ไทยไม่แนะนำ 'คนท้อง' ฉีด 'วัคซีนโควิด' ขณะที่บางประเทศฉีดได้แล้ว
เช็คคืบหน้ากรณี "วัคซีนโควิด" กับกลุ่ม "คนท้อง" แพทย์ไทยยังไม่แนะนำให้คนท้องฉีดวัคซีนที่มีในไทย ขณะที่อังกฤษ อนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์เลือกฉีดวัคซีนของ "ไฟเซอร์" หรือ "โมเดอร์นา" ได้แล้ว
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวเกี่ยวกับข้อควรรู้ของ "วัคซีนโควิด" เผยแพร่ให้คนไทยได้รับรู้รับทราบ โดยหนึ่งที่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนกลุ่ม "คนท้อง" หรือหญิงตั้งครรภ์ แพทย์ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด ต่อมาไม่นานมีรายงานข่าวจากต่างประเทศระบุว่าในบางประเทศอนุญาตให้หญิงตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนโควิดของ "ไฟเซอร์" หรือ "โมเดอร์นา" ได้แล้วอย่างปลอดภัย
ล่าสุด.. แพทย์จากโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนว่าก่อนจะเข้ารับการฉีด "วัคซีนโควิด" ต้องเช็คร่างกายและโรคประจำตัวต่างๆ พร้อมระบุประชาชนกลุ่มไหนสามารถฉีดวัคซีนได้ และกลุ่มผู้ป่วยแบบใดฉีดไม่ได้บ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนมาอัพเดทประเด็นนี้ไปพร้อมกัน
1. แพทย์ชี้ "คนท้อง" ไม่แนะนำให้ฉีด "วัคซีนโควิด"
เมื่อวันที่ 27 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยให้ข้อมูลวัคซีนโควิด-19 กับกลุ่ม "คนท้อง" เอาไว้ว่า
วัคซีนปกติอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายซึ่งคนท้องก็ฉีดได้ แต่วัคซีนโควิดยังเป็นตัวใหม่ และไม่เคยมีการศึกษาในคนท้องมาก่อน ในประเทศไทยตอนนี้จึงยังไม่แนะนำคนท้องให้ฉีด ยกเว้นคนท้องคนนั้นเสี่ยงมาก เช่น เป็นบุคลากรด่านหน้า ก็อาจต้องพิจารณาเป็นกรณีไป โดยต้องเปรียบเทียบระหว่างความเสี่ยงกับผลที่จะได้
ส่วนในกรณีฉีดวัคซีนโควิดต้องตรวจตั้งครรภ์หรือไม่ หมอยงตอบว่า จริงๆ ไม่ต้องตรวจ แต่ถ้ารู้ว่าตั้งครรภ์เมื่อไหร่ วัคซีนเข็มต่อไปก็ไม่ต้องฉีด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สอดคล้องกับบทความวิชาการของโรงพยาบาลพระราม 9 (20 เม.ย.64) ที่ระบุว่า เนื่องจากข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนโควิดสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ยังมีจำกัด
อีกทั้งยังไม่มีผลการทดลองในกลุ่มผู้หญิงตั้งครรภ์ที่เข้ารับการทดสอบวัคซีนโควิด-19 ดังนั้นแม่ที่ตั้งครรภ์และไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จึงยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด-19 เว้นแต่แม่ที่ตั้งครรภ์และมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อควรมาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ
2. อังกฤษให้ "คนท้อง" ฉีดวัคซีน ไฟเซอร์-โมเดอร์นาได้
สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า คณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกัน (JCVI ) ของสหราชอาณาจักรได้เปิดเผยว่า หญิงตั้งครรภ์ทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้แล้ว โดยเลือกฉีดวัคซีนของบริษัท "ไฟเซอร์" หรือของ "โมเดอร์นา" ได้
การฉีดวัคซีนจะพิจารณาตามอายุและกลุ่มเสี่ยงทางคลินิก หลังได้ข้อมูลจากสหรัฐที่บ่งชี้ว่า หญิงตั้งครรภ์ประมาณ 90,000 คนได้รับการฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัย
ศาสตราจารย์เหว่ย เฉิน ลิม จากคณะกรรมการร่วมด้านการฉีดวัคซีนฯ กล่าวว่า สตรีตั้งครรภ์ควรพิจารณาให้ดีเรื่องความเสี่ยงและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนกับแพทย์ประจำตัวและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ซึ่งวัคซีนทั้งสองตัวนี้ไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์
*หมายเหตุ : ในไทยยังมีเพียงวัคซีนจากซิโนแวคและแอสตร้าเซเนก้าเท่านั้น ซึ่งแพทย์ไทยยังไม่แนะนำให้คนท้องฉีดวัคซีนสองชนิดดังกล่าว อีกทั้งวัคซีนยี่ห้ออื่นๆ อย่าง "ไฟเซอร์" หรือ "โมเดอร์นา" ณ วันที่ 30 เม.ย.64 ไทยก็ยังไม่ได้เข้ามา ยังอยู่ระหว่างการติดต่อและดำเนินการของรัฐบาลไทย
3. ผู้มีโรคประจำตัวต้องเช็คร่างกายก่อนฉีด "วัคซีนโควิด"
ล่าสุด.. เมื่อวันที่ 21 เม.ย.64 นพ.วัชระ วิรัตยาภรณ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมกับประชาชน ผู้มีโรคประจำตัวต่างๆ ว่ามีข้อควรระวังก่อนการเข้าฉีดวัคซีนโควิด โดยระบุว่า
วัคซีนโควิด-19 ที่ไทยมีตอนนี้ เป็นวัคซีนที่ผลิตจากเชื้อตาย ทั้งของ Sinovac และ AstraZeneca สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางโรค ต้องรอให้อาการของโรคสงบลงก่อนถึงจะฉีดวัควีนโควิดได้ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง แนะนำให้ฉีดวัคซีนได้หลังอาการของโรคสงบลง อย่างน้อย 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังของผู้ป่วยโรคอื่นๆ รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ดังนี้
- ป่วยเป็นหวัด ไม่สบาย : ฉีดวัคซีนโควิดไม่ได้ มีข้อควรปฏิบัติคือ รอให้หายก่อน 10-14 วัน
- หญิงตั้งครรภ์ : ฉีดวัคซีนโควิดไม่ได้ เนื่องจากในไทยยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับคนท้อง
- คุณแม่ให้นมบุตร : ฉีดได้ ลูกกินนมแม่ได้ตามปกติ
- วางแผนตั้งครรภ์ : ฉีดได้ ไม่ต้องตรวจตั้งครรภ์ มีลูกได้เลย
- ความดันโลหิตสูง : ฉีดได้ ถ้าความดัน ≤ 180/110 mmHg
- โรคเบาหวาน โรคไต : ฉีดได้ แพทย์แนะนำว่าควรฉีด!
- โรคมะเร็ง ได้รับยาเคมีบำบัด : ฉีดได้ ถ้าค่า ANC (จำนวนเม็ดเลือดขาวสมบูรณ์) >1500
- โรคเอดส์ : ฉีดได้ ถ้าอาการสงบก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้
- โรคแพ้ภูมิ, SLE : ฉีดได้ ถ้าอาการสงบก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้
- กินยากดภูมิคุ้มกัน : ฉีดได้ ถ้าอาการสงบก็สามารถฉีดได้
- โรคลมชัก : ฉีดได้ วัคซีนไม่ได้กระตุ้นให้ชักมากขึ้น
- ฉีดวัคซีนอื่นๆ มา : ฉีดได้ แต่ต้องเว้นการฉีดให้ห่างกันอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
- กินยา Warfarin (ต้านเลือดแข็งตัว) : ฉีดได้ ถ้าค่า INR (อัตราการแข็งตัวของเลือด) < 3.0
- กินยา NOACs (ต้านเลือดแข็งตัว) : ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยาก่อน
- กินยาต้านเกล็ดเลือด ASA, Clopidogrel : ฉีดได้ ไม่ต้องหยุดยาก่อน