คนไทย กินอาหารอย่างไร ใน 'ยุคโควิด 19'

คนไทย กินอาหารอย่างไร ใน 'ยุคโควิด 19'

สวนดุสิตโพล สำรวจ "อาหารไทย" ใน "ยุคโควิด-19" พบประชาชนให้ความสำคัญกับอาหารการกินมากขึ้น มีการทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ค่าใช้จ่ายอาหารเพิ่มขึ้นวันละ 226 บาท

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณี อาหารไทยใน "ยุคโควิด-19" กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,192 คน สำรวจวันที่ 26 - 29 เมษายน 2564 พบว่า เมื่อเปรียบเทียบก่อนและเมื่อมีโควิด-19 ระบาด ประชาชนให้ความสำคัญกับอาหารการกินมากขึ้น ร้อยละ 70.94 โดยพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ การทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น ร้อยละ 75.81

โดยเกือบครึ่งเชื่อว่าอาหารไทยต้านโควิด-19 ได้ ร้อยละ 47.53 และเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ร้อยละ 37.90 อาหารที่คิดว่าต้านโควิด-19 ได้ คือ อาหารที่มีสมุนไพร ร้อยละ 55.09 เมนูที่นิยมรับประทานหรือทำกินเองบ่อยที่สุด คือ ผัดกะเพรา ร้อยละ 32.23 รองลงมาคือ ต้มยำ ร้อยละ 24.91 ช่วงโควิด-19 มีค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.42 เฉลี่ยวันละ 226 บาท

161992747871

นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า การเลือกรับประทานอาหารที่คาดว่าน่าจะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้นั้น เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ในระหว่างที่รอการดำเนินการฉีดวัคซีนจากทางภาครัฐ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมา สะท้อนให้เห็นภาพการกินเพื่ออยู่ (รอด) ของประชาชนในยุคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี

ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนพัฒน์ แสงรุ่งเรือง คณบดีโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ตามที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส covid-19 ที่ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ประชากรประเทศไทยยังรวมถึงพลเมืองของโลกทุกคนที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้พร้อมต่อสู้วิกฤตครั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสังคม รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปฏิบัติตนตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดฯอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณที่พอเหมาะและมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย.