นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จาก“ประชาธิปัตย์”
เรื่องนี้ “ประชาธิปัตย์” ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวง เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะ “สงขลา” และ “นครศรีฯ” ถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญ ที่พรรคเก่าแก่จะสูญเสียเก้าอี้ ส.ส. ให้พรรคคู่แข่งอย่าง“พลังประชารัฐ” อีกไม่ได้แล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่าน “ประชาธิปัตย์” พยายามกอบกู้ศรัทธากลับคืนมา หลังเผชิญภาวะตกต่ำอย่างขีดสุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของพรรค การเลือกตั้งใหญ่ 24 มี.ค.2562 พื้นที่กทม. ไม่มีส.ส.ของพรรคแม้แต่คนเดียว ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เสาไฟฟ้าล้มระเนระนาด ถูกคู่แข่งชิงพื้นที่ไปได้จำนวนมาก
รวมถึงการเลือกตั้งซ่อม นครศรีฯ เขต3 ที่ผ่านไปหมาดๆ “ประชาธิปัตย์” เจ้าของพื้นที่เดิม ก็พลาดท่าเสียที่นั่งให้ “พลังประชารัฐ” เข้าไปอีก
ดังนั้น การที่ “ประชาธิปัตย์” ตัดสินใจมาร่วมรัฐบาลกับ “พล.อ.ประยุทธ์” จุดมุ่งหมายหนึ่งคือการเป็นฝ่ายบริหาร ย่อมมีโอกาสและเอื้อให้พรรคเก่าแก่ แก้มือฟื้นความนิยมของตัวเอง แต่ก็คงไม่คาดคิดว่า “พลังประชารัฐ” ที่หมายตาพื้นที่ด้ามขวาน หวังจะยึดครองให้เป็นปึกแผ่น จะเปิดเกมรุกถึงขนาดนี้
จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากความไม่พอใจอย่างรุนแรง กับคำสั่งนายกฯ ที่ให้คนของ “พลังประชารัฐ” มาคุมภาคใต้แทนนั้น จะถูกสะท้อนผ่านสื่ออย่างชัดเจน เพื่อต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง กลับไปเป็นแบบเดิมคือให้ “นิพนธ์” คุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ของ “ประชาธิปัตย์”
ทว่าสิ่งที่ยังไม่ชัดเจนคือ “รัฐมนตรี” ที่นินทา “นายกฯ” จนควันออกหูนั้น ใช่คนจาก“ประชาธิปัตย์” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องนี้หรือไม่
เพราะในเวลาไล่เลี่ยกัน ความเคลื่อนไหวของ “ภูมิใจไทย” เมื่อ “ศุภชัย ใจสมุทร” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรค ซึ่งเป็นสายตรงบุรีรัมย์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊คกระทบถึงพล.อ.ประยุทธ์ ทำนองว่าการใช้อำนาจพิเศษ นายกฯถนัดที่สุด ไม่แปลกที่มีการเลือกใช้อํานาจพิเศษในการจัดการกับโรคระบาด ตัดการมีส่วนร่วมของภาคการเมืองออกรวมถึงได้ ตัดคณะรัฐมนตรีออกจากการทํางานใน ศบค.
มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า “ศุภชัย” และ “ภูมิใจไทย” อาจรู้ล่วงหน้ามาก่อนแล้วว่า คณะรัฐมนตรีจะผ่านร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) โดยรวบอำนาจรัฐมนตรี ผ่านกฎหมาย 31 ฉบับ มาอยู่ที่นายกฯคนเดียว ในรูปแบบซิงเกิลคอมมานด์ เพื่อแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพ ตามที่เคยใช้ได้ผลมาในการระบาดระลอกก่อนหน้านี้
เรื่องนี้สร้างความไม่พอใจลึกๆ ให้กับพลพรรค “ภูมิใจไทย” หรือไม่ เพราะคนเป็นหัวหน้าพรรคอย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข กลับไม่มีบทบาททั้งที่เป็นรมว.สาธารณสุข
ถ้าจำกันได้ ก่อนหน้านี้ กรณีที่นายกฯ ตั้งคณะทำงานจัดหาวัคซีนทางเลือก ก็ไม่ปรากฎชื่อของ“อนุทิน” มาครั้งหนึ่งแล้ว จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา กระทั่งมาถึงกรณีล่าสุด “กลุ่มหมอไม่ทน” ที่ร่วมลงชื่อขับไล่ “อนุทิน” พ้นตำแหน่ง ด้วยเหตุผลว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาโควิด ผ่าน change.org และมีผู้ร่วมลงชื่อแล้วกว่า 2 แสนคน
เมื่อมีหลายเรื่องประเดประดังเข้ามา อาจสร้างความกดดันให้ “อนุทิน” จนอาจเผลอลืมตัวทำอะไรออกไปหรือไม่ ไม่รู้ แต่ที่รู้ๆ สถานการณ์ภายใน “รัฐบาล” ขณะนี้ ไม่ค่อยสู้ดีนัก
เมื่อมีแรงกระเพื่อมจากภายในเกิดขึ้น เท่ากับมีเชื้อไฟ และเป็นไปได้สูงที่จะลามต่อไปถึงเรื่องอื่นๆ ได้อีก ในจังหวะที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” เริ่มออกอาการไม่ปลื้มสไตล์การทำงานบ้างมุมของผู้นำ
เสถียรภาพรัฐบาลขณะนี้จึงอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง ท่ามกลางการจับตาเรื่องการ “ยุบสภา” ของ “นายกฯ” ที่ถือเป็นไพ่เด็ดกำราบฝ่ายการเมือง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะชั่วโมงนี้ไม่มีใครพร้อมเท่า “พลังประชารัฐ” อีกแล้ว
การที่ “พรรคร่วมรัฐบาล” ไม่ว่าจะพรรคใดก็ตาม จะเปิดหน้าชนโต้งๆ กับ “นายกฯ” แบบไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม จึงทำได้ลำบาก เมื่อดีดลูกคิดวัดกำลังกันแล้ว ยังเสียเปรียบอยู่หลายขุม
การตั้งวงนินทาลับหลังจึงเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เพียงแต่ตัว “รัฐมนตรี” ที่ถูก “นายกฯ” ฟาดอย่างหนักจะเป็นใคร คนการเมืองพอจะแกะรอยกันได้แล้วว่า มาจากคนที่สังกัดพรรคร่วม “สีฟ้า” หรือ “สีน้ำเงิน”