กกพ.เล็งคลอดโครงสร้างค่าไฟใหม่ปี65
กกพ. สนองนโยบาย กพช. เตรียมพิจารณากำหนดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย (วิลลิ่งชาร์จ) พร้อมใช้ ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ที่คาดว่าจะเริ่มประกาศในปี 2565 เผยยอดติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2568) ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เบื้องต้น หลักการคำนวนค่าไฟฟ้ายังเป็นไปตามเดิม แต่จะมีเพิ่มเติมในส่วนของการศึกษาและให้มีการกำหนดอัตราค่าบริการสายส่งและจำหน่าย หรือ “วิลลิ่งชาร์จ” ที่เป็นอัตราพร้อมใช้ รวมถึงให้กำหนดปีที่จะเริ่มบังคับใช้ด้วย เพื่อให้สอดรับกับเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เช่น การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เป็นต้น
“ในโครงสร้างค่าไฟใหม่ ก็จะต้องไปดูเรื่องของการผลิตไฟฟ้าใช้เองของภาคประชาชน(Prosumer)และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง (Independent Power Supply: IPS)ที่เข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะโซลาร์รูปท็อปมีเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ที่มาขอจดแจ้งกับ กกพ.”
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ฯ คาดว่า จะมีการเพิ่มเติมรายละเอียดในหลักเกณฑ์ต่างๆที่ชัดเจน ภายในปีนี้ และเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2565
สำหรับมติ กพช.เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2564 ได้เห็นชอบนโยบายการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในระยะ 5 ปีข้างหน้า ปี พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟ เพื่อให้ กกพ. ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม
เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงบริบทของอุตสาหกรรมไฟฟ้า อันเกิดจากนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต และเพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้ามีความเกื้อหนุนต่อการรักษาประสิทธิภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยรวม
โดยการปรับปรุงอัตราค่าไฟฟ้า ต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ ซึ่งคิดจากต้นทุนและผลตอบแทนที่เหมาะสมของแต่ละประเภทใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าแยกออกจากกัน และคำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า โดยเทียบเคียงกับหลักการในการให้บริการเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า เพื่อให้รายรับที่เรียกเก็บจากผู้สร้างความผันผวนต่อระบบไฟฟ้ามีความสมดุลกับค่าใช้จ่าย ในการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้า
และกระจายภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม โดยไม่ควรเป็นการเพิ่มภาระกับผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้บริบทเดิม และโครงสร้างอัตราขายปลีก ได้กำหนดให้มีการอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย โดยให้มีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือบนพื้นฐานระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare)แทนปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว และควรกำหนดให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มอื่นๆ ให้ใกล้เคียงกับต้นทุนหน่วยสุดท้าย (Marginal Cost)