เช็ค 'ข่าวปลอม' เรื่องสุขภาพ 'ผู้สูงวัยไทย' หลงเชื่อมากที่สุด

เช็ค 'ข่าวปลอม' เรื่องสุขภาพ 'ผู้สูงวัยไทย' หลงเชื่อมากที่สุด

คณะนิเทศศาสตร์ "นิด้า" เผยผลวิจัยพบ "ผู้สูงวัยไทย" (อายุ 60 ปีขึ้นไป) กว่า 70% เชื่อ "ข่าวปลอม" ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะในประเด็นโรคมะเร็ง และโรคโควิด-19

คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เผยผลสำรวจการรับรู้ข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้สูงวัยไทย และเปิดตัวระบบ #เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบอัจฉริยะต้นแบบช่วยการตัดสินใจข้อมูลข่าวปลอม ด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) เผยผลวิจัย ผู้สูงวัยในประเทศไทยแสดงความคิดเห็นว่า ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพในระดับมาก โดยมองว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์มีความทันสมัย มีความดึงดูดใจ และมีรูปแบบการเขียนที่น่าติดตาม

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมองว่าข่าวสุขภาพที่เผยแพร่ในสื่อออนไลน์ เป็นข่าวสุขภาพที่มีคนกดชื่นชอบเป็นจำนวนมากและมีความน่าเชื่อถือ โดยผู้สูงวัยมากกว่า 70% ยังคงมีความเชื่อในข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โดยเฉพาะในประเด็นโรคมะเร็ง และโรคโควิด-19

ผลงานวิจัยนี้ ทำในโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ เก็บแบบสอบถามทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,220 คน ทั่วประเทศ กับกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงอายุ และมีกลุ่มผู้สูงวัยไทยอายุ 60 ปีขึ้นไป 817 คน

การเปิดรับสื่อ การรู้เท่าทันสื่อข้อมูลด้านสุขภาพ และข่าวปลอมของผู้สูงวัย

สื่อที่ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ ไลน์ คิดเป็น 64.5% รองลงมาคือ เฟซบุ๊ค 63.9% YouTube 34.9% เว็บไซต์ 34.1% และสื่อออนไลน์อื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์, Tiktok โดยผู้สูงอายุคิดว่า สื่อที่มีข่าวปลอมมากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ค 37.8% รองลงมาคือ ไลน์ 19.8% และโทรทัศน์ 11.5%

ทั้งนี้ ผู้สูงวัยประเมินระดับ การรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Information Literacy: HIL) ของตนเองอยู่ในระดับต่ำกว่า การประเมินระดับการรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยทุกช่วงวัยโดยเฉลี่ย

พฤติกรรมของผู้สูงวัยเมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ

เมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุ 66.2% แชร์ข่าวปลอมนั้นซ้ำ โดยคิดว่า เป็นการเตือนคนใกล้ตัวที่ได้รับข้อมูลนั้น ในขณะที่ 54.7% เพิกเฉย/ไม่สนใจ/เลื่อนข้ามไป และมีเพียง 24.5% ที่ทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดย 57.2% ใช้วิธีการสอบถามคนใกล้ชิด 41.2% อ่านความเห็นในโพสต์ข่าว และ 24.0% ค้นหาบทความที่คล้ายคลึงกันในเว็บไซต์

ผู้สูงวัยมากกว่า 70% เชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งและโควิด-19

นอกจากนี้ยังพบว่า ข่าวปลอมต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานภาครัฐตรวจสอบและเผยแพร่แล้วว่าเป็นข่าวปลอม หรือเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ได้จริงนั้น ผู้สูงวัยส่วนมากก็ยังคิดว่า เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ หมวดข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรรักษาโรค เช่น ผู้สูงวัยมากกว่า 70% เชื่อว่า ใบทุเรียนเทศ หนานเฉาเหว่ย ใบอังกาบหนู กัญชา และการดื่มน้ำมะนาวโซดามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมะเร็ง และผู้สูงวัยประมาณ 60% เชื่อว่า น้ำกระเทียมคั้นสด น้ำมันกัญชา น้ำขิง น้ำใบมะละกอปั่น มันเทศญี่ปุ่นต้มน้ำขิง สามารถช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้

161977366049

ทั้งนี้ ผศ.ดร.บุหงา ชัยสุวรรณ หัวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม และรองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า ข่าวปลอมเป็นปัญหาที่สำคัญส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด–19 การที่มีความเข้าใจ มีการรู้เท่าทันสื่อ และทักษะในการตรวจสอบข่าวปลอม จะทำให้สามารถผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ด้วยกัน

โครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม จึงได้ทำการวิจัยเพื่อให้ทราบถึงปัญหาข่าวปลอมในประเทศไทย และยังได้พัฒนาระบบอัจฉริยะต้นแบบเพื่อประกอบการตัดสินใจความถูกต้องของข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพ (Fact Checking Intelligent Platform) เช็กให้รู้ ซึ่งเป็นระบบตรวจสอบข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพโดยตรงขึ้นมา เพื่อให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการตรวจสอบข่าวปลอมด้านสุขภาพของคนไทยต่อไป